“ไวน์” เครื่องดื่มหรูหราและ “ราคาแพง” ยิ่งเป็นไวน์ที่ติดอันดับชาร์ตด้วยแล้วถึงหมื่นถึงแสนต่อขวดเลยทีเดียว จึงว่ากันว่าบางครั้งไวน์นอกจากเป็นเครื่องดื่มแล้วยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงสถานะในสังคมของผู้คนด้วย
ดร.พงษ์ศักดิ์ ฮุ่นตระกูล จากสถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลของธนาคารโลก และ UN Comtrade (United Nations Commodity Trade Statistics database) หรือฐานข้อมูลการค้าสหประชาชาติ เกี่ยวกับปริมาณไวน์นำเข้าของแต่ละประเทศ พบปริมาณไวน์นำเข้าสัมพันธ์กับ “รายได้ต่อประชากร” อย่างมาก เพราะชาติร่ำรวย ซึ่งมีประชากรมีการศึกษาสูง ทั้งในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตก ล้วนติดอันดับต้นๆ ของโลกที่นำเข้าไวน์
ข้อเท็จจริงนี้อาจเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของการดื่มไวน์ในระดับพอสมควร ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) พบว่า “สิงคโปร์” เป็นประเทศที่นำเข้าไวน์เทียบกับจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และราคาเฉลี่ยของไวน์นำเข้าอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร เป็นราคาสูงที่สุดในโลก รองลงมาคือฮ่องกง 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร โดยสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่ธนาคารโลกระบุไว้ และสิงคโปร์ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวกับเมืองท่ากระจายสินค้าในย่านเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขไวน์นำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนลาว หรือ “สปป.ลาว” พบว่าปริมาณไวน์นำเข้าของลาวมีรูปแบบผิดปกติจากประเทศอื่น เพราะลาวเป็นประเทศที่มีประชากร 6.2 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเกือบต่ำสุดในอาเซียน แต่กลับมีปริมาณไวน์นำเข้า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 0.75 ดอลลาร์ต่อคน ในอัตรานี้สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นรองเพียงสิงคโปร์กับมาเลเซียเท่านั้น
เมื่อเทียบกับประเทศไทย พบปริมาณไวน์นำเข้าต่อหัวของ สปป.ลาวสูงเป็น 2 เท่าของไทย ซึ่งอยู่ที่ 0.48 ดอลลาร์ต่อคน ทั้งที่ประชากรไทยมีมากกว่า สปป.ลาว 10 เท่า ปริมาณไวน์นำเข้ามากกว่า สปป.ลาว 7 เท่า และเฉลี่ยประชากรไทยมีรายได้สูงกว่า สปป.ลาวเกือบ 4 เท่า
แต่ถ้าดูรูปแบบการบริโภคของ UN Comtrade แล้ว ประเทศไทยซึ่งร่ำรวยกว่า สปป.ลาว ควรมีปริมาณไวน์นำเข้าสูงกว่า นอกจากนี้ การศึกษากลุ่มเป้าหมายบริโภคไวน์ตามข้อมูลของ PovCalNet และธนาคารโลกระบุว่าควรอยู่ที่กลุ่มประชากรมีรายได้มากกว่า 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
แต่เมื่อพิจารณาขนาดตลาดผู้บริโภคไวน์นำเข้าของ สปป.ลาว กับประเทศไทยพบว่า กลุ่มประชากรดังกล่าวใน สปป.ลาว มีเพียง 0.69%ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรลาว 42,000 คน เป็นกลุ่มเป้าหมายบริโภคไวน์ และถ้าเทียบ สปป.ลาวกับไทย ซึ่งมีประชากรเป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่ 19.7% หรือคิดเป็น 12 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดที่สามารถซื้อไวน์บริโภคได้ จากตัวเลขข้างต้นทำให้ตลาดไวน์ประเทศไทยดูใหญ่กว่า สปป.ลาวอย่างเทียบกันไม่ได้
ในกรณีไวน์นำเข้ามานั้นใช้บริโภคภายในประเทศจริงทั้งหมด ถ้าพิจารณาจากปริมาณไวน์นำเข้าต่อกลุ่มประชากรมีรายได้สูงของไทยอยู่ที่ 2.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ส่วนลาวอยู่ที่ 109 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ตัวเลขเปรียบเทียบดังกล่าวบ่งชี้ปริมาณนำเข้าไวน์ของ สปป.ลาวสูงกว่าไทย 45 เท่า จึงเกิดคำถามตามมาว่า “คนลาวบริโภคไวน์ทั้งหมดในประเทศจริงหรือ?” ยิ่งเทียบ สปป.ลาวกับกัมพูชา ที่มีลักษณะโครงสร้างรายได้และจำนวนประชากรใกล้เคียงกับ สปป.ลาว และมีเมืองท่าการรองรับสินค้าทางทะเล พบมูลค่าไวน์นำเข้าต่อหัวของกัมพูชาต่ำกว่า สปป.ลาวถึง 10 เท่า และต่ำกว่าไทย 5 เท่า
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับว่ายังมีปริมาณการลักลอบนำเข้าไวน์ในไทยจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขเปิดเผยออกมา ยังคงมีแต่ตัวเลขของปี 2554 ที่กรมสรรพสามิตยอมรับในการประชุมผู้ผลิตไวน์ถึงปริมาณไวน์นำเข้าลักลอบ คาดว่าประมาณ 200,000-300,000 โหลต่อปี หรือ 1.8-2.7 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งต่างกับการประมาณการจากตัวเลขของธนาคารโลกข้างต้นเป็นอย่างมาก
เมื่อพิจารณา สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศไม่ติดทะเล และมีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับสิทธิในการขนสินค้าโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านได้ เมื่อประกอบกับโครงสร้างภาษีของไวน์นำเข้าสูงมากในไทยแล้ว จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่มีการใช้สิทธินำเข้าสินค้าผ่านแดนไทยไปยัง สปป.ลาว เพื่อเลี่ยงอัตราภาษีสูงในไทย แล้วนำกลับหรือลักลอบเข้ามาขายในไทยอีกครั้ง บ้างก็ผ่านทางบริษัทท่องเที่ยว หรือร้านค้าปลอดภาษี
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเป็นแบบจัดเก็บเต็มเพดานทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณแอลกอฮอล์ โดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 60 และ 100 บาท ต่อลิตรแอลกอฮอล์ เป็นการขยายเพดานสูงสุดในการจัดเก็บ 2,000 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์ ซึ่งหากเป็นไวน์ราคาไม่แพงก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลักลอบนำเข้าไวน์อยู่ดี
อันที่จริงแล้วการปรับลดภาษีและกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการคำนวณภาษีที่เกี่ยวกับไวน์ โดยเฉพาะไวน์องุ่น ซึ่งถือเป็นการแปรรูปทางการเกษตรที่มีการเพาะปลูกในไทย ควรจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไวน์ในประเทศ ช่วยตลาดในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐควรพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้จนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนบวกหกซึ่งยังไม่มีประเทศใดผลิตไวน์
Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111