ไม่สนงานออฟฟิศ สนใจปลูกผักไฮโดรฯ เป็นนายตัวเอง รายได้เดือนละ 3 หมื่น
ผู้เขียน | วัชรี ภูรักษา |
---|---|
เผยแพร่ | วันพฤหัสที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2560 |
การทำเกษตรไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความตั้งใจ หากอยากทำจริงๆ การจะปลูกพืชผัก ผลไม้ หรือต้นไม้ อะไรสักอย่าง ไม่เพียงแต่ต้องศึกษาวิธีการปลูกเท่านั้น แต่ต้องศึกษาตลาด ช่องทางการวางจำหน่ายควบคู่ไปด้วย หากจะทำเกษตรเพื่อเป็นรายได้ และสร้างเป็นธุรกิจของตนเอง ก็ต้องลงมือทำ และศึกษาอย่างจริงจัง
คุณชนิดา สมรัชตกุล เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 24 ปี ที่สร้างอาชีพและสร้างเงินจากการปลูกไฮโดรโปนิกส์ เพื่อจำหน่าย แทนการทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ หรือพนักงานประจำ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ วัยเดียวกัน
เธอได้เริ่มต้นเล่าถึง จุดเริ่มต้นที่มาทำฟาร์มปลูกผักว่า “จุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวที่ทำสวนกล้วยไม้อยู่ก่อนแล้ว แต่บังเอิญช่วงนั้นราคาไม่ค่อยดี จึงต้องโละกล้วยไม้ออกจากแปลงไปบ้าง จึงมองหาการทำเกษตรอย่างอื่น บวกกับความสนใจของแฟน (คุณบอม) ที่สนใจการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์พอดี เขาเปิดดูวิธีการปลูกและการเลี้ยงพืชผักแบบไฮโดรโปนิกส์จากยูทูบ สนใจจนถึงขั้นหาฟาร์มที่ทำแบบนี้เพื่อขอเข้าไปดูงาน ดูวิธีการและสวนของคนอื่น ศึกษาอยู่ประมาณ 4-5 เดือน จนตัดสินใจกันว่าเราจะลงทุนทำฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
จากการไปดูงาน ทำให้ได้ไอเดียนำเอาอุปกรณ์จากสวนกล้วยไม้มาประยุกต์ใช้ในการทำแปลงปลูก และลงทุนในต้นแรกด้วยเงินประมาณ 30,000 บาท เพื่อซื้ออุปกรณ์อย่างปั๊มน้ำ เมล็ดพันธุ์ผัก หลอดไฟ มุ้งอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกับปลูก มาเริ่มต้นทำ ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นปลูกผักจนถึงวันนี้ก็ปีครึ่งแล้ว ตลาดการขายผักสด เติบโตขึ้นเรื่อยๆ”
พื้นที่ในบ้านสวนของคุณชนิดา ซึ่งตั้งอยู่แถวอำเภอไทรน้อย เธอได้ทำการแบ่งพื้นที่เพียงครึ่งไร่ แยกออกจากแปลงกล้วยไม้ มาทำเป็นแปลงปลูกผักสลัดแบบไฮโดรโปนิกส์ โดยจัดตั้งแปลง และเรียกว่า “โต๊ะ” ซึ่งเธอได้มีการแบ่งเรียกโต๊ะเหล่านี้ว่า โต๊ะจริง คือโต๊ะที่เป็นแปลงสำหรับเก็บเกี่ยวได้จริง มีจำนวน 21 โต๊ะ, โต๊ะอนุบาล 1 จำนวน 3 โต๊ะ และโต๊ะอนุบาล 2 จำนวน 6 โต๊ะ
“การแบ่งโต๊ะแบ่งส่วน เพื่อการบริหารจัดการได้ง่าย และที่นี่เราจะใช้การปลูกแบบแยกระบบถังน้ำ ซึ่งข้อดีคือ เวลาเกิดปัญหากับผักแปลงใดแปลงหนึ่ง ก็จะเสียแค่แปลงผักนั้นเพียงแปลงเดียวเท่านั้น แปลงผักอื่นๆ ก็ยังอยู่ดี ไม่ได้เกิดปัญหาตามไปด้วย ช่วยให้การควบคุมของผักที่สวนง่ายขึ้น แต่สำหรับฟาร์มของคนอื่นๆ ก็แล้วแต่ว่าใครถนัดวิธีการแบบไหน ก็จะแตกต่างกันไป
