สบช่องรวย! ธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยโตพุ่ง 4 แสนล้าน ฮิตเปิดร้าน“กาแฟ-ส้มตำ”

Business ธุรกิจ

มูลค่าตลาดร้านอาหารในเมืองไทย 400,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตทุก ๆ ปีจากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเพิ่มขึ้น

 

“ณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ (CRG) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (food chain industry) ทั้ง 11 แบรนด์ เช่น เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท เปปเปอร์ลันช์ เป็นต้น กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในไทยมีการแข่งขันสูง มีรายเก่ารายใหม่เข้ามาต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โตเฉลี่ย 3-5% ทุกปี ทั้งนี้หากแบ่งย่อยแต่ละกลุ่มร้านอาหารจะพบว่า ร้านกาแฟมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ด้วยจำนวนสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีมูลค่าตลาดสูงสุดหรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ร้านอาหารประเภทฮอตพอต 19,000 ล้านบาท ร้านอาหารจานด่วนประเภทไก่ 18,700 ล้านบาท อาหารญี่ปุ่น 18,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดร้านอาหารประเภทส้มตำก็มีมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท ถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่ดี ต่อด้วยเบอร์เกอร์ 9,000 ล้านบาท อาหารตะวันตก 9,000 ล้านบาท พิซซ่า 8,200 ล้านบาท เบเกอรี่ 8,100 ล้านบาท อาหารไทย 8,000 ล้านบาท ไอศกรีม 7,700 ล้านบาท ปิ้งย่าง 6,200 ล้านบาท โดนัท 3,600 ล้านบาท อาหารจีน 3,000 ล้านบาท อาหารเกาหลี 2,000 ล้านบาท และอาหารเวียดนาม 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบันกลุ่ม “ซีอาร์จี” ของบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ (CRG) บริหารธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (food chain industry) 11 แบรนด์ เช่น เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท เปปเปอร์ลันช์ เป็นต้น “ณัฐ” ฉายภาพว่า บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาแบรนด์ใหม่พร้อมเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ในการทานอาหารนอกบ้านให้แก่ผู้บริโภคควบคู่กันไป ด้วยการแตกโมเดล แตกคอนเซ็ปต์ใหม่

ล่าสุดเตรียมเปิดตัวโมเดล “food heaven” เป็นการรวมร้านอาหารญี่ปุ่น 3 แบรนด์จาก 5 แบรนด์ในเครือเข้าไว้ในพื้นที่เดียว ในรูปแบบกึ่งบริการตนเอง (self service) คือ ลูกค้าเป็น

ผู้สั่งอาหารและรับอาหารด้วยตัวเอง ซึ่งจะเปิดสาขาแรกที่เทสโก้ โลตัส ปากทางถนนไทรน้อย-บางบัวทอง

อย่างไร ก็ตาม ตลาดร้านอาหารถือเป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันหมุนเวียนกันเข้าออกอยู่ตลอดเวลา เพราะมีการเติบโตต่อเนื่องทุก ๆ ปี เรียกว่าเป็นโอกาสใหญ่ของผู้เล่นรายใหม่ ๆ แต่ที่สำคัญต้องจับเทรนด์ และเปลี่ยนให้ทันกับไลฟ์สไตล์ของนักกินอาหารนอกบ้านที่เปลี่ยนเร็วด้วย

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