ถือเป็นกระแสข่าวที่สร้างความฮือฮาในวงการธุรกิจไรด์แชริ่งเลยก็ว่าได้ เมื่อ “แกร็บ” ประกาศว่าได้เข้าซื้อกิจการ “อูเบอร์” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศ คือ กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย
โดยในข้อตกลง อูเบอร์จะถือหุ้น 27.5% ในแกร็บ และดารา โคสโรว์ชาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์ ก็จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของแกร็บ
ในอีเมล์ประกาศของแกร็บและอูเบอร์ระบุว่า แกร็บจะควบรวมกิจการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชั่นและรับส่งอาหารของอูเบอร์เข้ามาไว้กับแพลตฟอร์มของแกร็บ
โดยแอปฯอูเบอร์จะให้บริการต่อไปอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งก็คือถึงวันที่ 8 เมษายนนี้เท่านั้น ส่วนคนขับอูเบอร์ก็จะต้องไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บใหม่
ขณะที่แอปฯอูเบอร์อีทส์ ซึ่งเป็นบริการรับส่งอาหาร จะให้บริการไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลรายชื่อของผู้จัดส่งและร้านอาหารก็จะถูกถ่ายโอนไปยังแอปฯของแกร็บอย่าง “แกร็บฟู้ด” นั่นเอง
ควบรวมกิจการ เท่ากับการแข่งขันลด
ถึงแม้ทั้ง 2 บริษัทจะออกมาบอกว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ คนที่จะ “วิน” หรือได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ “ผู้โดยสาร” แต่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า นี่หมายถึงราคาค่าบริการอาจแพงขึ้น
Corrine Png นักวิเคราะห์ด้านการขนส่งจากบริษัทวิจัยในสิงคโปร์ กล่าวว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้หมายความว่าผู้โดยสารจะมีตัวเลือกในการใช้บริการลดลง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ก็มีแนวโน้มว่าค่าบริการจะแพงขึ้น
ที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจในไรด์แชริ่งถือว่าดุเดือดมาก ส่งผลให้มีการลดราคาและออกโปรโมชั่นมากมายทั้งสำหรับผู้ขับและผู้โดยสาร แต่เมื่อการแข่งขันลดลง ราคาก็อาจเพิ่มขึ้น
จาง ปิน ปิน ผู้ใช้บริการทั้งแกร็บและอูเบอร์ในสิงคโปร์ กล่าวกับสเตรทไทม์สว่า ไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้ราคาจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าหากราคาเพิ่มขึ้นหรือมีราคาพอๆ กับแท็กซี่ เธอก็จะหันกลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน
ขณะที่ โรบิน ชู ช่างภาพอิสระ ระบุว่า ตนมีความกังวลว่าหากเรียกรถผ่านแกร็บแล้วราคาเพิ่มขึ้น ก็อาจจะพิจารณาตัวเลือกการเดินทางใหม่
ทั้งนี้ เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.cokiecoffee.com เคยเทียบราคาค่าบริการระห่างแกร็บคาร์และอูเบอร์เอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริการในระดับเดียวกัน หลังอูเบอร์ปรับราคาใหม่เมื่อ ส.ค.2017 ให้ผู้โดยสารสามารถ “รู้ราคาสุดท้าย” ได้ จากตอนแรกที่รู้เพียงราคาประมาณ
โดยพบว่าจากการเรียกรถให้ไปส่งในจุดหมายปลายทางเดียวกัน ระยะทางเท่ากัน พบว่าอูเบอร์เอ็กซ์มีราคาถูกกกว่าราว 10% แต่เมื่อทดลองเรียกในหลายๆ เส้นทาง บางครั้งแกร็บถูกกว่า บางครั้งอูเบอร์ถูกกว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
รายได้คนขับยังจะเหมือนเดิมไหม
ความกังวลไม่ได้อยู่ที่ผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงคนขับด้วย โดยผู้ขับหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขารู้สึกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอัตราค่าคอมมิสชั่นและค่าอินเทนซีฟ ที่โดยปกติผู้ขับจะต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการ 20% ของค่าโดยสาร
เคน แทน ผู้ที่เคยขับทั้งอูเบอร์และแกร็บ กล่าวว่า เขากังวลว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อรายได้คนขับ ซึ่งเขาระบุว่าเขาน่าจะได้รายได้มากกว่าถ้าขับอูเบอร์ เนื่องจากมีค่าอินเทนซีฟที่ดีกว่านั่นเอง
เรียกได้ว่าสิ่งที่คนขับเป็นกังวลกันก็คือ หากย้ายจากอูเบอร์ไปขับแกร็บแล้ว รายได้ของตนจะลดลงหรือไม่ ค่าอินเทนซีฟจะเท่าเดิมหรือเปล่า และแกร็บจะดูแลผู้ขับอย่างไรบ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากแกร็บคาร์ที่เป็นรถส่วนตัว และแกร็บคาร์พลัสซึ่งเป็นรถหรูพรีเมี่ยม แกร็บยังมีแกร็บแท็กซี่ไว้รองรับลูกค้าอีกกลุ่ม ตัวเลือกที่มากขึ้นในแอปฯเดียวทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าโอกาสที่คนขับจะได้งานจะลดลงหรือเปล่า?
นายอัง ฮิน คี ที่ปรึกษาระดับสูง สมาคมแท็กซี่แห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ที่จริงแล้วผู้บริโภคและคนขับต้องการตัวเลือกที่มากขึ้น ไม่ใช่ลดลง อย่างไรก็ตาม เขาก็หวังว่า สุดท้ายแล้วการควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีขึ้น
“ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง พนักงานลดลง ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาก็ลดลง องค์กรใหม่ก็จะสามารถโฟกัสไปที่การส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนขับและผู้โดยสาร” อัง ฮิน คี กล่าว
สุดท้ายแล้วคงต้องดูกันต่อไปว่า การควบรวมกิจการอูเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับแกร็บในครั้งนี้ ใครจะได้ประโยชน์?!
Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111