ฉัตรแก้วร่มเกล้าชาวไทย (5) รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

Culture ศิลปวัฒนธรรม

พระนามของสมเด็จพระจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวาย ส่วนผู้ผูกดวงชะตาคือ พระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช นอกจากนี้ พระยาบริรักษ์เวชการ กับคุณหญิงชิต มิลินทสูต ผู้สนใจในโหราศาสตร์ ได้ร่วมผูกดวงชะตาตามตำราของพระองค์หญิงเฉิดโฉม

ปรากฏว่าพระองค์พระราชสมภพ ยามโฆสกะเศรษฐี ตามนิยายชาดก ซึ่งเกิดมาเสวยสมบัติมหาศาลของเศรษฐี ผู้ใดคิดร้ายก็พ่ายแพ้พระบารมีทุกทีไป ทรงมีเสาร์เป็นสิริ แสดงว่าบริบูรณ์ด้วยพระอิสริยยศ อุดมด้วยทรัพย์ และสำคัญที่สุดคือจะทรงมีพระชนม์ยืนยาว ทั้งพระฤกษ์ประสูติเป็นพระฤกษ์เดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ด้วย

 

มีเรื่องบันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเวลานั้น ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ในตอนนั้น ว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นบูรพาจารย์ที่เคารพยิ่ง จึงใคร่ขอประทานพระกรุณาให้ทรงจัดผูกดวงชะตาลูกชายของหม่อมฉัน ซึ่งเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม ศกนี้ เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที กับขอประทานหารือในอันจะขนานนามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกนั้นด้วย หม่อมฉันได้ให้กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ มาเฝ้าเพื่อกราบทูลข้อความละเอียด หากมีพระประสงค์จะทรงทราบ”

 

จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมีจดหมายตอบกลับ “…อาตมภาพได้รับทราบพระราชประสงค์แล้ว ดวงพระชาตานั้น ได้หารือตกลงกัน และอาตมภาพได้เขียนถวาย ส่วนพระนาม อาตมภาพได้คิดและเขียนถวายตามพระราชประสงค์ แลได้ถวายพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว…”

พระนามที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงตั้งถวาย เป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล โดยอัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า “วชิรญาณะ” ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ของรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มา ทรงมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัยและความเรียบร้อย ความสะอาดโดยทั่วไป ไม่ทรงนิยมการฝ่าฝืนหรือละเมิดระเบียบข้อบังคับต่างๆ และทรงสนพระทัยในวิชาที่เกี่ยวกับกองทัพและทหาร ได้เสด็จไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ หลายแห่งอยู่เสมอ ในฐานะที่ทรงเป็นองค์รัชทายาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จพระราชดำเนิน และเสด็จแทนพระองค์ในพระราชกรณียกิจที่สมควรต่างๆ ซึ่งก็ทรงปฏิบัติพระราชกรรณียกิจนั้นๆ ด้วยความรอบคอบ และด้วยความรับผิดชอบ สำเร็จผลเป็นอย่างดีเสมอมา

นอกจากนี้ยังสนพระทัยศึกษาในพระพุทธศาสนา และกระบวนการยุติธรรมเป็นพิเศษอีกด้วย จะทรงใคร่รู้เกี่ยวกับงานด้านกฎหมาย และเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการของศาลสถิตยุติธรรมเมื่อทรงมีโอกาส ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช และทรงเยี่ยมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทรงสนทนาศึกษาธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติองค์ต่อไป

ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ก็ทรงสนพระทัยมากและทรงได้รับความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง คราวเสด็จไปทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะทรงเป็นพระราชอาคันตุกะแห่งพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นกระชับใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้น ระหว่างพระราชวงศ์ และประชาชนของทั้งสองประเทศ

การที่ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

และเมื่อครั้งยังเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในสารคดี Soul of a Nation – the Royal Family of Thailand โดยผู้สัมภาษณ์คือเดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี เป็นคำถามเกี่ยวกับแรงกดดันที่ทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในครั้งนั้น ทรงตอบคำถามว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาในวินาทีแรกของชีวิต เราก็อยู่ในฐานะเจ้าชายแล้ว มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าการเป็นปลาตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่คุณเป็นปลาอยู่แล้ว หรือการเป็นนกตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อคุณเป็นนกอยู่แล้ว ถ้าคุณลองถามมัน คุณรู้ไหม มันไม่ง่ายเลย พวกมันก็ไม่รู้ว่าชีวิตที่ไม่ใช่ปลาหรือนกนั้นเป็นอย่างไร”

“เราเชื่อว่าในชีวิตของทุกๆ คน ย่อมมีแรงกดดัน ความเครียด และปัญหา และนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนต้องเผชิญ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ หลายสิ่งหลายอย่าง เราเองก็ไม่มีอะไรพิเศษ”

ในฐานะที่ทรงเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” และทรงเป็น “สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์เดียว” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพิสูจน์ให้คนไทยและทั่วโลกประจักษ์ว่า ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ตามพระบรมราชโองการและพระราชเสาวนีย์ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สำเร็จผลเป็นอย่างดีเสมอมา