ธนาคารซีไอเอ็มบี เข้มปล้อยกู้ลูกค้าอาชีพอิสระ ทำยอดอนุมัติสินเชื่อกลุ่มนี้ฮวบ10%

Business ธุรกิจ

CIMBT เข้มปล่อยกู้ลูกค้าอาชีพอิสระ หวั่นเสี่ยงภาวะรายได้ไม่แน่นอน ส่งผลยอดอนุมัติกลุ่มนี้ฮวบกว่า 10% เผย 3 เดือนปล่อยกู้ใหม่กว่า 2 พันล้าน ปักหมุดปีนี้ปล่อยสินเชื่อบ้าน 1.8 หมื่นล้าน โล่งหนี้เอ็นพีแอลคุมอยู่ราว 3%

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารมีความเข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างผันผวน หรือความไม่แน่นอนตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างยาก โดยที่ผ่านมายอดอนุมัติสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวอยู่ระดับต่ำเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มรายย่อยอื่น ๆ มีอัตราอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 60-70%

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างของลูกค้ากลุ่มอาชีพอิสระอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท 10% ของพอร์ตสินเชื่อรายร่อยรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

“ไม่ใช่ เพราะธนาคารไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มนี้ แต่ที่ผ่านมาลูกค้าไม่ผ่านเกณฑ์ของธนาคาร ยอดแอปพรูฟของกลุ่มนี้ผ่านแค่ 10% เท่านั้น ลูกค้ารถยนต์ มอเตอร์ไซค์ที่ไม่มีรายได้ประจำกลุ่มนี้ก็ปล่อยอยู่ แต่สินเชื่อบ้านไม่ได้ปล่อยเลย เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอนทำให้ประเมินออกมาแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ธนาคาร แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าสินเชื่อประเภทไหนต้องเข้ม เพราะเดี๋ยวจะตัดโอกาสลูกค้าเกินไป ท้ายที่สุดจะอยู่ที่วินัยในการชำระ และโปรไฟล์ (ประวัติ) เป็นหลัก” นายอดิศรกล่าว

สำหรับการปล่อยสิน เชื่อรวมของธนาคารในช่วงเกือบ 3 เดือนแรกของปี 2561 พบว่าปัจจุบันมียอดสินเชื่อใหม่กว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเริ่มเห็นสินเชื่อหลายหมวดที่เริ่มขยายตัวได้ดี เช่นสินเชื่อบ้าน ขณะที่สินเชื่อบุคคลมียอดอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่เดือนละ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ นำโดยสินเชื่อบ้านราว 18,000 ล้านบาท จากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อคงค้างดังกล่าวอยู่ที่กว่า 70,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยพอร์ตคงค้างอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท

นายอดิศรกล่าวถึงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของลูกค้ารายย่อยของ CIMBT ว่า ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3% ต้น ๆ ของสินเชื่อรวม ซึ่งลดลงต่อเนื่อง จากปลายปีก่อนที่อยู่เกือบระดับ 4% ซึ่งเป็นผลจากธนาคารได้ปรับพอร์ตสินเชื่อ โดยมุ่งไปกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังมากขึ้น เช่นกลุ่มเงินเดือนสูงเกิน 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ส่งผลให้พอร์ตมีคุณภาพดีขึ้น

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 5 เมษายน 2561