“ความเชื่อ” กับ “คนญี่ปุ่น”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ไหนๆ ก็ว่ากันด้วยเรื่องการเดินทางไปท่องเที่ยวยังดินแดนอาทิตย์อุทัยกันไปจนจบแล้ว ขอแถมปลายนวมด้วยเรื่องแปลกๆ แหวกๆ ของคนแดนปลาดิบอีกสักเรื่องท่าจะดี เพราะเรื่องราวนี้คล้ายกับเรื่องราวของคนไทยอยู่เหมือนกัน อีกทั้งบังเอิญไปอ่านพบใน “ญี่ปุ่นหลากมุม” ของ แพรวสำนักพิมพ์ด้วย ซึ่งมีบางเรื่องที่สอดคล้องกันอย่างสมควรนำมาบอกเล่าต่อ คือเรื่องของ “ความเชื่อ”

ก่อนเข้าสู่เรื่องของความเชื่อ มีเรื่องของ “พระ” ประจำวัด ซึ่งอาจจะเคยรู้กันมาบ้างแล้ว ว่าพระในวัดญี่ปุ่นไม่เหมือนกับพระในวัดคนไทย เพราะพระในวัดญี่ปุ่นเขาถือกันว่าเป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง มีบ้านอยู่ สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้ และสืบทอดกันเป็นตระกูล ปกติอยู่บ้านก็แต่งกายธรรมดา เวลาไปทำงานก็ผูกไทด์ใส่สูทขึ้นรถ มาถึงวัดจึงเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็น “พระ” แล้วแต่ว่าใครเป็นพระระดับไหน ตั้งแต่พระลูกวัดจนไปถึงเจ้าอาวาส เพื่อทำหน้าที่หรือทำพิธีให้กับคนที่มายังวัด

พระญี่ปุ่นรูปหนึ่งที่มีอีกอาชีพคือเป็นช่างแต่งหน้า

สิ่งที่เรามักจะพบเห็นในวัดญี่ปุ่นเวลาคนญี่ปุ่นไปไหว้พระที่วัด คือผู้คนทั้งหลายจุดธูปไหว้แล้วจะยืนกวักควันธูปเข้าหาตัว เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บและทำให้สุขภาพแข็งแรง

ถัดไปอีกก็เป็นพวก “เสี่ยงเซียมซี” มักจะมีสีหน้าเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังกันเลยทีเดียว สำหรับ “เซียมซี” นี้ เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “โอะมิคุจิ” (o-mikuji) มีให้เสี่ยงอยู่ทั่วไปตามวัดและศาลเจ้าชินโต คำทำนายในเซียมซีอ่านเข้าใจยากสักหน่อย เพราะต้องตีความภาษาโหรซึ่งไม่ใช่ภาษาธรรมดา คงเหมือนกับของไทยนั่นแหละ อีกทั้งตัวอักษรคันจิก็อ่านยาก คนญี่ปุ่นบางคนยังอ่านแล้วกุมขมับ รู้แต่ว่าตีความโดยรวมทั้งหมดแล้ว “ดี” หรือ “ไม่ดี” เท่านั้น

หญิงญี่ปุ่นกำลังอ่านเสี่ยมซี

ตัวเลขในใบเซียมซี และตัวเลขโดยทั่วไปของคนญี่ปุ่นนั้น เขามีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลขต่างจากคนไทย จะเห็นว่าคนไทยชอบเลข 9 ไม่ว่าอะไรก็ 9 ไว้ก่อน ตั้งแต่เลขโทรศัพท์มือถือ ทะเบียนรถยนต์ จนไปถึงเลขที่บ้าน และจำนวนสิ่งของทั้งหลาย เพราะถือเป็นเลขนำโชค นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตน แต่คนญี่ปุ่นเขาไม่ชอบเลข 9 เอาเสียเลย เพราะเลข 9 ออกเสียงว่า “คุ” (ku) เสียงนี้พ้องกับคำที่มีความหมายว่า “ความยุ่งยากลำบาก” นอกจากเลข 9 แล้วคนญี่ปุ่นยังไม่ชอบเลข 4 เพราะออกเสียงว่า “ชิ” (Shi) ซึ่งไปพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “ตาย”

