รากเหง้า “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

Culture ศิลปวัฒนธรรม

“ชัยนาท” ในความเห็นของคนทั่วไปมักมองว่าเป็นเมืองผ่าน เป็นเมืองเงียบๆ ไม่มีความน่าสนใจอะไร ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น “ชัยนาท” ในประวัติศาสตร์ นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

พื้นที่บริเวณที่ตั้งของจังหวัดชัยนาท จากคำอธิบายของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ ว่าความสำคัญแบ่งออกเป็นสองตอน คือตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ชัยนาท ลงมาถึงอ่างทอง เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ส่วนจาก จ.อ่างทอง ถึงเพชรบุรี ชลบุรี เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าการกระจายของบ้านเมืองในปลายยุคเหล็กลงมา กระจายอยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่แรกเริ่มมาเลย แล้วค่อยมาไฮไลท์ที่ลพบุรี อยุธยา ตอนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระปรางค์วัดสองพี่น้อง ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น

คำอธิบายของอาจารย์ศรีศักร ยังบอกว่า ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาถึงชัยนาท จะแตกออกเป็นแพรกหลายแพรก มีทั้งลำน้ำใหญ่และลำน้ำเล็ก พอมาถึงพุทธศตวรรษ 19-20 เริ่มเกิดดอนขึ้นมา จึงทำให้เกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นมาตามลำดับ และเริ่มเห็นชัดเจนตอนยุคทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เรื่อยมาจนเข้าพุทธศตวรรษที่ 17-18 มีเรือนครัวกระจายอยู่แทบทุกลำน้ำ และเกิดเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมา ไปยึดหัวหาดตามแม่น้ำสำคัญ เช่น เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน แม่น้ำน้อย และเมืองเริ่มใหญ่ขึ้น เป็นเมืองร่วมสมัยกับอยุธยา ละโว้ สุพรรณบุรี พอมาถึงชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยามีอีกลำมาแทรกคือแม่น้ำน้อย เริ่มแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดพระบรมธาตุ จึงทำให้เกิดเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองแพรกศรีราชา

“เมืองนี้โดดเด่นมาก ร่วมสมัยกับสุพรรณบุรีและอโยธยา ถือว่าเป็นนครรัฐที่สำคัญ ซึ่งในตอนนั้นมีสามเมืองด้วยกัน ได้แก่ สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา และเมืองอโยธยา”

จังหวัดชัยนาทปัจจุบัน มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกอำเภอ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่าน อ.มโนรมย์ วัดสิงห์ เมืองชัยนาท และสรรพยา แม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่าน อ.วัดสิงห์ และ อ.หันคา แม่น้ำน้อย ไหลผ่าน อ.สรรคบุรี และยังมีคลองชลประทานผ่านพื้นที่ต่างๆ อีก ได้แก่ คลองอนุศาสนนันท์ คลองมหาราช คลองพลเทพ เป็นต้น ล้วนเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเกษตรกรรม นอกจากเป็นพื้นที่ราบแล้ว ชัยนาทยังมีเนินเขาเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ที่สำคัญ ได้แก่ เขาธรรมามูล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด เขาพลอง เขาขยาย เขากระดี่ เขาใหญ่เขารัก เขาดิน เขาหลัก เขาไก่ห้อย เขาสารพัดดี เขาราวเทียน เขาสรรพยา เขาพนมเกิน เขาน้อย และเขาแก้ว

บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า

การเกิดของเมืองชัยนาทในสมัยโบราณ มีหลายข้อสันนิษฐาน ในหนังสือประวัติศาสตร์มหาดไทย มีระบุว่าน่าจะปรากฏราวๆ ปี พ.ศ. 1702 เมื่อมีการทำสงครามระหว่างกษัตริย์เมืองเมาและอาณาจักรโยนก เจ้าเมืองโยนกแพ้ศึกต้องอพยพผู้คนลงมาอยู่ที่เมืองแปป (กำแพงเพชรเดิม) แล้วมาสร้างเมืองไตรตรึงค์ ที่ตำบลแพรกศรีราชา หลังจากนั้นคงจะสร้าง “เมืองชัยนาท” ขึ้น ขณะที่บางข้อสันนิษฐาน บอกว่าน่าจะสร้างในสมัยพญาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ.1860-1897 ซึ่งในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงปรากฏแต่ชื่อ “เมืองแพรก” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “เมืองแพรก” หรือ “เมืองสรรคบุรี “ เมืองที่อยู่ใกล้ “เมืองชัยนาท” จนถึงกับจะเรียกว่าเป็นเมืองเดียวกันก็ได้

เจดีย์ที่วัดโตนดหลาย เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานจากหนังสือชินกาลมาลี และตำนานพระพุทธสิหิงค์ ที่กล่าวถึงเมืองชัยนาทภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย และยังมีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงชื่อ “เมืองชัยนาทบุรี” ปรากฏในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ตรงกับ พ.ศ.1897 อย่างไรก็ตาม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบันทึกกล่าวถึง “เมืองชัยนาทบุรี” ว่าได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวง

ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจเป็นข้อสันนิษฐานจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ และลิลิตยวนพ่าย มีการระบุชื่อเมืองชัยนาท แต่ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้แสดงหลักฐานชี้ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับกันในวงการประวัติศาตร์ไทย ว่าชื่อ “ชัยนาท” ในหนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองสองแคว หาใช่เมืองชัยนาทที่เป็นจังหวัดชัยนาทในปัจจุบันไม่ และมีหลักฐานเพิ่มขึ้นคือ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ สุโขทัย กล่าวว่าเจ้าสามพระยาเคยเสด็จมาทำบุญที่เมืองสุโขทัยพร้อมกับพระมารดาและน้า เวลาที่เสด็จมาทำบุญที่สุโขทัยนั้นเป็นเวลาที่ทรงครองอยู่ที่เมืองชัยนาทในฐานะลูกหลวง การที่เจ้าสามพระยาทรงมีเชื้อสายทางราชวงศ์สุโขทัยด้วย จึงสมเหตุผลว่าทรงได้ครองเมืองชัยนาท ซึ่งคือเมืองที่พิษณุโลกหรือเมืองสองแควเดิมนั่นเอง

เจ้ายี่พระยา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งไปปาฐกถาที่ อ.สรรคบุรี ปี 2510 สันนิษฐานว่าสาเหตุที่สถาปนาให้เมือง “ชัยนาทบุรี” เป็นเมืองลูกหลวงนั้น อาจเป็นเหตุผลทางทหารมากกว่าอย่างอื่น นับแต่สมัยที่สมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ อาจยังไม่ไว้วางใจราชอาณาจักรทางฝ่ายเหนือ ดังนั้น จึงทรงให้พระราชโอรส 3 พระองค์ ไปครองหัวเมืองรอบๆ กรุงศรีอยุธยา เพื่อคอยรับสถานการณ์ โดยให้เจ้าอ้ายไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่ไปครองเมืองสรรคบุรี และเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทบุรี

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังกล่าวไว้อีกว่า เมืองชัยนาทมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงนั้น แต่จะดำรงตำแหน่งสำคัญนี้นานเท่าไหร่ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ตามหลักฐานใน พ.ร.บ.ศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งว่ากันว่าออกในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรฯ พ.ศ.2121-2136 เมืองชัยนาทได้ลดฐานะลงไปเป็นเมืองจัตวา ขณะที่ระบุถึงเมืองเอกมีอยู่เพียงสองเมือง คือเมืองพิษณุโลก ในภาคเหนือ และเมืองนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ จึงนับว่าช่วงนี้เมืองชัยนาทได้ขาดความสำคัญด้านทหารและด้านเศรษฐกิจไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เมืองชัยนาทจึงค่อยๆ เล็กลง

