หนังสือ “บันทึก นึกอร่อย”
มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “บันทึก นึกอร่อย”
ตำราอาหารของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ‘ต้นเครื่องในหลวงรัชกาลที่ 9’
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิ
ชัยพัฒนา เป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “บันทึก นึกอร่อย” ตำราอาหารจากประสบการณ์และ
การจดบันทึกของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ‘ต้นเครื่องในหลวงรัชกาลที่ 9’ ที่ได้รับการรวบรวมจัดพิมพ์และนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรก ณ บ้านสุริยาศัย ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำตำราอาหารของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล มารดาของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อรักษาคุณค่าทางภูมิปัญญาของอาหารไทยซึ่งนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน อีกทั้งสูตรอาหารแบบดั้งเดิมนับวันได้ถูกปรับเปลี่ยนไปมากตามยุคสมัยและทรงเกรงว่าจะสูญหาย การจัดทำหนังสือชุดนี้จะได้นำเสนอเรื่องราวรวมถึงสูตรการทำอาหารและเกร็ดความรู้อันทรงคุณค่า โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำนิยมและพระราชทานชื่อหนังสือว่า “บันทึก นึกอร่อย”
ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ได้เคยถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะต้นเครื่องไทยใน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทำหน้าที่จัดเตรียม
พระกระยาหารไทย ประจำพระตำหนักจิตรลดารโหฐานยาวนานกว่า 40 ปี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เคยรับสั่งถึง
ท่านผู้หญิงประสานสุข ความตอนหนึ่งว่า
“…คุณแม่ของคุณสุเมธ คือท่านผู้หญิงประสานสุข รู้จักกับคนในวังดี เช่นท่านผู้หญิงเจือทอง หรือท่านผู้หญิงมณีรัตน์ และทุกคนก็ทราบว่าคุณหญิงประสานสุขเป็นคนที่มีความสามารถในการปรุงอาหาร ตอนนั้นหัวหน้าห้องเครื่อง ซึ่งสมัยนั้นคุณหญิงติ๋วก็ถึงแก่กรรมไป ทุกคนก็เชิญคุณหญิงประสานสุข ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอาหารแบบในวังได้ดี แต่ท่านก็มา … ท่านผู้หญิงก็ตั้งใจศึกษา ซึ่งรวบรวมตำราอาหารเขียนไว้มากมาย ทั้งของตัวเองและไปศึกษาทางวังต่างๆ …”
ท่านผู้หญิงประสานสุข ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเรียนทำอาหารจากวังราชสกุลต่างๆ เช่น
วังสระปทุม วังวรดิศ ฯลฯ รวมทั้งศึกษาจากตำราของผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลด้านการทำอาหาร เช่น หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และสูตรอาหารที่คิดค้นด้วยตนเอง
อีกทั้งช่วงระยะเวลาแห่งการถวายงานในฐานะต้นเครื่องไทยนั้น ท่านผู้หญิงประสานสุขได้รวบรวมตำราทำอาหารต่างๆ ทั้งคาวและหวาน โดยเขียนด้วยลายมือตนเองเก็บรวบรวมไว้ รวมถึงหนังสือและตำราอาหารที่สำคัญอีกหลายเล่ม ซึ่งล้วนเป็นตำราอาหารที่หาไม่ได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ได้เขียนบันทึกตารางตั้งพระกระยาหารและเครื่องเสวยต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ นั้น โปรดเสวย
พระกระยาหารไทยที่เรียบง่ายเหมือนบุคคลทั่วไป แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
รูปแบบหนังสือที่จัดทำนี้ ได้จัดวางรูปเล่มเสมือนสมุดบันทึกของท่านผู้หญิงประสานสุข ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวและสูตรพระกระยาหาร รวมถึงสูตรอาหารอื่นๆ โดยจัดทำเป็นชุดหนังสือบรรจุในกล่องกระดาษแข็งจัดทำพิเศษ ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 4 เล่ม แบ่งตามประเภทของอาหาร ดังนี้
เล่ม 1 “กับข้าว กับปลา” นำเสนอวัฒนธรรมอาหารชาววัง เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับอาหารชาววัง
ความเชื่อมโยงและการประยุกต์กับวัตถุดิบท้องถิ่น สอดแทรกเกร็ดความรู้และเคล็ดลับตามที่ท่านผู้หญิงประสานสุขบันทึกไว้
เล่ม 2 “ต้มยำ ทำแกง” เรื่องราวของแกง ต้มยำ และยำต่างๆ ที่เป็นดั่งงานศิลป์ ในการผสมผสานสมุนไพรไทยหลากหลายชนิดได้เป็นเมนูอาหารที่มีรสชาติอันวิจิตร
เล่ม 3 “จานข้าว จานเส้น” สูตรอาหารจานเดียว ทั้งของไทย จีน ฝรั่ง เรื่องราวข้าวผัดไกลกังวล และเรื่องเล่าของเมนูขนมจีนกับน้ำยาต่างๆ
เล่ม 4 “ของว่าง ของหวาน” เทคนิคการปรุงของหวานทั้งตำรับไทยและต่างชาติ สอดแทรกประวัติ
ความเป็นมาที่น่าประทับใจ
ในการนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือ โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหา และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ถ่ายภาพประกอบหนังสือ รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
หนังสือ “บันทึก นึกอร่อย” จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ในราคาชุดละ 1,500 บาท โดยจำหน่ายผ่าน – สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร. 02 447 8585 – 8 ต่อ 103
– ร้านภัทรพัฒน์ทุกสาขาและช่องทางออนไลน์
– ร้านนายอินทร์
– ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ (SE-ED Book Center)
– บีทูเอส (B2S)
– คิโนะคูนิยะ (Kinokuniya)
– เอเซียบุ๊คส (Asia Books)
ทั้งนี้ หากสั่งซื้อจำนวน 200 ชุดขึ้นไป สามารถจัดพิมพ์โลโก้หรือชื่อของหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มธุรกิจบนกล่องหนังสือได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร. 02 447 8585 – 8 ต่อ 103