การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ปลูกได้ ขายเป็น แต่สิ่งที่จะชี้วัดความอยู่รอดได้คือการต่อยอดและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ไปได้เรื่อยๆ การหาข้อมูลคือสิ่งที่ดีที่สุด หาข้อมูลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เช่น ถ้าปลูกไม้ผลจะทำอย่างไรที่ไม่ใช่แค่ปลูกแล้วเก็บผลขาย แต่ให้แบ่งตัดขายผลสุก 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างจุดเด่น สร้างสตอรี่ผลผลิตของตัวเองให้ได้ อย่าหยุดอยู่กับที่ การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ต้องหมั่นพัฒนาให้ทันโลกที่ก้าวไป
คุณนิภาพร แคยิหวา (กุล) ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่มะละกอริมคลอง อยู่บ้านเลขที่ 177 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล เล่าว่า อดีตเธอเคยเป็นพนักงานบัญชีอยู่ที่กรุงเทพฯ รักในงานที่ทำแต่รู้สึกว่าวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ใช่ตัวตน เพราะจริงๆ แล้วอยากที่จะทำอะไรก็ได้ที่ได้อยู่กับครอบครัว จึงได้มีการปรึกษากับหัวหน้าและขอลาออกจากงานเพื่อกับมาบ้านเกิดที่จังหวัดสตูล ช่วงแรกๆ ก็ต้องปรับตัวเยอะเพราะสังคมในเมืองกับสังคมที่ต่างจังหวัดต่างกันมาก แต่การที่ได้กลับมาอยู่บ้านมีความสุขกว่ามาก ตื่นมาแล้วไม่ต้องหาของกิน แต่สามารถเดินรอบบ้านแล้วเก็บผักไปทำกับข้าวได้เลย นี่คือชีวิตที่แตกต่าง
เริ่มต้นจากการไม่รู้
สู่เกษตรกรนักคิด นักพัฒนามืออาชีพ
พี่กุล บอกว่า เธอเริ่มต้นทำการเกษตรจากคนไม่รู้อะไรเลย ไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้มาก่อน แต่ใช้ความพยายามและขวนขวายที่จะอยากรู้ ศึกษาโครงการแนวพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ พระองค์ท่านได้เขียนแนวทางทุกอย่างไว้แล้ว เพียงแต่เรานำมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นเพที่บ้าน อย่างที่บ้านมีสวนยางได้ลองทำไปสักระยะหนึ่งก็รู้ว่าตัวเองไม่ชอบ จึงเอ่ยปากขอที่ดินกับพ่อ 1 แปลง ตอนนั้นเข้าหน้าแล้งพอดี ผักชีต้นหอมมีราคาแพง จึงเลือกปลูกผักชีต้นหอมเป็นพืชเริ่มต้นสร้างรายได้ ปลูกทั้งหมด 4 ไร่ แต่ในพื้นที่ 4 ไร่ นี้ก็ทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด คือการปลูกมะละกอเป็นแนวในร่องของผักชีต้นหอม ในระหว่างที่รอมะละกอโตก็ได้เก็บผักชีต้นหอมขายเพื่อนำเงินมาขยายพื้นที่ทำการเกษตรต่อ และในอีกมุมหนึ่งจะทำตู้เย็นในสวน เป็นโซนที่ปลูกผักที่สามารถเก็บมาทำกับข้าวกินที่บ้านได้ ซึ่งตอนที่ทำก็มีคนต่อว่าเยอะ ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวเราแล้วจะไปรอดไหม จึงใช้คำเสียดทานมาเป็นแรงผลักดันให้สู้ต่อไป ระยะเวลา 5 ปี ที่ทำเกษตรมาถึงวันนี้สิ่งที่ทำมาถือว่าตัวเองทำสำเร็จและเป็นต้นแบบในหลายๆ ด้านให้กับคนในชุมชน
เริ่มด้วยการทำฟาร์มเห็ดออร์แกนิก เพาะเห็ดทุกชนิด และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนมีการรวมกลุ่มมีชาวบ้านเป็นสมาชิกกว่า 70 คน โดยตัวเธอเป็นหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนไร่มะละกอริมคลอง ทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้