เจดีย์วัดพระบรมธาตุ คล้ายกับเจดีย์แบบศรีวิชัย

มาในสมัยกรุงธนบุรี เมืองชัยนาทยังคงเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีกล่าวถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพขึ้นมาตั้งค่ายที่ “เมืองชัยนาท” เพื่อขับไล่พม่า ซึ่งกำลังรบติดพันกับกองทัพไทยที่เขตเมืองนครสวรรค์ กองทัพของพระเจ้าตากไล่ติดตามทัพพม่าและตีข้าศึกพ่ายไปในที่สุด

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ให้สร้างศาลากลางจังหวัดชัยนาทขึ้นที่ ต.บ้านกล้วย ต่อมารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงจัดตั้งการปกครองเป็นแบมณฑลเทศาภิบาล ให้ยุบและรวมหัวเมืองทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำปิง คือ เมืองชัยนาท สรรคบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองพยุหคีรี เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร เมืองตาก รวม 8 หัวเมือง ขึ้นตรงต่อข้าหลวงเทศาภิบาลและตั้งที่ว่าการ “มณฑลนครสวรรค์”

รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯมาถึงเมืองชัยนาท ภาพจากวัดธรรมามูล

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 8 ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น และยินยอมให้ญี่ปุ่นยกกองทัพผ่านประเทศไทยไปยังพม่า และยอมให้ใช้ท่าเรือที่จังหวัดชัยนาท เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงสัมภาระไปยังฐานบินตาคลีนานถึง 4 ปีเศษ ขณะเดียวกันเมืองชัยนาทก็เป็นเขตปฏิบัติของหน่วยก่อวินาศกรรมสังกัดขบวนการเสรีไทยด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมืองชัยนาทตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญบนลำน้ำถึงสามสาย จึงเป็นเมืองเก่าแก่ทางตอนเหนือของภาคกลาง และตั้งอยู่ระหว่างกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ยามใดที่กรุงสุโขทัยเรืองอำนาจก็จะยึดเอาเมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่าน แต่ยามใดที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง “ชัยนาท” ก็จะกลายเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองที่ใช้สะสมเสบียงอาหารและอาวุธในการรบระหว่างไทยและพม่า เป็นสมรภูมิสงครามทุกยุคทุกสมัย ดังนี้แล้ว ความน่าสนใจของ “เมืองชัยนาท” จะไม่ลงไปศึกษาหาความจริงได้อย่างไร?


รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล “ชัยนาท-สรรคบุรี” รอยต่อสองวัฒนธรรม

“ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ จ.ชัยนาท ในปัจจุบัน จะมีเมืองโบราณอยู่สองเมืองสำคัญ คือเมืองแพรกศรีมหาราชา ปัจจุบันคือ อ.สรรคบุรี เมืองที่สองคือชัยนาท ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมเมืองแพรกศรีมหาราชามีความสำคัญมาก ถือเป็นเมืองลูกหลวงของสุพรรณภูมิ เพราะตอนนั้นราชวงศ์สุพรรณ ตั้งเมืองที่เมืองสุพรรณ เมืองแพรกศรีมหาราชาก็เท่ากับเป็นเมืองอันดับสองรองจากสุพรรณ สิ่งที่น่าสังเกตคือเราจะพบว่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นสมัยอยุธยาตอนต้น จะไปพบที่แพรกศรีมหาราชาทั้งสิ้น และองค์ก็ใหญ่พอสมควร..

..เมืองแพรกศรีราชานั้น ตั้งเมืองอยู่สองฝั่งแม่น้ำน้อย มีคลองควายตัดเป็นสี่แยก ฉะนั้นที่เรียกว่า “แพรก” ในภาษาเขมรแปลว่า “ทางแยก” ปากแพรกก็คือปากทางแยก ต่อมาเนื่องจากวงศ์สุพรรณให้ความสำคัญกับตัวพระนครศรีอยุธยามากยิ่งขึ้น และย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่อยุธยา เมืองแพรกศรีราชาจึงลดความสำคัญลง เพราะไม่ได้คุมเส้นทางผ่านแล้ว ดังนั้น ทางเส้นใหม่ที่กรุงศรีอยุธยาต้องเซ็ตขึ้นใหม่ก็คือ “ชัยนาท” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา..”

