พิริยศาสตร์ ตระการจันทร์ หรือ คุณกอล์ฟ เจ้าของโรงงานหมอนยางพารา และข้าวเกรียบกุ้ง ป.เกรียบกุ้ง เถ้าแก่นักสู้แห่งจังหวัดอุบลราชธานี หลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำต้องยุติกิจการ พร้อมให้คนงานทั้งหมดพักงานชั่วคราว
แต่ทว่าในวิกฤต หากพยายามหาทางออก ก็ย่อมมองเห็นแสงสว่าง ล่าสุด คุณกอล์ฟ ไม่ยอมแพ้ ขอเอาตัวรอดด้วยการเข้ามากรุงเทพฯ ขายอาหาร เปิดร้านชื่อว่า ‘เฮือนเฮา’ สร้างความต่างด้วยการนำเสนออาหารพื้นถิ่นของแต่ละภาค เพราะในเมืองหลวงมีคนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาอยู่รวมกัน คนเหล่านั้นอาจจะนึกถึงอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดตัวเอง ปรากฏกระแสตอบรับดีเกินคาด เปิดร้านเดือนกุมภาพันธ์ ยอดขายเกือบ 1 ล้านบาท
คุณกอล์ฟ เล่าว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 63 ลูกค้าจีนยุติการสั่งหมอนยางพาราทั้งหมด รายได้หายเกลี้ยง ปรับตัวเดินทางมากรุงเทพฯ ประกอบกับมีหุ้นส่วน คือ คุณกรองกมล พูนสวัสดิ์ อยู่กรุงเทพฯ หุ้นกันทำอาหาร เปิดร้านวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ช่วงแรกเป็นเมนูอาหารอีสาน เพราะบ้านเกิดอยู่จังหวัดอุบลฯ เลือกใช้วัตถุดิบเด่นในจังหวัดอุบลฯ อาทิ กวยจั๊บ ก้อยแซลมอนฟูไข่มดแดง เขียดทอด หมูยออุบล หมูยอเย็นทรงเครื่อง และ ข้าวแมวสีชมพูซึ่งขายดีมาก
“เมนู ข้าวแมวสีชมพู ขายดีมาก แรงบันดาลใจที่คิดเมนูนี้ สมัยยังเป็นเด็ก คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเคยทำให้กิน รสชาติอร่อยแบบบ้านๆ โดยวัตถุดิบ มี ปลาทูนึ่ง ข้าวไรซ์เบอร์รี่หุงสุก ผสมกับผัก และเครื่องเคียง ราดน้ำยำสูตรโบราณเฉพาะของทางร้าน เวลากินให้คลุกเคล้าทั้งหมดเข้าด้วยกัน เสิร์ฟมาในเข่งปลาทู วางบนใบตอง”
เฉพาะเมนูข้าวแมวสีชมพู คุณกอล์ฟ บอกว่า ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก ออร์เดอร์ถล่มทลาย มีแมสเซนเจอร์มารอรับอาหารวันละเกิน 50 คัน
ปัจจุบันร้านเฮือนเฮาเสิร์ฟอาหารลูกค้าวันละ 5-6 เมนู สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป โดยเจ้าของร้าน บอกว่า พยายามสร้างความแปลกใหม่ และดูว่าในท้องถิ่นมีวัตถุดิบเด่นอะไร ยกตัวอย่าง ‘ผักอินทรีย์’ รับซื้อจากเกษตรกรจังหวัดอุบลฯ หมูแดดเดียว ซื้อจากกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น
สำหรับกลุ่มลูกค้า คุณกอล์ฟ บอกว่า วันธรรมดาจะเป็นพนักงานออฟฟิศที่สั่ง ส่วนวันหยุดเป็นกลุ่มครอบครัวที่อยากลองทานอาหารเมนูแปลกใหม่ เป็นอาหารพื้นถิ่นจริงๆ มีครบทั้งภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ ให้ลูกค้าได้เลือก ในอนาคตจะเพิ่มเมนูให้หลากหลาย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด ส่งผลให้คนไทยอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น มีการเติบโตอย่างมาก ข้อมูลจาก GET แอพพลิเคชั่นบริการสั่งอาหาร พบว่า การสั่งอาหาร
ผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่มีการเติบโตโดยภาพรวมอยู่แล้ว จากข้อมูลธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ไทยปีนี้น่าจะโตขึ้นถึง 31% และมีมูลค่าสูงถึง 1.8 พันล้านบาท GET เองก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดที่เข้ามาช่วยให้ตลาดมีการแข่งขัน และช่วยให้ตลาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แค่ในระยะเวลา 1 ปี เรามียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 2.2 ล้านครั้ง และมีคนขับในระบบกว่า 40,000 คน ซึ่งเป็นเพียงแอพพลิเคชั่นรายเดียว และถ้ารวมทุกแอพพลิเคชั่นในตลาดการสั่งอาหารออนไลน์ หรือ ฟู้ดดีลิเวอรี่ สูงถึงกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ผู้เขียน : ดวงกมล โลหศรีสกุล