“มะระชีสเค้ก-ผักโขมฟักทอง” ไอศกรีมโฮมเมดรสชาติใหม่ที่อยากให้ลอง!

Business ธุรกิจ

“Jinta Homemade Icecream” คือแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดที่ผลิตจากผัก ได้รสชาติแปลกใหม่ อย่าง คะน้าสะระแหน่ ผักโขมฟักทอง และผลไม้ท้องถิ่นหาทานยากที่ใช่ว่าจะมีให้ลิ้มรสตลอดปี อย่าง มะเกี๋ยง ตะลิงปลิง เป็นต้น

นอกจากอร่อยแล้ว ไอศกรีมแบรนด์นี้ยังใส่ใจสุขภาพลูกค้า เพราะใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรตัวจริง ทั้งหมดที่ว่ามานี้ มาจากไอเดียของ คุณหนุ่ม–เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล วัย 40 ปี

ในอดีตคุณหนุ่มเคยทำงานเป็นเซลส์ด้านโลจิสติกส์นาน 10 ปี กระทั่งภรรยาตั้งท้องลูกคนแรก ช่วงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ว่าที่คุณพ่ออยากหารายได้เสริม ด้วยการทำธุรกิจเล็กๆ จากความชอบ นั่นคือ ไอศกรีม ไปลงเรียนจริงจัง จนได้วิชาความรู้มาผลิตไอศกรีมโฮมเมด

แบรนด์ไอศกรีมจากผักและผลไม้ถิ่น

ในช่วงแรก คุณหนุ่มผลิตไอศกรีมรสชาติทั่วไป เช่น วานิลลา ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี่ ฯลฯ กระทั่ง 2-3 ปีก่อน เขามีโอกาสไปออกร้านที่ตลาดนัดออร์แกนิก ได้เจอเพื่อนใหม่เป็นเกษตรกรที่นำผลผลิตมาขายมากมาย จนได้ไอเดียใหม่ นำผักและผลไม้มาผลิตไอศกรีม

“ผลผลิตที่เพื่อนๆ เกษตรกรนำมาจำหน่ายมีแต่ของดี ของคุณภาพ ผักผลไม้ ไม่เหมือนกับที่ซื้อในตลาด นำมาทำไอศกรีมน่าจะดีกว่าวัตถุดิบจากที่อื่นซึ่งไม่รู้แหล่งที่มา รสชาติแรกที่เริ่มทำคือ เสาวรส ตามด้วยผลไม้หาง่าย เช่น มะม่วง น้อยหน่า กล้วย และผลไม้ถิ่นหายาก อย่าง ตะลิงปลิง มะม่วงหาวมะนาวโห่ ฯลฯ”

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อปีก่อน คุณหนุ่มยังต่อยอด นำผักมาทำไอศกรีมอีกด้วย

“บ้านเรามีเกษตรกรปลูกผักจำนวนมาก แต่เหี่ยวเร็ว เพราะไม่ใส่สารเคมี เลยอยากเป็นส่วนหนึ่งช่วยเกษตรกรกระจายสินค้า จากการออกตลาดสีเขียวผมจะรู้ว่าเกษตรกรคนไหนปลูกอะไรดี จะติดต่อจนรู้ว่าฤดูไหนเขามีผลผลิตอะไรมา สมมติกระเจี๊ยบออก เขาจะมาถามเราแล้วว่าสนใจไหม ของที่ได้มาจะสดใหม่มีคุณภาพ” คุณหนุ่ม เล่า

นอกจากผักและผลไม้แบบอินทรีย์แล้ว ในส่วนของนมที่ใช้ทำไอศกรีม คุณหนุ่มยังใช้นมออร์แกนิก เลี้ยงโดยเกษตรกร เมื่อนำมารวมกับวัตถุดิบหลักแล้ว ทำให้ไอศกรีมแบรนด์จินตะ โฮมเมด ไอศกรีม กลายเป็นไอศกรีมที่ใส่ใจสุขภาพของลูกค้าโดยแท้จริง

ผลิตยาก บางรสชาติไม่ได้มีให้กินตลอดปี

สำหรับขั้นตอนการผลิต เจ้าของแบรนด์วัย 40 ปี บอกว่า ในการผลิตต้องชิมทุกครั้ง คล้ายกับตัวเองเป็นเชฟ เพราะในแต่ละรอบ ผักและผลไม้จะมีรสชาติไม่แน่นอน

“บางรอบเปรี้ยว บางรอบหวาน สีไม่เหมือนกัน หรือผักบางชนิดเหม็นเขียว เลยต้องชิมทุกครั้งที่ทำ แต่ทุกอย่างต้องใช้ประสบการณ์ทำจนรู้ว่าใส่ประมาณไหนถึงอร่อย ไม่เหมือนของสำเร็จรูปที่มากี่รอบก็เหมือนกันตลอด”

คุณหนุ่ม–เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล

นอกจากรสชาติแล้วยังมีข้อจำกัดเรื่องการผลิต ต้องตามฤดูไป ไอศกรีมบางรสชาติจึงไม่มีให้ทานทั้งปี เช่น น้ำนมข้าวยาคู ทำมาจากน้ำข้าวที่อยู่ในช่วงระยะตั้งท้อง ปลูกโดยชาวนาที่ปลูกนาปี จะมีให้ทานแค่ปีละครั้ง เป็นรสซิกเนเจอร์ของร้าน”

ผักโขมฟักทอง

สำหรับรสชาติที่มีให้ชิมตลอดปีเป็นซิกเนเจอร์ของร้านเช่นกัน คือ ผักโขมฟักทอง 2 อย่างนี้ทำแยกกัน ค่อยตักจะได้ไอศกรีมมาไว้ในถ้วยเดียวกัน ได้สีเขียวกับเหลือง ส่วนคะน้าสะระแหน่ ตักใส่ถ้วยคู่กันจะได้สีเขียวเข้มกับสีเขียวอ่อน รสชาติมันๆ และที่มีให้ทานคือ เสาวรส สับปะรดใส่พริกขี้หนู มะระชีสเค้ก ผักชี ซึ่งรสชาติที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คุณหนุ่มผลิตเท่านั้น เพราะเขาบอกว่า ผลิตมาแล้วกว่า 60-70 รสชาติ

ถามต่อถึงกระแสตอบรับของลูกค้า คุณหนุ่ม บอกว่า ลูกค้าเด็กๆ จะตื่นตาตื่นใจกับไอศกรีม และรีบบอกแม่ว่าผมกินผักได้ ยกตัวอย่าง ไอศกรีมคะน้าสะระแหน่ แม่จะบอกลูกว่านี่คือชาเขียวเพราะสีใกล้กัน ทำให้ลูกอยากกิน

“เทียบกับพ่อแม่บางรายบอกว่าอันนี้เป็นผักอย่าไปกิน รู้สึกเฟลเหมือนกัน น่าเสียดายที่ไปปิดกั้นโอกาสของเด็กในการลองสิ่งใหม่ๆ สำหรับคนวัยอื่นมีหลายคนที่ไม่กินผัก แต่เมื่อนำมาทำเป็นไอศกรีมทำให้ลูกค้ากล้าที่จะกิน”

เมื่อมีไอศกรีมแล้ว ตัวแพ็กเกจจิ้งก็สำคัญเช่นกัน คุณหนุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาเลือกที่จะใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนพลาสติก

“ถ้วยไอศกรีมที่เราเห็นกันทั่วไป ภายนอกเป็นกระดาษก็จริง แต่ข้างในเป็นพลาสติก กว่าจะย่อยสลายได้ใช้เวลานาน เราเลยพยายามหาวัสดุมาทดแทน ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แรกๆ ใช้เข่งก๋วยเตี๋ยวหลอด ช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็นถ้วยกาบหมาก ต้นทุนแพงกว่าแต่อยู่ในราคาที่เรารับได้ ช่วยลดขยะด้วยยิ่งโอเคเลย ขายราคาถ้วยละ 59 บาท” คุณหนุ่ม ว่าอย่างนั้น

น้ำนมข้าวยาคู
รสมะระชีสเค้ก

ทำไอศกรีมเป็นยา ในชื่อแบรนด์ ชีวา

และเมื่อภรรยาท้องลูกคนที่สอง คุณหนุ่มได้ขยายการผลิตไอศกรีมมาเป็นแบบแท่ง ใช้ชื่อลูกเป็นชื่อแบรนด์ว่า “ชีวา” เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2562

“ได้เจอผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร พูดคุยกับคุณหมอที่ศึกษาเรื่องธรรมชาติบ่อย ปรึกษากันว่าทำไอศกรีมเป็นยาได้ไหม หลายคนคอนเฟิร์มมาว่าได้ คิดมาได้ 2 รสชาติคือ ขิงขมิ้น ขมิ้นช่วยเรื่องการไหลเวียนของลม ขิงช่วยเรื่องระบายลม รสชาติที่สอง คือ งาดำ ช่วยเรื่องแคลเซียม ทานแล้วรู้สึกสบายท้อง แท่งละ 45 บาท”

กระบวนการทำคล้ายแบรนด์ จินตะ โฮมเมด ไอศกรีม ต่างกันตรงที่แบรนด์แรกเป็นการต่อยอดใช้วัตถุดิบให้เป็นประโยชน์ ส่วนชีวา คือการทำไอศกรีมให้เป็นยา

ท้ายนี้ สิ่งที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมทั้งสองแตกต่างจากแบรนด์อื่น “เราตั้งใจทำแบรนด์นี้ให้ลูก ฉะนั้น ของที่ทำขายต้องดีที่สุด ให้ลูกค้ากินแล้วสบายใจ เพราะถ้ากินแล้วบอกว่าไม่ดี ไม่อร่อย เหมือนกับเขาว่าลูกเราด้วย” คุณหนุ่ม ว่าอย่างนั้น

หากสนใจไอศกรีมของคุณหนุ่ม สามารถแวะไปซื้อได้ที่ร้าน Jinta Ice cream ‎ย่านพร้อมพงศ์ ร้าน Farmer fresh ตึก RSU Tower ซ.สุขุมวิท31, ย่านเอกมัย ร้าน Get well zone ซ.เอกมัย 24, ‎ย่านเตาปูน ร้านชาบูบ้านจันท์, ‎ย่านเพชรเกษม-บางแค ร้าน Farmer fresh ข้าง รพ.พญาไท 3, ‎ย่านบางใหญ่ ร้านอินทนิล ในปั๊มน้ำมันบางจาก สาขาบางใหญ่, ย่านนนทบุรี ร้าน Ongsa De Green ถ.บางศรีเมือง, ย่านบางใหญ่ นนทบุรี ร้าน Organ by smart nine farm, Bao Cafe สีลม ซอย 7

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์