อีกเรื่องคนไทยเชื่อกันว่าเมื่ออายุครบวัยเบญจเพศ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต หรือมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น คนญี่ปุ่นก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน แต่คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเมื่ออายุครบ 19 ปี 33 ปี 42 ปี จะเป็นปีที่โชคไม่ดี เรียกปีเหล่านี้ว่า “ยะคุโดะชิ” (yakudoshi) ที่เชื่อกันเช่นนี้เพราะเลข 19 ออกเสียง “จูคุ” (juku) พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า ความลำบากแสนสาหัส เลข 33 ออกเสียงว่า “ซันซัง” (sanzan) แปลว่าความสูญสิ้น เหนื่อยยาก สิ้นหวัง และเลข 42 อ่านว่า “ชินิ” (shini) สื่อความหมายว่า “สู่ความตาย” พออายุถึงปีเหล่านี้คนญี่ปุ่นจะไปทำบุญไหว้พระที่วัดหรือศาลเจ้าชินโต เพื่อช่วยให้จิตใจสบายขึ้น

นอกจากความเชื่อเรื่องตัวเลขแล้ว คนญี่ปุ่นยังเชื่อเรื่องโชคชะตาฟ้าลิขิต ถ้าไปในเมืองใหญ่ย่านที่มีคนพลุกพล่านจะสามารถพบเห็น “หมอดู” ญี่ปุ่นได้ไม่ยาก แถวชินจูกุในกรุงโตเกียวจะเห็นหมอดูหลายเจ้า คนพวกนี้ประกอบอาชีพกันตอนหัวค่ำ ส่วนตอนกลางวันจะไม่เห็น อาจจะพักผ่อนนอนหลับ แล้วเริ่มออกทำงานตอนเย็นๆ เพราะพอถึงเวลาตอนเย็นสาวๆ ญี่ปุ่น จะยืนต่อคิวยาวเหยียดให้หมอดูทำนายโชคชะตา บรรดาหมอดูจะนั่งอยู่ในหลืบข้างตึก มีโต๊ะเล็กหนึ่งตัว โคมไฟเล็ก ไฟฉายพร้อมเก้าอี้เตี้ยๆ ของตัวเองกับลูกค้า บางเจ้าเปิดเป็นสำนัก ติดตั้งป้ายเป็นกิจจะลักษณะพร้อมบอกราคาก็มี

หมอดูในย่านกินซ่า กรุงโตเกียว

คนญี่ปุ่นรับศาสตร์การดูลายมือและการนับปีนักษัตริย์มาจากประเทศจีน หากจะนับวันเวลาทางยุโรปจะมีสถิติชัดเจนกว่าว่าในยุโรปการดูลายมือได้รับความนิยมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ส่วนในญี่ปุ่นมีบันทึกไว้ในสมัยเอโดะ ว่าหมอดูลายมือ หัตถศาสตร์และการดูโหงวเฮ้งได้รับความนิยมประมาณ พ.ศ.2143-2411 ยุคนั้นเริ่มมีหมอดูอาชีพเกิดขึ้น หลายคนเป็นซามูไรตกงาน ตำราดูลายมือของญี่ปุ่นหลักใหญ่ใจความเหมือนกับของไทย

ความหมายและตำแหน่งของเส้นหลักบนฝ่ามือ สื่อความหมายเดียวกัน ได้แก่ เส้นเซเมเซ็ง (seimei-sen)หรือเส้นสมอง คันโจเซ็ง (kanjo-sen) คือเส้นหัวใจ และ เค็นคนเซ็ง (kenkon-sen) คือเส้นแต่งงาน ซึ่งเป็นเส้นสั้นๆ อยู่ตรงสันมือ การตีความลักษณะเส้นลายมือก็คล้ายกับตำราไทย ถ้าเส้นชัดเจนไม่เป็นเกาะแก่ง แสดงว่าอุปสรรคน้อย ถ้าเส้นลึกชัด แสดงว่าเป็นคนเปิดเผย มั่นคง เป็นต้น ส่วนการนับปีนักษัตริย์ของญี่ปุ่นก็เหมือนกับของไทยเช่นกัน กล่าวคือ หนึ่งรอบมี 12 ปี ได้แก่ เนะ-ชวด, อุชิ-ฉลู, โทะระ-ขาล, อุ-เถาะ, ทะทสึ-มะโรง, มิ-มะเส็ง, อุมะ-มะเมีย, ฮิทสึจิ-มะแม, ซะรุ-วอก, โทะริ-ระกา, อินุ-จอ และ อิ-กุน

