เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด เขตจตุจักร เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนา “อนาคตเกษตรไทยในยุคดิจิทัล” เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรในยุคที่การตลาดออนไลน์มีการแข่งขันการใช้สื่อโซเชียลมีเดียสูง เพื่อเป็นช่องทางตลาดให้กับเกษตรกรไทย และยังเป็นแนวทางการผลิตสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรที่ต้องการขยายพื้นที่ตลาด
โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “อนาคตเกษตรไทยในยุคดิจิทัล” สรุปว่า บทบาทภาคการเกษตรอยู่กับชีวิตของคนไทยและของทั้งโลก แม้ว่ามูลค่า GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 8.5 แต่ภาคการเกษตรจัดเป็นต้นน้ำที่นำไปต่อยอดด้านอื่นๆ
นายไชยา กล่าวต่อว่า หนึ่งในนโยบายรัฐบาลชุดนี้ ได้ให้สัญญาประชาคมเอาไว้ 3 ประการ คือ 1.ตลาดนำ 2. นวัตกรรมเสริม และ 3.เพิ่มรายได้ โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าทิศทางการผลิตของเกษตรกรยังคงแบบดั้งเดิม คือ ใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ มีแรงงานถึง 50% เน้นปริมาณ โดยมีความเชื่อว่าจะขายได้ แต่ไม่มีการวางแผน ถือเป็นทิศทางที่ผิด จากนี้จะใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมไม่ได้ รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การผลิตในอนาคตใช้ตลาดนำการผลิต
นายไชยา กล่าวต่อว่า ถ้าเราใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เมื่อเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง จากเดิมที่ต้องใช้งบประมาณชดเชยจำนวนมากให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาวางแผนแก้ปัญหา จะทำให้เราสามารถตัดสินใจดำเนินการเพื่อเอาชนะธรรมชาติได้ อาทิ กรมการข้าว คิดค้นวิจัยพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำขึ้นมา แล้วนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่น้ำท่วม เป็นการเตรียมตัวเพื่อเอาชนะการเปลี่ยนแปลง
“ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรต่อไปต้องใช้ตลาดนำ วิเคราะห์ตลาดให้ได้ เทรนต์ของโลก ผู้บริโภคเป็นอย่างไร วันนี้กำลังวางแผนร่วมกับผู้บริหารมติชน ว่าจะทำจ.หนองบัวลำภู จังหวัดเล็กๆทางภาคอีสาน ให้เป็นหนองบัวลำภูโมเดล ทำให้เป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรคุณภาพ เกษตรอินทรีย์ ผักปลอดสาร ผักออแกนิก ขายตลาดบน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่รักสุขภาพ ผักกลุ่มนี้จะขายหมดก่อน
“ด้านการใช้นวัตกรรมเข้ามาเสริมการผลิต ปัจจุบันหน้ากระทรวงเกษตรฯมีม็อบมาเรียกร้อง ทั้งเรื่องราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และเรื่องการรับภาระต้นทุนไม่ไหว ตรงนี้เราจะต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาวิเคราะห์ เพื่อหาสิ่งทดแทน อาทิ การวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตรงนี้กระทรวงเกษตรฯต้องเข้าไปบริหารจัดการ นอกจากนี้เห็นว่าฐานข้อมูลดิจิทัลต่างๆที่เชื่อมโยงกันในภาคการเกษตร มีความจำเป็นเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนท้าทายอนาคตการเกษตรของไทย”นายไชยากล่าว