ภูมิปัญญาชาวบ้านใช้เศษไม้ไผ่เหลือใช้ ประดิษฐ์เป็นถ้วยใส่กาแฟร้อนเย็น รวมทั้งทำเป็นแก้วน้ำดื่ม ลดการใช้แก้วพลาสติก พร้อมช่วยลดขยะตกค้างย่อยสลายยาก จนกลายเป็นปัญหาในการกำจัดอยู่ในขณะนี้
ตำบลบุ่งหวาย อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ โดยชาวบ้านในตำบลนี้คุ้นเคยกับการนำไม้ไผ่มาผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทั้งโต๊ะกินข้าว เก้าอี้ไม้ไผ่ แคร่ไม้ไผ่ใช้นอน จนเป็นที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของผู้ต้องการได้เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงมาสั่งซื้อไปใช้มานานหลายสิบปี
ทำให้แต่ละปี มีเศษไม้ไผ่ที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์จำหน่ายถูกทิ้ง และนำไปทำเป็นถ่านจากไม้ไผ่ แต่เนื่องจากเนื้อไม้ของไม้ไผ่มีความเปราะบาง เนื้อไม่แน่นเท่ากับไม้ชนิดที่นำไปทำเป็นถ่าน ถ่านไม้ไผ่จึงไม่เป็นที่นิยมของตลาดเท่าไรนัก
กระทั่ง คุณไพร ดาวประสงค์ อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านวังยางนอก ตำบลบุ่งหวาย คิดนำเอาเศษไม้ไผ่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถูกผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ทิ้งมาสร้างมูลค่า โดยประดิษฐ์เป็นถ้วยกาแฟร้อน-เย็น รวมทั้งแก้วน้ำใช้ดื่ม แทนการใช้แก้วพลาสติก หรือแก้วกระเบื้องที่มีราคาแพงขึ้นทุกวัน เพราะราคาถ้วยกาแฟจากไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่มีราคาเพียงแก้วละ 20 บาทเท่านั้น
คุณไพร เล่าว่า จากที่เห็นเศษไม้ไผ่ที่ถูกตัด เพื่อนำเอาบางส่วนไปใช้ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว ทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ เมื่อมีจำนวนมากขึ้น เจ้าของก็นำเศษไม้ไผ่ไปเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ และบางรายก็เอาไปเผาทำเป็นถ่านเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะเนื้อไม้ไผ่ให้ความร้อนได้ไม่ดี สู้ถ่านที่ทำจากไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ไม่ได้
รวมทั้งขณะนี้ อำเภอมีการรณรงค์ลดการใช้แก้วพลาสติก กล่องโฟม ซึ่งเป็นวัสดุย่อยสลายยากเป็นปัญหาด้านการทำลายทิ้งหลังการใช้งานแล้ว จนมีขยะตกค้างเหลือจากการใช้งานจำนวนมากขึ้นทุกวัน
จึงไปขอเอาเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์นำมาทดลองประดิษฐ์เป็นแก้วกินน้ำ เป็นถ้วยกาแฟ เหมือนคนในอดีตนำมาใช้ประโยชน์ โดยไม้ไผ่ที่นำมาใช้ประดิษฐ์ต้องมีอายุระหว่าง 1-3 ปี เพราะเริ่มแก่ได้ที่ มีความแข็งแรงทนทานในการใช้งานได้ดี
โดยนำเศษไม้ไผ่มาตัดให้สูงจากปล้องประมาณ 3-4 นิ้ว แล้วนำมาลบคมของไม้ไผ่บริเวณปากแก้วใช้ดื่ม แต่งบริเวณฐานของตัวแก้วให้มีความมั่นคงในการใช้งาน กรีดเนื้อไม้ด้านข้าง ทำเป็นหูจับแก้ว แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการทำลวดลายลงบนเนื้อแก้ว เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาการทำลวดลาย เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก้วจากไม้ไผ่ได้รับความนิยม โดยราคาขายปัจจุบันคือ แก้วละ 20 บาท
คุณไพร เล่าต่อว่า นอกจากทำแก้วน้ำ ถ้วยใส่กาแฟแล้ว ยังนำเศษกะลามะพร้าว ซึ่งชาวบ้านนำเนื้อไปคั้นเป็นน้ำกะทิ หรือขายเป็นน้ำมะพร้าว มาประดิษฐ์เป็นแก้วใส่น้ำ โดยมีการขัดเปลือกกะลามะพร้าวให้ดูสวยงาม แต่สำหรับแก้วจากไม้ไผ่ ซึ่งเพิ่งเริ่มทำมาได้ประมาณ 1 ปี ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอและองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย เพื่อสร้างลวดลายให้น่าใช้งานยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีกำลังผลิตแก้วไม้ไผ่ได้วันละ 50 ใบ ซึ่งนำไปวางขายตามร้านจำหน่ายเครื่องเฟอร์นิเจอร์ริมถนนวารินชำราบ-กันทรารมย์
อนาคตจะนำไปวางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอ เพื่อให้เป็นสินค้าของฝากจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอท็อปด้วย
ด้าน คุณฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเดินทางมาดูการผลิตแก้วน้ำ ถ้วยใส่กาแฟของคุณไพร กล่าวว่า อำเภอวารินชำราบ ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านพัฒนาชุมชนทำการต่อยอดพัฒนาคุณภาพแก้วไม้ไผ่เพื่อเพิ่มลวดลายให้มีความสวยงาม มีความประณีต พร้อมหาตลาดวางจำหน่ายสินค้าของคุณไพร เนื่องจากเป็นสินค้าย้อนยุค เป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาสร้างมูลค่า เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีแก้วน้ำที่คนรุ่นก่อนเคยนำมาใช้ จะได้ทราบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตสู่ปัจจุบัน
สำหรับผู้ที่สนใจนำผลิตภัณฑ์แก้วกาแฟไม้ไผ่ไปจำหน่าย หรือต้องการทราบกระบวนการประดิษฐ์แก้วไม้ไผ่ ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณไพร ดาวประสงค์ ผู้ใหญ่บ้านวังยางนอก ตำบลบุ่งหวาย โทร. (086) 041-1299 ยินดีให้คำปรึกษา เพื่อช่วยกันลดการใช้พลาสติก หันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์
โดย พงษ์สันต์ เตชะเสน