วิหารเก้าห้อง ที่วัดมหาธาตุ

“..หากจะพูดถึงตำแหน่งเมืองชัยนาทเก่าครั้งกรุงเก่า คืออยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถามว่าทำไมต้องตั้งตรงจุดนี้ ก็เพราะว่าตรงนี้มันคุมทางแยกลำน้ำใหญ่หลายสาย แม้กระทั่งทางปากคลองมะขามเฒ่าที่ไหลไปเป็นแม่น้ำสุพรรณและแม่น้ำท่าจีน และปากแม่น้ำน้อย เพราะฉะนั้นเมืองชัยนาทจึงตั้งอยู่ที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เมืองชัยนาทที่พบในหลักฐานจารึกวัดส่องคบ (พ.ศ.1952-1953) บอกว่าเมืองชัยนาทชื่อเดิม คือ “เมืองไชยสถาน” ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น “ชัยนาท” เปลี่ยนเมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ ชื่อชัยนาทในสมัยโบราณ หมายถึงเมืองพิษณุโลก เพราะฉะนั้นหมายความว่า ที่ “ไชยสถาน” เปลี่ยนไปเป็นชัยนาท ก็เมื่อ “ชัยนาท” เปลี่ยนชื่อมาเป็นพิษณุโลก ไชยสถานจึงเปลี่ยนมาเป็นชัยนาท ซึ่งหลักฐานตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเปลี่ยนช่วงรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถลงมา เพราะว่าชัยนาทเปลี่ยนเป็นพิษณุโลก คือช่วงพระบรมไตรโลกนาถ..”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

“ความสำคัญของชัยนาท พบว่าในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อหงสาวดียกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาก็ต้องมาแวะพักทัพที่ชัยนาทก่อน แล้วก็ค่อยยกทัพเดินลงไป ชัยนาทหลังเสียกรุงครั้งที่ 1 น่าจะลดความสำคัญลง ทั้งอยุธยาตอนต้นและอยุธยาตอนกลาง เพราะเราไม่ค่อยพบโบราณสถานขนาดใหญ่ในเขตชัยนาทนี้ ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เข้าใจว่าในตอนนั้นทางราชสำนักมุ่งเน้นไปที่หัวเมืองที่จะลงไปทางเพชรบุรี ออกไปตะนาวศรี เมืองมะริด มากกว่า และที่สำคัญคือเวลาหงสาวดียกทัพมา จะประชุมทัพอยู่แถวเส้นทางนิยมที่สุดคือทางด่านเจดีย์สามองค์ เพราะฉะนั้น ชัยนาทจึงไม่ใช่ทางยุทธศาสตร์แล้ว”

เจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุ รูปแบบเดียวกับที่ลพบุรี

สำหรับ “ชัยนาท” ในปัจจุบัน อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ รามคำแหง ผู้นี้บอกว่าชัยนาทในปัจจุบันอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าใจว่าน่าจะย้ายเมืองคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ถามว่าทำไม ก็เพราะเวลาพม่ายกทัพมาทางฝั่งตะวันตก เท่ากับมีแม่น้ำเจ้าพระยามาคั่นรับศึกกับพม่า

“..ความสำคัญของชัยนาท นอกจากเป็นเมืองสำคัญแล้ว ยังพบว่าชัยนาทเป็นเมืองส่งเหล็กเข้ากรุงศรีอยุธยาด้วย แล้วทำไมชัยนาทถึงดร็อปลงไปอีก เหตุผลคือมีทางรถไฟเกิดขึ้นแล้วไม่ผ่านชัยนาท แต่ไปปากน้ำโพ นครสวรรค์ เมืองก็ไปเจริญอยู่ปากน้ำโพอย่างเดียว ชัยนาทก็เล็กลง ฟีบลง ยิ่งตอนหลังถนนพหลโยธินก็ไม่ผ่านอีก ก็ยิ่งฟีบไปเลย ดีไม่ดียังเล็กกว่าตัวเมืองอู่ทองด้วยซ้ำไป นั่นแหละ..เป็นเรื่องของชัยนาททุกวันนี้”

