สาวพะเยาอำลางานออฟฟิศที่กรุงเทพฯ ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกชาเก๊กฮวย-สตรอเบอรี่มีความสุข

Content พาเพลิน

สาวพะเยาอำลางานออฟฟิศที่กรุงเทพฯ ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกชาเก๊กฮวย-สตรอเบอรี่มีความสุข

alt

วันที่ 20 ธันวาคม หญิงสาว อ.จุน จ.พะเยา ตัดสินใจลาออกจากงานออฟฟิศในกรุงเทพมหานคร กลับบ้านมาอยู่ที่ อ.จุน จ.พะเยา บ้านเกิดเมื่อปี 2558 เพื่อดูแลพ่อแม่และทำเกษตรอินทรีย์ในครัวเรือนเพื่อสุขภาพ ทำชาเก็กฮวยและแปลงสาธิตสตรอเบอรี่อินทรีย์ในครัวเรือนให้ประชาชนได้ศึกษา เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก เนื่องจากปลูกง่ายไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ที่สำคัญไม่ต้องใช้สารเคมีให้มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

น.ส.ชนม์นิภา ไข่ทา หรือจ๋า อายุ 33 ปี เปิดเผยว่า ตนจบการศึกษาสาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กรุงเทพมหานคร และเริ่มทำงานออฟฟิศเมื่อปี 2549 รับเงินเดือนๆ ละ 25,000 บาท จนกระทั่งปี 2558 ตัดสินใจลาออกจากงานเพราะรู้ว่างานไม่เหมาะสมกับตนเอง แม้ว่าจะมีเงินเดือนสูง แต่ไม่ใช่ตัวตนของเรา ประกอบกับแม่ต้องการให้กลับมาอยู่ที่บ้าน อ.จุน เพราะอยากให้กลับบ้าน จึงไม่ลังเล ตัดสินใจลาออกจากงานสำนักงานแล้วกลับมาอยู่บ้าน ขณะเดียวกันก็สนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากที่บ้านมีพื้นที่ว่างเหมาะที่จะปลูกผักสวนครัวไว้ทานในครอบครัวได้ด้วย

น.ส.ชนม์นิภากล่าวต่อว่า ปัจจุบันทุกคนใส่ใจเรื่องสุขภาพกันอย่างมาก ประกอบกับตนสนใจเรื่องเก๊กฮวยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนำดอกเก็กฮวยมาแปรรูปทำชาเพื่อสุขภาพ โดยเก็กฮวยของ ม.แม่โจ้นั้น เป็นการปลูกแบบปลอดภัยไม่มีสารเคมี 100% ซึ่งเป็นการทำโครงการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับประชาชนที่สนใจ โดยทางมหาวิทยาลัยฯจะช่วยเป็นที่ปรึกษาแนะนำการปลูกเก็กฮวยที่ปลอดภัยให้ จากนั้นนำดอกเก็กฮวยมาทำเป็นชา ซึ่งตนได้รับชาดอกเก็กฮวยดังกล่าวมาทำเป็นเครื่องดื่มในครัวเรือนและทำบรรจุภัณฑ์ขายให้กับผู้ที่สนใจดื่มชาเพื่อสุขภาพ

201612201440381-20021028190242-768x658

น.ส.ชนม์นิภากล่าวอีกว่า นอกจากทำชาดอกเก็กฮวยแล้ว ตนยังได้นำต้นพันธุ์ดอกเก็กฮวยมาลองปลูกในสวนหลังบ้านเพื่อเตรียมขยายแปลง หากปลูกได้ผลดีตั้งใจจะเผยแพร่ให้กับเพื่อนบ้านได้ปลูกเพื่อใช้ในครอบครัวด้วย และตนยังทดลองปลูกสตรอเบอรี่ปลอดสาร 100% โดยใช้วิธีการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพื่อพิสูจน์ว่าสตรอเบอรี่สามารถปลูกได้ในพื้นราบและในบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งแปลงปลูกสตรอเบอรี่ตนได้ยกแปลงเหมือนแปลงผักสวนครัวทั่วไป แล้วนำฟางข้าวมาปูปิดหน้าดิน โดยไม่ใช้พลาสติกสีดำคลุม ใช้วัสดุธรรมชาติจากในพื้นที่ ส่วนผสมของดินที่ปลูกใช้มูลของไส้เดือนดินและน้ำหมักชีวภาพ ยืนยันได้ว่าทุกอย่างปลอดภัยไม่มีสารเคมี ซึ่งได้ปลูกมาสองปีแล้ว ทำให้คนที่เห็นและผ่านไปมาแวะชมแปลงปลูก ชิมผลสตรอเบอรี่ได้อย่างมั่นใจ บางรายก็มาขอต้นพันธุ์สตรอเบอรี่ไปปลูก

201612201440382-20021028190242-768x511

“เมื่อได้กลับมาอยู่บ้านแล้วทำเกษตรอินทรีย์ในครัวเรือน รู้ว่าตัวเองมีความสุขมาก นอกจากได้กลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่แล้ว ยังได้ทำในสิ่งที่มีความสุข เป็นตัวของตัวเอง นอกจากเพื่อสุขภาพแล้วยังมีรายได้จากการขายต้นพันธุ์สตรอเบอรี่ต้นละ 10-20 บาท และชาดอกเก็กฮวยด้วย จึงทำให้มีความสุขอย่างมาก”  น.ส.ชนม์นิภากล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์