สำหรับโต๊ะ ที่เรียกกันนี้ก็คือแปลงปลูกผักนั่นแหละ โดยแปลงปลูกโต๊ะอนุบาล 1 นี้จะได้ใช้หลังจากการหยอดผักได้ต้นอ่อนแล้ว โต๊ะนี้จะใช้เพื่ออนุบาลต้นอ่อน ใช้เวลาอนุบาลในโต๊ะอนุบาล 1 นี้ 15 วัน ก่อนจะย้ายมาสู่โต๊ะอนุบาล 2 ใช้เวลาอีก 15 วัน ก่อนจะมาลงแปลงโต๊ะจริง เพื่อรอเวลาในการเก็บขาย ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 45 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้แล้ว”
ที่ฟาร์มนี้ เน้นปลูกผักสลัด สายพันธุ์กรีนโอ๊กเท่านั้น เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ลูกค้านิยมสั่ง และมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ เพราะที่นี่จะเน้นการปลูกผักตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งมา คุณชนิดา บอก
สำหรับการหาตลาด คุณชนิดา บอกว่า “ใช้วิธีการง่ายๆ เลยก็คือเริ่มต้นถามจากคนรู้จัก ขายเขาก่อน คุยกับเขาเลยว่าสนใจไหม อยากได้ผักแบบไหน เปิดแปลงผักให้คนรู้จักกันดูเลย ใครอยากมาก็สามารถมาหา ถามไถ่ได้โดยตรง เน้นไปที่การพูดคุยและหาลูกค้าโดยตรง
ที่สำคัญคือการซื้อใจเขาเอาไว้ในเรื่องของราคาผักที่ขาย ราคาก็จะเป็นแบบมาตรฐาน ไม่ได้อิงราคาจากตลาดกลางอะไรขนาดนั้น แต่เราจะขายเพื่อซื้อความมั่นใจระหว่างเรากับลูกค้า อย่างการขายผัก ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนที่ซื้อและเงื่อนไขที่ตกลงกันเอาไว้ ราคาขายปลีกก็ขึ้นอยู่กับราคาที่เขาขายกันตามท้องตลาด อย่างช่วงหน้าร้อน ผักสดจะแพงมาก ไปดูตามห้างขายกิโลกรัมละกว่า 180 บาท แต่ผักสลัดที่ฟาร์ม ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาทเท่านั้น รายได้จากการขายผักในพื้นที่บ้าน เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000-30,000 บาท
สำหรับคุณภาพของผักที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ก็จะเป็นผักสด ผักเรียงใบสวย และสามารถมีอายุเก็บได้นาน การเก็บเกี่ยว แล้วนำมาขาย อยู่ในระยะปลอดสารพิษ หรือในระยะปลอดภัย แบบนี้คนจะชอบและนิยมมาก คนปลูกต้องปลูกผักให้ได้แบบนี้ คุณชนิดาบอก พร้อมกับบอกว่า “ปัจจุบันนี้ ติดต่อซื้อขายผักกันผ่านตลาดออนไลน์ ในกลุ่มที่เขาขายผักไฮโดรโปนิกส์กัน ก็ไปโพสต์ขายเอง ส่งเอง ไปตามเส้นทางที่ลูกค้ามีออร์เดอร์เข้ามา และส่งให้กับแม่ค้าเจ้าประจำในตลาด ทั้งเห็นว่าตลาดผักสดเติบโตดีมาก มีคนนิยมปลูก เพราะเป็นรายได้ที่ถือว่าดี และมีผู้บริโภคกันเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่กำลังจะขยายแปลงปลูกผัก โดยการขยายโรงเรือนและแปลงปลูกเพิ่ม เพื่อส่งผักสดไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท ซึ่งมาติดต่อกับพ่อค้าแม่ค้าเอาไว้บ้างแล้ว”
ถ้าหากใครที่สนใจ อยากจะเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์ม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ก็จะสามารถเข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Porsche Hydro Farm ที่อยู่ เลขที่ 8/3 หมู่ 8 ถนนเลียบคลองวัดขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150 หรือโทรศัพท์ได้ที่ (083) 611-5218