1.กำแพงเมืองนครฯ เครื่องแสดงความเก่าแก่ ความแข็งแกร่ง ความเจริญรุ่งเรือง และประวัติศาสตร์อันยาวนาน
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมคลองหน้าเมือง ถนนมุมป้อม อ.เมืองนครฯ น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เดิมคงเป็นกำแพงดิน มีคูน้ำล้อมรอบ ต่อมาในสมัยอยุธยา ราว พ.ศ.1950 จึงได้ก่ออิฐขึ้นบนแนวคันดิน
รูปแบบกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูเมืองล้อมรอบหนึ่งชั้น ปัจจุบันเหลือซากเพียงกำแพงด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออก ประมาณ 100 เมตร ยังมีสภาพสมบูรณ์
2.สวยัมภูลึงค์ ศิวลึงค์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่โบราณสถานเขาคา
โบราณสถานเขาคา เทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่ครั้งหนึ่งในอดีตกาล เปรียบประดุจวิมานแห่งพระศิวะ มีลักษณะเป็นกลุ่มโบราณสถานตั้งเรียงรายบนสันเขา ประกอบไปด้วยศาสนสถานขนาดต่างๆ ฐานโยนิ สระน้ำโบราณ เทวาลัย
โดยโบราณสถานบนยอดเขาด้านทิศเหนือ มีร่องรอยของโบราณสถานยกพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบโขดหิน “สวยัมภูลึงค์” หรือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาต อันเป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่รวมถึงฤทธานุภาพของพระเป็นเจ้า
3.พระบรมธาตุเจดีย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครฯ
พระบรมธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในเมืองนครศรีธรรมราช ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ มีหัวใจสำคัญคือองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่มีส่วนยอดเจดีย์เป็นทองคำ ซึ่งพระบรมธาตุองค์นี้สร้างขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย) อันเป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองนครฯ
ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ รวบรวมโบราณวัตถุและสิ่งของที่ประชาชนได้ถวายพระบรมธาตุไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา อันแสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้คนในที่นี่
4.พระศิวนาฏราช อิทธิพลของศิลปะอินเดียในภาคใต้
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช มีการจัดแสดง “พระศิวนาฏราช สำริด” ซึ่งนับว่าเป็นประติมากรรมที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ของชุมชนโบราณในเขต จ.นครศรีธรรมราช
พระศิวนาฏราช หรือพระศิวะในท่าร่ายรำ ทรงมี 4 กร ทรงร่ายรำเหยียบอยู่บนตัวอปสมารปุรุษ คนแคระภูตแห่งความชั่วร้าย ซึ่งนอนคว่ำมือกำงูเห่า
ประติมากรรมนาฏราชาองค์นี้ดูคล้ายศิลปะอินเดียใต้มาก แต่เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของท่าการร่ายรำ จะเห็นว่าการยกพระบาทและการยกพระกรไม่ค่อยจะขึงขังจริงจังมีชีวิตจิตใจเหมือนศิลปะอินเดียใต้ และลักษณะของเปลวไฟรอบๆ วงโค้ง ดูคล้ายกับเปลวพระรัศมีของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในราชอาณาจักรไทย จึงอาจเป็นไปได้ว่าประติมากรรมนาฏราชาองค์นี้คงจะหล่อขึ้นที่ภาคใต้โดยเลียนแบบของเดิม มากกว่าที่จะนำมาจากอินเดียใต้โดยตรง
5.ชมประวัติศาสตร์พันปีที่ “โบราณสถานเขาพระนารายณ์”
อีกหนึ่งโบราณสถานในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่น่ามาเยือน คือ โบราณสถานเขาพระนารายณ์ (เขาศรีวิชัย) ตั้งอยู่ที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
บนเขาแห่งนี้พบชุดฐานของโบราณสถานหลายชุดด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น เช่น อิฐแกะสลักรูปใบหน้าบุคคล ลูกปัด ธรรมจักรหิน ข้าวของเครื่องใช้นักบวชสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เทวรูปพระนารายณ์ขนาดสูง 1.69 เมตร ซึ่งปัจจุบันนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นต้น
6.พระบรมธาตุไชยา หนึ่งในแปดจอมเจดีย์สำคัญของประเทศ
พระบรมธาตุไชยา ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเจดีย์ทรงปราสาทศิลปะศรีวิชัยที่งดงาม สะท้อนให้เห็นถึงความเฟื่องฟูแห่งพุทธศาสนาที่เข้ามาหยั่งรากในภาคใต้
องค์พระเจดีย์นั้นสร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยยังครองความรุ่งเรือง รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็กๆ 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่าง ๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน