มาดู 5 สายงานด้านไอที ที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุดกัน

Business ธุรกิจ
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เปิดเผยข้อมูลงานด้านสายไอทีที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน
 
โดยมี 5 ประเภทงานของสายไอทีที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
1) งานโปรแกรมเมอร์ (Programmer)
2) งานดูแลระบบเครือข่าย (IT Administrator)
3) งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support) 4) งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer)
5) งานการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)
 
เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานสายไอทีที่อยู่ในเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีองค์กรลงประกาศรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับสายไอทีทั่วประเทศทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 5 ประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ดังนี้
 
หนึ่ง งานโปรแกรมเมอร์ (Programmer) จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การเขียนและพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ตามความต้องการขององค์กร เช่น พัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงการดูแลและตรวจสอบระบบฐานข้อมูล
 
สอง งานดูแลระบบเครือข่าย (IT Administrator) จำนวน 464 อัตรา คิดเป็น 13.8 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การดูแลระบบเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ประกอบ ติดตั้ง ลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ทั้ง ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์
 
สาม งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support) จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาการใช้งานต่าง ๆ ด้านสารสนเทศ
 
สี่ งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer) จำนวน 243 อัตรา คิดเป็น 7.2 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด รายละเอียดงานคือ การ ออกแบบและพัฒนาระบบเว็บไซต์ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์
 
และ ห้า งานการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) จำนวน 208 อัตรา คิดเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด รายละเอียดงานคือ การทำการตลาดทั้งด้านองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการ ผ่านสื่อดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ยูทูป เป็นต้น
 
ปัจจุบันงานสายไอทีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ จึงกลายเป็นปัญหาความไม่สอดคล้องด้านความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีภาคธุรกิจสำคัญเกิดขึ้นมากมาย
 
อย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) และกลุ่มธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าในอนาคตสายงานด้านกลุ่มสะเต็ม (STEM) ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และสถิติ ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานพื้นฐานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตสอดคล้องไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) และนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาล
 
ดังนั้นในฐานะคนทำงานในสายไอที จึงควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มากขึ้น โดยต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแรงผลักให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันแรงงานด้านอื่นๆ ก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานเช่นเดียวกัน ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง รู้จักเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบการณ์ รวมถึงศึกษาความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนมองการณ์ไกลถึงสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานไทยมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับแรงงานนานาประเทศได้อย่างแน่
นอน
————–
Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111