การเดินทางไป “สรรคบุรี-ชัยนาท” ครั้งนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์แจงคร่าวๆ ว่าเส้นทางหลักที่จะไปดู คือ “วัดมหาธาตุ” ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองแพรก และตั้งอยู่กลางเมือง

มหาธาตุเจดีย์ ที่วัดมหาธาตุ ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น

“..ยอดเจดีย์ของพระธาตุองค์นี้ทลายลงไปตั้งนานแล้ว แม้รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ก็ไม่มียอดแล้ว แต่วัดมหาธาตุแห่งนี้จะพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรเยอะมาก อีกอย่างคือชุมชนแถวนี้ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เพราะเลยเมืองแพรกศรีราชาไปหน่อยเป็นเมืองดงคอนแล้ว ซึ่งดงคอนเป็นเมืองชุมทางศูนย์กลางเก่า เข้าใจว่าเกิดดงคอนก่อนแล้วย้ายมาเมืองแพรกศรีราชา ความเจริญก็ตามมา แล้วไปดู “วัดพระแก้ว” ที่เจอทัพหลังเขมร วัดพระแก้วเมืองสรรค์เป็นกลุ่มเจดีย์ที่นิยมมากในซีกตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเจดีย์แบบนี้เป็นเจดีย์ที่พัฒนามาจากสมัยทวารวดี”

ทับหลังที่ติดอยู่กับหลังหลวงพ่อฉาย ที่วัดพระแก้ว

อาจารย์รุ่งโรจน์ตบท้ายด้วยข้อคิดเห็นแบบจี๊ดๆ เมื่อถามถึงการจัดการกับเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองโบราณว่าควรทำอย่างไร

“จริงๆ แล้ว เมืองโบราณทุกเมืองในประเทศไทยขาดการศึกษาอย่างเป็นหลักเป็นฐานไปแทบทั้งหมด ไม่ใช่ชัยนาทเมืองเดียว เมืองสุพรรณบุรีใหญ่กว่าชัยนาทอีก ยังไม่มีการศึกษาเลย ไม่ต้องอะไรมาก เอาแค่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ถามว่าผังเมืองโบราณของกรุงเทพฯ เป็นยังไง ยังใบ้กันอยู่เลย เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องปกติของคนไทยที่เขาไม่ค่อยสนใจทางด้านนี้เท่าไหร่”

เจดีย์ที่วัดพระแก้ว รูปแบบหนึ่งของศิลปะอู่ทอง ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีเจดีย์” ของไทย

“.. จริงๆ ถามว่าชัยนาทมันเป็นประวัติศาสตร์ซีกหนึ่งของวงศ์สุพรรณ อย่าลืมนะครับว่าแพรกศรีมหาราชา เป็นรอยต่อแดนกับพระบางคือนครสวรรค์ เพราะฉะนั้น ตรงนี้คล้ายว่าเป็นพื้นที่ที่สบกันระหว่างสองวัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน เพราะฉะนั้น สิ่งของที่พบตอนบนจะพบที่เมืองแพรกบ้าง ขณะที่คาแรกเตอร์ของเมืองแพรกก็ไปพบแถวเมืองพระบางก็มี แลกกันไปแลกกันมา..”

ที่กล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเพียงเสี้ยวเดียว ถึงความสำคัญของชัยนาท-สรรคบุรี ส่วนเรื่องราวอันหลากหลายและข้อคิดเห็นที่จะทำให้มอง “ชัยนาท” เปลี่ยนไปจากความคิดและความเข้าใจแบบเดิมๆ นั้นจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามไปฟังในพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มเดินทางในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 รายการทัวร์กับมติชนอคาเดมี ตอน “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

คลิกอ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://bit.ly/2Q5oOZJ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy