งานวิจัยชี้ “สังคมปลูกข้าว” มีความสามัคคีโดดเด่นส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

Culture ศิลปวัฒนธรรม

จากความคิดเดิมที่เรื่องการประเมินนิสัยคนตามแหล่งที่มา อาจเป็นเพียงการคาดเดาหรือความรู้สึกส่วนตัว

ล่าสุดมีการศึกษาชิ้นใหม่ โดยเน้นไปที่วัฒนธรรมท้องถิ่นของจีน ในภาคเหนือที่ปลูกข้าวสาลีและภาคใต้ที่ปลูกข้าว

การศึกษาชิ้นที่ว่านี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า วัฒนธรรมของ ‘สังคมปลูกข้าว’ เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่า ‘สังคมปลูกข้าวสาลี’ ในประเทศจีน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐฯ ระบุว่า การฝังรากลึกของสังคมปลูกข้าว และสังคมปลูกข้าวสาลี นำมาซึ่งลักษณะเฉพาะของคนจากส่วนใต้และส่วนเหนือของประเทศจีน ที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้นำความทันสมัยเข้ามาสู่พื้นที่ที่เคยเป็นสังคมเกษตรกรรม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สังคม “ปลูกข้าว” ในภาคใต้ของจีนปลูกฝังการช่วยเหลือกัน เพราะข้าวเป็นพืชที่ใช้แรงงานสูงกว่าสองเท่า เมื่อเทียบกับการ “ปลูกข้าวสาลี” ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของคนในภาคเหนือ

งานวิจัยชิ้นนี้ทดสอบพฤติกรรมของคน ในสถานการณ์ที่ปัจจัยต่างๆ ถูกควบคุมให้เสมอเหมือนกัน และน่าสนใจที่ผู้วิเคราะห์ใช้ “ร้านสตาร์บัคส์” ที่มีสาขาทั่วประเทศจีน เหนือจรดใต้ และมีการจัดร้านตามมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เป็น ‘ห้องสังเกตการณ์’

เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ถูกควบคุมให้เหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญมุ่งพิจารณาพฤติกรรมการใช้เก้าอี้นั่ง ของคนที่เข้าร้านในภาคเหนือและภาคใต้

ปรากฏว่าผู้ที่มีพื้นเพมาจากภาคใต้ เช่น ในฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ จะร่วมนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน มากกว่าผู้ที่มาจากสังคมปลูกข้าวสาลีทางภาคเหนือ เช่น ปักกิ่ง และเชนหยาง

การวิเคราะห์พบว่า เพียงร้อยละ 6 ของผู้ที่มาจากสังคมปลูกข้าว จะเลื่อนเก้าอี้อีกตัวมานั่งแยกกัน และไม่ร่วมใช้ที่นั่งตัวเดียวกับเพื่อน เทียบกับร้อยละ 16 ในสังคมปลูกข้าวสาลี ซึ่งนักวิจัยบอกว่ามีความเป็นตัวของตัวเองสูงกว่า

ดังนั้น การศึกษาชิ้นนี้จึงช่วยเตือนใจเราว่า อย่าเหมารวมคนจากหนึ่งประเทศว่ามีวัฒนธรรมเหมือนกันหมด

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กำลังทดสอบทฤษฎีวัฒนธรรมของสังคมปลูกข้าวและข้าวสาลีในประเทศอินเดีย เพื่อต้องการยืนยันข้อมูลดังกล่าวที่ได้จากประเทศจีนด้วย


Source Voa Thai