5 วัดดังรัชกาลที่ 3 ยลงานช่างพระราชนิยม ตำนาน “เจ้าสัว” กู้แผ่นดิน

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามประวัติศาสตร์ไทย ระบุว่าเป็นยุคสมัยที่การค้าขายเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองปราศจากศึกสงคราม ทำให้มีโอกาสอย่างมากในการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทั้งด้านการก่อสร้าง สถาปัตยกรรม และพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสนสถาน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ในแบบอย่างสถาปัตยกรรมที่แตกต่างออกไปจากรัชกาลก่อนหน้า และยังแตกต่างจากยุคของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ในรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปไทยและจีน ที่วิจิตรงดงามมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน หากจะนับวัดที่สร้างในแผ่นดินนี้ นอกเหนือจากวัดประจำรัชกาล คือ “วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” แล้ว ยังมีอีกมากมายหลายวัด แต่หากเจาะจงเฉพาะวัดเด่นๆ ที่เป็นสถาปัตยกรรมพระราชนิยม เห็นจะมีดังนี้ วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเทพธิดาราม วัดยานนาวา วัดนางนองวรวิหาร และวัดกัลยาณมิตร เป็นต้น

ซุ้มประตูทางเข้าวัดราชโอรสาราม สร้างเป็นชั้นแบบจีน
กิเลนประดับทางเข้าวัดราชโอรสาราม

การสร้างวัดเหล่านี้ แน่นอนว่ามีสถาปัตยกรรมจีนเข้ามาเป็นส่วนผสมอยู่มาก มูลเหตุที่เป็นเช่นนี้ เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเครื่องใช้ไม้ไม่ทน จึงทรงเปลี่ยนมาเป็นปูน และเวลานั้นช่างคนไทยที่ฉาบปูนได้มีน้อย ขณะที่ช่างจีนชำนาญกว่าแต่ไม่ชำนาญลวดลายไทย จึงทรงผสมผสานแบบจีนกับไทยให้กลมกลืนกันจนกลายมาเป็นงานช่างที่เรียกว่า “พระราชนิยม” อีกประการหนึ่งเป็นเพราะไทยมีการค้าขายกับจีนมากขึ้น ทำให้คนจีนเดินทางเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยมาก จึงกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัด

จิตรกรรมฝาผนังวัดราชโอรส
จิตรกรรมฝาผนังวัดราชโอรส

อย่างไรก็ตาม บันทึกของ ม.ร.ว.ศุภวัฒน์ เกษมศรี บันทึกไว้ว่า คงเป็นพระบรมราโชบายที่ลึกซึ้งด้านหนึ่ง เพื่อให้ชาวจีนหันมาเลื่อมใสศรัทธาทำบุญในพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากขึ้น ทั้งยังเกิดผลดีแก่ชาวจีน ช่วยลดช่องว่างทางสังคมลง ซึ่งการสร้างวัดของรัชกาลที่ 3 ปรากฏในเวลาต่อมาว่าขุนนางและราษฎรที่มีฐานะดี ไม่ว่าคนไทยหรือคนจีนต่างพากันสร้างวัดโดยเสด็จพระราชกุศลมากมาย ทำให้เกิดผลดีแก่พระพุทธศาสนา และยังมีผลในด้านวัฒนธรรมสังคมด้วย จะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ “ทรงสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมและการเมือง” ดังเช่นที่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์อาวุโส เจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ กล่าวไว้

ศาลาศิลาจารึกวัดราชโอรสาราม

เนื่องจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการทำนุบำรุง และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นมาใหม่ หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 และต้นรัชกาลประเทศยังตกอยู่ในภาวะยากจนเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่รัชกาลที่ 3 ทรงทำคือ ทรงตั้ง “ระบบการจัดเก็บภาษี” ขึ้นหลายอย่าง เพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลังหลวง เช่น จังกอบ อากร ฤๅชา ส่วย ภาษีเงินค่าราชการจากไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เป็นต้น