“มีกล้วย ก็นำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ กล้วยเส้น มีฝรั่งก็นำฝรั่งมาทำเป็นสบู่ใบฝรั่ง เหมาะกับเกษตรกรที่ต้องตากแดดหรือเป็นเชื้อรา หรือมีมะละกอก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นแยมมะละกอ และสบู่มะละกอ มะละกอแช่อิ่ม มะละกอกรอบ”
จะเห็นได้ว่าถ้าตัวเกษตรกรเองมีความคิดพัฒนาสินค้าภายในสวนจะไม่มีทางล้นตลาด เกษตรกรจะสามารถแปรรูปเป็นได้อีกหลายๆ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้สามารถอ่านตามตำราหรือหาดูได้จากยูทูป แต่ทุกอย่างไม่ใช่ว่าทำแล้วจะเป็นแบบที่ได้ดูมา แต่ต้องหาข้อมูลหลายๆ ด้านและการลองผิดลองถูกแล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสูตรของตัวเองให้ได้มากที่สุด
แยมมะละกอ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเด่น
หนึ่งเดียวในสตูล
การแปรรูปสินค้าเกษตร พี่กุล บอกว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องเฉพาะแค่กับเกษตรกรรุ่นใหม่อีกต่อไป การแปรรูปสินค้าเกษตรถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สภาพเศรษฐกิจภายในสวนเป็นไปได้อย่างราบรื่น เมื่อแผนที่หนึ่งคือการขายผลสดขายไม่ได้เกิดล้นตลาด ยังมีแผนสองสำรองไว้คือการแปรรูป หากจะเริ่มคิดเริ่มทำคงไม่เสียหาย อย่างตัวเธอเองก็เริ่มจากการปลูกมะละกอและขายแต่ผลสุก แต่ด้วยความที่เป็นเกษตรกรมือใหม่ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนรับซื้อ ซึ่งตอนนั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ต้องมีของส่งให้ตลาดทุกวันก็มีตัดมะละกอที่สุกเกินไปบ้าง ตอนขนส่งทำให้มะละกอเละเกิดความเสียหาย ในใจก็นึกเสียดายว่ามะละกอที่ช้ำตอนขนส่งไม่ได้เสียอะไรเราจะสามารถสร้างประโยชน์อะไรได้จากตรงนี้บ้าง จึงเกิดความคิดที่ว่าที่สตูลยังไม่มีใครทำแยมมะละกอขายถ้าตัวเองทำขึ้นมาคงจะดีไม่น้อย จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลและลงมือทำลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนได้สูตรที่ลงตัว ซึ่งการทดลองสูตรต่างๆ ต้องทำควบคู่กับการสำรวจตลาดภายในชุมชนด้วย
“ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ในส่วนผสมของแยมจะไม่ใส่สารเพคติน แต่จะใส่แบะแซเป็นสารก่อเจลแทน แต่อาจจะต้องเพิ่มเวลาในการกวนแยมเพิ่มอีกเล็กน้อยเพราะแบะแซมีความเหนียวข้นช้ากว่าสารเพคติน แต่ว่าคุณสมบัติคล้ายกัน”
ส่วนผสมของแยมมะละกอ
- มะละกอ 2 ลูก น้ำหนักผลไม่เกิน 6-8 ขีด ลักษณะของมะละกอที่จะใช้ทำแยม ต้องเป็นมะละกอที่สุกแล้วส่วนหนึ่งผสมกับมะละกอ 3 แต้ม คือมะละกอที่สุกแล้วแต่เนื้อยังแข็งอยู่
- น้ำตาลทราย 600-800 กรัม ขึ้นอยู่กับความหวานของมะละกอ วิธีการใส่แบ่งใส่ 3 ส่วน
- แบะแซ 2 ช้อนชา
- น้ำมะนาวสด แทนการใส่กรดมะนาว 2 ช้อนชา
- เกลือ 2 กรัม
วิธีทำ
- นำมะละกอที่เตรียมไว้มาปอกเปลือก แคะเมล็ดออก แล้วล้างให้สะอาด ในส่วนของเยื่อขาวๆ ที่ติดกับเมล็ดต้องขูดออกให้หมดเพราะไม่ได้ใส่สารกันบูด ทุกขั้นตอนจึงต้องมีความพิถีพิถันที่สุด (สัดส่วนการทำมะละกอ 400 กรัม ต่อน้ำ 200 มิลลิลิตร)
- หั่นมะละกอเป็นชิ้นๆ นำเข้าเครื่องปั่น
- นำส่วนผสมที่เตรียมไว้ปั่นรวมกับเนื้อมะละกอทั้งหมด ยกเว้นส่วนของน้ำตาลทรายให้แบ่งใส่ทีละน้อย
