“กัลบก” อาชีพสงวนของคนไทยถือเป็นธุรกิจพื้นฐาน มีความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอด แต่หากมองย้อนกลับไปก็จะพบว่า ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่มีธุรกิจทำผม ธุรกิจนี้แทบจะไม่มีการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีเลย อย่างมากก็แค่จองจากวีแชตแล้วรีบวิ่งแจ้นมาตัดที่ร้าน
ว่าแล้วก็ลองดูสิว่า คนมีหัวธุรกิจอย่างคนจีนจะมีวิถีการพลิกแพลงอัพเกรดอย่างไรให้ธุรกิจบาร์เบอร์และซาลอนมีสีสันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการปฏิวัติวงการร้านตัดผมจีนให้เข้าสู่ยุค 4.0 ก็คือ “หนานกวาเชอ” ฟังแล้วแล้วก็ทั้งงง และอดขำไม่ได้ แต่หากได้เห็นตัวจีนแล้วก็จะร้องอ๋อ เพราะมันแปลว่า “รถฟักทอง” เหมือนโลโก้บริษัท อันเป็นการเปรียบเทียบว่า ลูกค้าทุกคนหลังออกจากร้านจะสวยหล่อ พร้อมขึ้นรถฟักทองแบบซินเดอเรลล่าไปหาคนในฝันนั่นเอง
ผู้เขียนได้ติดตาม “หนานกวาเชอ” อยู่พักใหญ่ พบว่าแนวคิดการทำธุรกิจเหาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับใช้กับเมืองไทย เพราะไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการคิดใหม่ ทำใหม่
คิดข้อแรก คือ การคิดแบบเข้าใจปัญหาของลูกค้า เพราะไม่ว่าจะคนจีนหรือคนไทย ลูกค้าย่อมไม่ตัดสินใจเข้าร้านตัดผมหากตัวเองไม่คุ้นเคยอันเนื่องมาจากเหตุผลพื้นๆ อาทิ ไม่เชื่อใจช่าง กลัวออกมาไม่สวย ไม่เหมือนทรงเดิม และเบื่อที่ต้องฟังช่างชวนให้ซื้อคอร์สเพื่อจะได้มาเป็นลูกค้ายาวๆ
วิธีการแก้ปัญหาของหนานกวาเชอ ก็คือ ทำสิ่งใหม่ๆด้วยการบริการของตนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ให้เหมาะกับการเป็นร้านตัดผมจีนยุค 4.0 อาทิ การสร้างแอพฯ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับคนชอบความสวยความงาม คนที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าจึงสามารถเห็นผลการตัด ดัด ย้อมสี ไฮไลต์ ของช่างคนดังในแต่ละเมืองจากภาพที่เพิ่งโพสต์ใหม่ๆ
นอกจากนั้นยังสามารถอ่านรีวิวของลูกค้าและดูเรตติ้งคะแนนของช่างแต่ละคนได้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่มาตรงเวลาก็จะได้ตัดผมทันใจ เพราะจองคิวไว้แล้ว อีกทั้งไม่มีการโฆษณาขายคอร์ส หรือสินค้าใดๆ อย่างแน่นอน
ส่วนช่างตัดผมก็จะมีแอพฯ สำหรับเรียกลูกค้าพร้อมระบบจองคิวให้เสร็จสรรพ ทำให้ไม่ต้องเดินไปเปิดสมุดคิวหรือโกงคิวกันระหว่างช่างด้วยกันเอง ทั้งหมดนี้ ทำให้ช่างตัดผมที่ปกติเต็มไปด้วยอารมณ์ศิลปินจะสามารถโฟกัสเฉพาะกับงานฝีมือของตนโดยไม่ต้องปวดหัวกับการบริหารจัดการใดๆอีก
ส่วนในโลกออฟไลน์ ทีมงานเลือกทั้งแบบเปิดร้านค้าของตัวเองในย่านใจกลางธุรกิจ แต่เลือกที่จะเปิดบนตึกออฟฟิศ แทนที่จะเปิดหน้าร้านที่ชั้นหนึ่ง เพื่อลดต้นทุนค่าพื้นที่และขยายพื้นที่ได้ใหญ่มากขึ้น รองรับลูกค้าที่มากขึ้น โดยช่างที่สมัครมาเป็นช่างประจำของร้านจะมีค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่ต้องให้กับทางแอพฯ เดือนละ 25,000 บาท รวมถึงเงินอื่นๆ ที่ได้จากแอพฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายนี้ช่างก็จะได้รับไปเต็มๆ (ฟังดูแล้วไม่ต่างจากคนขับแท็กซี่ของแกร็บแต่อย่างใด)
จากการสัมภาษณ์ช่างฝีมือดีหลายคนบอกว่า การร่ววมกับหนานกว่าเชอนั้น ดีกว่าการเปิดร้านของตัวเอง เรพาะไม่ต้องหาลูกน้อง ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าน้ำค่าไฟ แค่เอาใจลูกค้าจนเรตติ้งดี วันๆก็จะมีลูกค้าจองคิวมาตัดกันเพียบ ยิ่งขยัน ยิ่งตัดถูกใจ ยิ่งมีรายได้มาก แถมยังเปิดโอกาสให้คนที่เป็นเจ้าของร้านเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์รับตัดผมจากลูกค้า ผ่านการเห็นผลงานการตัดจากแอพฯหนานกวาเชอได้อีกด้วย
ผู้ก่อตั้งธุรกิจหนานกวาเชอเป็นซีอีโอสาวอายุเพียง 30 ต้นๆ ผ่านการทำงานในบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของจีนมาก่อน เธอเหตุผลที่มาปฏิวัติธุรกิจประเภทนี้ว่า โดยเฉลี่ยผู้ชายตัดผมเดือนละครั้ง ส่วนผู้หญิงนอกจากจะตัดผมแล้ว ยังมีอบ สระ ไดร์ ทำสี เพราะฉะนั้น ธุรกิจเสริมสวยจึงเป็นธุรกิจที่ควรค่าแก่การลงทุน
ปัจจุบันมีร้านจตัดผมชื่อ “หนานกวาเชอ” เปิดให้ทำการกว่า 30 ร้านค้าในหัวโจว และเซี่ยงไฮ้
Source เหินห่าว Business อยากเก่งธุรกิจต้องคิดอย่างจีน โดย วรมน ดำรงศิลป์สกุล สนพ.มติชน