ทวารบาลทำจากกระเบื้องเคลือบ ในวัดราชโอรสาราม

วิธีการเก็บภาษีอากรที่ทรงทำก็คือ ให้เอกชนประมูลรับเหมาผูกขาดไปเรียกเก็บจากราษฎรเอาเอง เรียกว่า “เจ้าภาษี” หรือ “นายอากร” ส่วนใหญ่ชาวจีนเป็นผู้ประมูลได้และเป็นนายอากร นอกจากนี้รายได้ของรัฐอีกส่วนหนึ่งยังได้มาจากการค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยไทยได้ส่งเรือสินค้าเข้าไปค้าขายในประเทศต่างๆ มากมาย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยและเชี่ยวชาญการส่งเรือสินค้าออกไปค้าขายมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 2) ตรัสเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ก็ทรงสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นใช้ในการค้าจำนวนมาก รายได้จากการค้าสำเภานี้นับเป็นรายได้สำคัญของประเทศในขณะนั้น

จิตรกรรมฝาผนังวัดราชโอรส ให้ความรู้เรื่องแบบย้านของชาวจีน

เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างมากในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 รายได้ของแผ่นดินก็สูงขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เงินในท้องพระคลังหลวง ซึ่งรวมถึงเงินค่าสำเภาที่เหลือจากการจับจ่ายของแผ่นดินมีถึง 40,000 ชั่ง เงินนี้นอกเหนือจากทำนุบำรุงรักษาวัดที่ชำรุดเสียหาย และวัดที่สร้างค้างอยู่ 10,000 ชั่ง ที่เหลือ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผ่นดิน เงินจำนวนนี้เล่ากันว่าทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใส่ถุงแดงมัดไว้ ซึ่งต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงนำมาใช้จ่ายเป็นค่าปรับในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ร.ศ. 112 จึงเห็นได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีสายพระเนตรยาวไกล ทรงมีส่วนช่วยเหลือประเทศให้รอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ด้วยเงินถุงแดงที่ทรงเก็บสะสมไว้

วัดนางนองวรวิหาร
วัดนางนองวรวิหาร

แม้จะทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปรีชาทั้งด้านเศรษฐกิจและการปกครอง แต่ในการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงสำหรับนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามในทัวร์ของ “มติชนอคาเดมี” One Day Trip ซึ่งจัดนำเที่ยว “5 วัดดังรัชกาลที่ 3 ยลงานช่างพระราชนิยม ตำนาน “เจ้าสัว” กู้แผ่นดิน” ให้ผู้สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้สัมผัสทั้งเรื่องจริง ข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสนุกสนานกับเกร็ดความรู้ที่หาจากไหนไม่ได้อีกแล้ว โดยผ่านการบอกเล่าจากปากของนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึก “รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” พร้อมชมความสวยงามอลังการ 5 วัดดังศิลปพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ได้แก่ “วัดยานนาวา” ที่มีการสร้างเรือสำเภาจำลอง เพราะมีพระราชประสงค์ให้คนรุ่นหลังรู้จักเรือสำเภาจีน “วัดราชนัดดาราม” วัดที่ตั้ง “โลหะปราสาท” ซึ่งเป็นองค์ที่ 3 ของโลก

วัดเทพธิดาราม
วัดราชนัดดารามวรวิหาร
ซุ้มประตูทางเข้าวัดยานนาวา

“วัดราชโอรสาราม” วัดประจำรัชกาลที่ 3 สร้างบนนิวาสสถานของพระประยูรญาติฝ่ายพระบรมราชชนนี คือกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ 2) มีเรื่องเล่าถึงการตั้งอธิษฐานของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขอให้เสด็จฯไปราชการทัพรบพม่าประสบความสำเร็จ หากมีชัยชนะกลับมาเมื่อไหร่จะบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรือง ท้ายที่สุดพม่าไม่ได้ยกทัพมา จึงเสด็จฯ กลับพระนคร และได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดตามที่ตรัสไว้ เสร็จแล้วทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา นับเป็นวัดแรกที่คิดสร้างนอกแบบอย่างสามัญที่สร้างกัน เรื่องราวของวัดราชโอรสารามยังมีมุมอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งวัดอื่น ๆ อีก 4 วัด เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2561 โปรดติดตามทัวร์มติชนอคาเดมี (คลิกอ่านรายละเอียดโปรแกรมทัวร์ได้ที่นี่ https://www.matichonacademy.com/content/travel/article_16940)

เจดีย์รูปเรือสำเภา
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดยานนาวา บอกเล่าเรื่องลอยกระทง

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy