ออกญาโหราธิบดี “โหราทำนายหนู” ได้ดีที่อยุธยา แต่มาจากทางเหนือ

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์จริง และในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ตัวตนจริงของออกญาโหราธิบดีในประวัติศาสตร์นั้น รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นคนแต่งแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกชื่อ “จินดามณี” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดและแพร่หลายที่สุด

จินดามณีเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่เป็นมาตรฐานสำหรับการเล่าเรียนเขียนอ่านของลูกหลานคนไทยมาอย่างยาวนาน มากกว่าแบบเรียนภาษาไทยเล่มใด คือตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ค่อยๆเสื่อมความนิยมลง

 

ที่จริงแล้วคำว่า “พระโหราธิบดี” มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ กล่าวคือเป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือ โหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่าง ๆ

วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน มิถุนายน 2546 กล่าวถึงออกญาโหราธิบดีว่าเป็นปราชญ์เมืองเหนือและปราชญ์ทางภาษาไทยสมัยนั้น ประวัติของท่านมีกล่าวไว้ในหนังสือจินดามณีเกือบทุกฉบับว่า “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุโขทัย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าลพบุรี” และอีกตอนหนึ่งว่า “ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ เปนโหรประเสริฐ ปัญญาชำนาญ ชาวโอฆบุรี สวัสดีพิศาล ข้าพระภูบาล เจ้ากรุงพระนคร”

จากข้อความข้างต้นพอสรุปได้ว่า “พระโหราธิบดีนี้ บ้านเดิมท่านน่าจะอยู่สุโขทัย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่โอฆบุรีหรือพิษณุโลก แล้วค่อยย้ายมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระโหราธิบดีผู้นี้ ว่า

“น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับพระโหราที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง ว่าเป็นโหราที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือว่าทายได้แม่นยำนั่นเอง” ซึ่งถ้าข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถูกต้อง ก็นับว่าเส้นทางชีวิตของพระโหราธิบดีผู้นี้ยาวไกลมาก คือจากสุโขทัย จากโอฆบุรี ลงไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา และได้ดิบได้ดีจนกระทั่งได้แต่งจินดามณี รวบรวมพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และถึงแก่มรณกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นที่สุดของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ว่า พระโหราธิบดีผู้นี้เป็นบุคคลคนเดียวกันกับมหาราชครู กวีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแต่งเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ หรือไม่ และพระโหราธิบดีผู้นี้คือพ่อของศรีปราชญ์ กวีผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของสมัยนั้นด้วยหรือไม่ เพราะมีแนวคิดของนักประวัติศาสตร์อีกแนวว่า “ศรีปราชญ์” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

พระโหราธิบดีจะเป็นพ่อของศรีปราชญ์และเป็นคนคนเดียวกับมหาราชครูหรือไม่ต้องรอข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องรอข้อพิสูจน์เพราะหลักฐานชัดเจนก็คือ พระโหราธิบดีท่านเป็นคนจากดินแดนซึ่งเคยเป็นแว่นแคว้นสุโขทัย หรือที่คนกรุงศรีอยุธยาเรียกขานกันว่า “เมืองเหนือ” เมื่อท่านเกิดที่แคว้นสุโขทัย ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการศึกษาเล่าเรียนของท่านก็ต้องศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตและสำนักวัดต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย โดยเฉพาะจากเมืองสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นเบื้องต้น

ทราบกันดีว่าแคว้นสุโขทัยนั้นเคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองศิลปวัฒนธรรมด้านภาษาศาสตร์และอักษรศาสตร์มาก่อน อีกทั้งมีแนวทางด้านภาษาและอักษรเป็นของตนเอง เมื่อพระโหราธิบดีท่านมีฐานทางภูมิปัญญาจากถิ่นนี้ ท่านก็ย่อมซึมซับเอาภูมิรู้ด้านภาษาและอักษรศาสตร์แบบสุโขทัย ซึ่งอย่างน้อยในสมัยของท่านจักต้องคงความรุ่งเรืองอยู่บ้าง เอาไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ในเรื่องการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ของท่านโหราธิบดีผู้นี้ โจษขานกันว่าแม่นยำยังกะตาเห็น ที่เล่าลือกันอย่างมากจนกลายมาเป็นฉายา “พระโหราธิบดีทายหนู” นั้น เรื่องมีอยู่ว่า

ในคราวที่รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์) วันหนึ่งขณะประทับในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทกับเหล่าข้าราชการทั้งหลาย ได้มีมุสิก (หนู) ตกลงมาแล้ววิ่งเข้าหาที่ประทับ พระองค์ทรงใช้ขันทองครอบไว้แล้วให้มหาดเล็กไปตามพระโหราธิบดีมาทายว่าสิ่งใดอยู่ในขันทองนี้ พระโหราธิบดีมาตามรับสั่ง เมื่อคำนวณดูแล้ว จึงกราบบังคมทูล ว่า

“เป็นสัตว์สี่เท้า” พระเจ้าปราสาททองตรัสว่า “ชนิดใด” พระโหรากราบบังคมทูลว่า “มุสิก” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสต่อว่าแล้วมีกี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วกราบบังคมทูลว่า “มี 4 ตัว พระเจ้าข้า ” พระเจ้าปราสาททองทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า “มุสิกนั้นถูกต้องแล้ว แต่มีแค่ตัวเดียว มิใช่ 4 ตัว คราวนี้เห็นทีท่านจะผิดกระมังท่านโหรา” เมื่อทรงเปิดขันทองที่ครอบหนูไว้ ก็ปรากฏว่ามีหนูอยู่ 4 ตัวจริง

เพราะหนูที่ตกลงมานั้นเป็นหนูตัวเมียท้องแก่ เมื่อตกลงมาก็ตกลูก 3 ตัวในขันทองพอดี การพยากรณ์ครั้งนั้นจึงสร้างชื่อเสียงให้แก่พระโหราธิบดีเป็นอันมากจนได้รับสมญานาม ว่า “พระโหราธิบดีทายหนู” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้พระโหราธิบดีเป็นพระราชครูถวายพระอักษรสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นต้นมา