- จุดไฟตั้งกระทะทองเหลืองนำส่วนผสมที่ปั่นไว้มาใส่ในกระทะกวนไปเรื่อยๆ แล้วเติมน้ำตาลทรายส่วนที่เหลือใส่แบะแซลงไป แล้วกวนต่อไปจนมีความรู้สึกว่าส่วนผสมเข้ากันมีความข้นพอดี
- กวนเสร็จตั้งทิ้งไว้รอให้เย็น
- เทใส่ภาชนะขวดแก้วที่เตรียมไว้ ภาชนะที่ใช้ควรผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อทุกครั้ง
พี่กุล บอกต่อว่า การแปรรูปแยมมะละกอถือเป็นการเริ่มต้นการแปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดี เพราะเป็นอะไรที่ทำง่าย อุปกรณ์ต่างๆ หาซื้อได้ในท้องถิ่น ใช้เงินลงทุนไม่มาก ของที่สวนจะทำขายตามออเดอร์ 50 ขวดขึ้นไป ราคาขาย กระปุกเล็ก 59 บาท กระปุกใหญ่ 79 บาท ขนาดขวดใหญ่กว่าขนาดขวดแบรนด์เล็กน้อย ใช้มะละกอ 2 ลูก สามารถทำได้ตามออเดอร์ 50 ขวด ถือเป็นการสร้างมูลค่าจากเดิมได้หลายเท่าตัว ต้นทุนการทำแทบไม่มี มะละกอปลูกเอง ส่วนผสมต่างๆ ก็หาซื้อง่ายราคาไม่แพง แต่ที่สำคัญต้องหาตลาดและมีเป้าหมายว่าจะเจาะกลุ่มลูกค้าแบบไหน
ตลาด แยมมะละกอ ถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่และกลายเป็นเอกลักษณ์ของที่สวนมะละกอริมคลองไปแล้ว เพราะถ้าใครอยากลองชิมต้องมาที่สวนเท่านั้น และที่สวนได้เพิ่มสตอรี่ให้กับแยมมะละกอในส่วนของมะละกอที่ใช้ทำเป็นมะละกออินทรีย์และไม่ใส่สารกันบูด ผู้บริโภคมั่นใจได้
รสชาติ ใครที่เคยมาที่สวนได้ลองชิมก็ต้องติดใจซื้อติดไม้ติดมือกลับไปทุกคน และด้วยรสชาติและมาตรฐานจึงกลายเป็นความเชื่อมั่น ลูกค้าที่เคยซื้อไปกลับมาซื้ออีกแล้วมีการบอกต่อๆ กันไป สำหรับแยมมะละกอตอนนี้ยังไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว จะมีออกบู๊ธตามงานที่ทางหน่วยราชการจัด และงานจัดเลี้ยงตามโรงแรมและรีสอร์ตที่ต้องการนำไปให้กลุ่มคนรักสุขภาพเป็นบางส่วน
ฝากถึงเกษตรกรเริ่มคิดพัฒนาแปรรูปสินค้า
ที่ตัวเองมีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มตอนนี้ยังไม่สาย
พี่กุล บอกว่า การแปรรูปสินค้าการเกษตรถือเป็นผลดีต่อเกษตรกรสวนทุกคนอยู่แล้ว ถ้าแค่ปลูกแล้วขายแต่ผลสด ก็เหมือนการย่ำอยู่กับที่ ซึ่งอยากให้เกษตรกรทุกคนมองอนาคตไปให้ไกล มองไปถึงการตลาด มองไปถึงเครือข่าย ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เกษตรกรจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง อย่างกล้วย กล้วยมีทุกพื้นที่ ทั้งกล้วยสด กล้วยฉาบ กล้วยตาก ถ้าวันหนึ่งเราไม่คิดต่อยอดที่อื่นก็มีก็ทำได้แล้วเราจะอยู่อย่างไร มันก็เลยเป็นเหมือนเราต้องคิดต่อยอดเอาไว้ เราไม่ได้ปลูกกล้วยคนเดียว ยังมีอีกหลายร้อยคนที่ปลูกแล้วเราจะทำอย่างไรให้กล้วยของเราไม่เน่าอยู่กับต้น เราก็ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในสวนมาแปรรูป แล้วก็จะมีรายได้ ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน รับตามออเดอร์แล้วทำส่งก็ได้ พี่กุล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับท่านที่สนใจสอบถามรายละเอียดหรือสนใจสั่งซื้อแยมมะละกอ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (081) 609-6986
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน ผู้เขียน : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์