โดยปกติหมอดูจะดูลายมือประกอบวันเดือนปีเกิด ตามด้วยการนับเลขแบบตำราญี่ปุ่น เพื่อยืนยันความขลัง ค่าดูครั้งหนึ่งประมาณ 3,000 เยน อย่างไรก็ดี ความเชื่อโชคลางของคนญี่ปุ่นมีอยู่มากมาย แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นและกลุ่มอาชีพ มีทั้งความเชื่อเกี่ยวกับทิศทาง ลักษณะหน้าตาหรือโหงวเฮ้ง ลางดีลางร้าย วันที่ ทรงเจ้าเข้าผี เป็นต้น สมัยก่อนมีเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของบ้านเป็นอย่างมาก ถ้าเจ้าของบ้านเพิ่งปลูกบ้านเสร็จแล้วเกิดเสียชีวิตกะทันหัน ด้วยอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม เชื่อกันว่าเกิดจากการสร้างบ้านไม่ถูกหลัก ถ้าบ้านไฟไหม้หรือขโมยขึ้นบ้าน ก็จะโยนความผิดให้บ้าน มองว่าบ้านไม่ถูกโฉลก ปัจจุบันความเชื่อเรื่องของที่ตั้งบ้านลดลงไปมากแล้ว เพราะถ้ายังคิดกันอย่างนี้อยู่ คนญี่ปุ่นคงหาซื้อบ้านกันไม่ได้ เพราะที่ทางในญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ใช่ว่าจะหากันได้ง่ายๆ

ความเชื่อบางอย่างของคนญี่ปุ่นก็คล้ายกับของคนไทย คือความเชื่อเรื่องการเลือกอาหารที่มีชื่อเป็นมงคลในงานเฉลิมฉลองต่างๆ คนไทยมักเลือกขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก เพราะคำว่า “ทอง” เป็นมงคล ส่วนคนญี่ปุ่นก็เลือกอาหารที่มีชื่อและมีความหมายเป็นมงคลเช่นกัน เป็นต้นว่าเทศกาลขึ้นปีใหม่ คนญี่ปุ่นจะรับประทาน “โมฉิ” (mochi) คือข้าวเหนียวที่นำมาตำจนแหลกเป็นเนื้อเดียวกันแล้วปั้นเป็นก้อนรับประทาน เนื่องจากเสียงอ่านคำว่า “โมฉิ” หมายถึง “มี” หรือ “มั่งมี” จึงถือว่าเป็นมงคลต่อผู้รับประทาน อาหารอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ทั้งในงานมงคลสมรส งานฉลองวันเกิด และในงานมงคลอื่นๆ คือ “กุ้งใหญ่” เพราะตัวกุ้งมีลักษณะโค้ง หัวกับหางโค้งงอเข้าหากัน ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่าหมายถึง “การมีอายุยืน”

ขนมโมจิ

ว่ากันว่ากลุ่มคนที่เชื่อเรื่องโชคลางมากที่สุด เป็นคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโอกาส เช่น เกอิชา นักมวยปล้ำ นักพนัน นักแสดง คนเหล่านี้อ่อนไหวต่อความสกปรก เพราะเกรงว่าความสกปรกจะทำให้เทพเจ้าพิโรธและนำโชคร้ายมาสู่ตน ดังนั้น คนประกอบอาชีพเหล่านี้จะทำตัวเองให้บริสุทธิ์ด้วยการหว่าน “เกลือ” รอบๆ ตัว หลังจากเข้าไปในแหล่งที่เชื่อว่าสกปรกหรือหลังจากที่ได้พบกับคนที่ตัวเองเกลียด

เกอิชา

แต่ความเชื่อบางอย่างก็เป็นเรื่องแฝงด้วยคติคำสอน หลายเรื่องพิสูจน์ได้ยาก แต่หลายเรื่องทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นโบราณช่างคิด ตัวอย่างคนญี่ปุ่นสอนลูกหลาน ว่าถ้าเห็นแมวล้างหน้าเมื่อไหร่แสดงว่าฝนจะตกในวันรุ่งขึ้น ถ้าเกิดแผ่นดินไหว จงวิ่งเข้าไปในป่าไผ่แล้วจะปลอดภัย ถ้าเห็นเหยี่ยวดำบินสูง แสดงว่าอากาศจะแจ่มใส ถ้าบินต่ำแสดงว่าฝนจะตก ถ้าเมื่อยขาจนเดินไม่ไหว ให้เอาน้ำลายป้ายหน้าผาก 3 ครั้ง แล้วจะหาย ถ้าเห็นแมงมุมตอนเช้าจะเกิดสิ่งดี ถ้าคันตาจะได้พบคนดี ถ้านกนางแอ่นทำรังที่บ้านไหน บ้านนั้นจะรวย ถ้าฝันเห็นงูแล้วไม่บอกใครเป็นเวลาสามวันติดกัน จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น คนไหนถ้ากินปุ๊บแล้วนอนปั๊บจะกลายเป็นวัว ถ้ากินสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลกลางดึก จะทำให้มีสิ่งดีเกิดขึ้น ใครกินข้าวไม่หมดจาน จะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ใครกินแอปเปิ้ลจะทำให้สวย ใครกินถั่วดำจะทำให้เสียงดี ถ้าใบชาในถ้วยชาลอยเป็นแนวตั้ง จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้เท็จจริงประการใดขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล