ครั้งหนึ่งในชีวิต! ไหว้ 2 พระธาตุแดนอีสาน สัมผัสศิลปะขอม-จาม ฟังตำนานอุรังคธาตุริมโขง

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ชนชาติกลุ่มดินแดนถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะไทยเรานั้นมีคติความเชื่อในการสร้างมหาสถูปเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งมีพัฒนาการเรื่อยมา และเกิดการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นมากมาย

แต่ในแดนอีสานจะไม่พูดถึง “พระธาตุพนม” อ.ธาตุพนม จ.นครพนม คงไม่ได้ เพราะเป็นที่รู้จักและสนใจของประชาชนทั่วไปรวมไปถึงนักวิชาการ ด้วยความน่าสนใจที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำนานอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระของพระพุทธเจ้า) ความเชื่อเรื่องพญานาคที่ปกปักดูแลพระธาตุพนม หรือเรื่องการบูรณะองค์พระธาตุที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ที่สามารถเชื่อมโยงได้หลากหลายมิติ

ตามตำนานอุรังคธาตุพูดถึงการสร้างพระธาตุพนมอยู่ว่า สร้างขึ้นราว พ.ศ.8 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรศรีโคตบูรณ์เจริญรุ่งเรือง โดยหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะพร้อมพระอรหันต์รวม 500 องค์ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังดินแดนนี้ และได้เจ้าเมืองทั้ง 5 ตามตำนานร่วมกันสร้างพระธาตุขึ้น

พระธาตุพนมในปัจจุบัน

ถึงแม้ตามตำนานจะระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.8 แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า รูปแบบดั้งเดิมของพระธาตุพนมน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร-จาม โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ 5 มหาเจดีย์สยาม ระบุว่า

“นักวิชาการสันนิษฐานว่ารูปแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างน่าจะมีรูปทรงปราสาทเขมร ที่สร้างขึ้นในสมัยก่อนเมืองพระนคร มีชื่อเรียกว่าแบบ ไพรกเมง-กำพงพระ เนื่องจากปราสาทที่สร้างในช่วงสมัยนี้มักทำเรือธาตุเป็นห้อง ก่ออิฐเรียบ มีการประดับด้วยเสากลมที่วางคั่นอยู่เป็นระยะๆ บัวหัวเสาทำเป็นรูปกลม ซึ่งเหมือนกับที่พบในส่วนเรือนธาตุขององค์พระธาตุพนมนั่นเอง

“หรือไม่เช่นนั้นก็อาจมีรูปร่างคล้ายกับปราสาทในศิลปะจาม ที่สร้างในสมัยฮั่วล่าย (Hoa-Lai) และดงเดือง (Doug Doung) ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 คือกว่าพันปีมาแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากเสาติดผนังขององค์พระธาตุพนมมีแถบลวดลายประดับอยู่ตรงกลางเสา เหมือนกับที่พบตามปราสาทในศิลปะจามเป็นอย่างมาก”

วิวัฒนาการรูปแบบพระธาตุพนม

 

อย่างไรก็ตาม การบูรณะมาแล้วหลายครั้งของพระธาตุพนมทำให้องค์พระธาตุมีรูปแบบศิลปะที่แตกต่างจากของเดิมไปอยู่มาก โดยการบูรณะครั้งที่สำคัญเห็นจะเป็นสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระเถระชาวลาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นบูรณะครั้งที่ 3 เมื่อราว พ.ศ.2233-2235 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในส่วนของเรือนยอด ที่กลายเป็นศิลปะล้านช้าง

การบูรณะสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นใน พ.ศ.2483 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้า สร้างเสริมครอบพระธาตุพนมองค์เดิม และตกแต่งด้วยลวดลายแบบเครื่องคอนกรีตสกุลช่างภาคกลาง การบูรณะครั้งนั้นส่งผลให้ยอดพระธาตุพนมสูงขึ้นไปอีก 10 เมตร รวมเป็น 57 เมตร ก่อนความสูงนี้จะทำให้พระธาตุพนมพังทลายลงในปี พ.ศ.2518 ทำให้พบพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ในผอบแก้ว มีสีขาวแวววาวคล้ายกับแก้วผลึก ภายในผอบมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงอยู่และมีพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ 8 องค์

จากนั้นกรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จ และได้จัดงานสมโภชพระอุรังคธาตุขึ้น 7 วัน 7 คืน ซึ่งในงานนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีด้วย

ร่องรอยรูปทรงเดิมของพระธาตุพนมในสมัยหนึ่งที่เรายังสามารถหาชมได้คือที่ “พระธาตุเรณู” อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งเป็นพระธาตุก่ออิฐถือปูน สร้างในปี พ.ศ.2461 โดย อ.เม้า วงษา และอุปัชฌาย์อินทร์ โดยรูปแบบของพระธาตุเรณูนั้นจำลองมาจากรูปทรงเดิมของพระธาตุพนม (องค์ก่อนบูรณะในปี 2483) แต่มีขนาดเล็กกว่า สูงประมาณ 35 เมตร ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน รวมทั้งของมีค่าที่เจ้าเมืองและประชาชนมีศรัทธาบริจาค

พระธาตุเรณู รูปแบบพระธาตุจำลองจากพระธาตุพนมองค์เดิม

ความน่าสนใจไม่เพียงอยู่ที่พระธาตุเรณูองค์สีชมพูสวยงามแปลกตาเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่บริเวณที่ตั้งของพระธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ในถิ่นฐานของ “เรณูนคร” ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวภูไทหรือผู้ไท ที่มาตั้งถิ่นฐานเมื่อราวปลายศตวรรษที่ 24 และยังคงอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ประเพณีการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ และการฟ้อนรำผู้ไท เป็นต้น

โบราณสถานอีกแห่งที่หากไปเยือนพระธาตุพนมแล้วไม่แวะชมไม่ได้ก็คือ “วัดหัวเวียงรังษี” ตั้งอยู่ใน อ.ธาตุพนม ความน่าสนใจคือ สิม หรือพระอุโบสถที่วัดนี้เป็นสิมศิลปะล้านช้าง ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เนื่องจากอิฐที่ก่อสิมนั้นเป็นรุ่นเดียวกัน ภายในสิมเหนือช่องหน้าต่างมีจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติ และรามเกียรติ์ ที่ความพิเศษคือรูปแบบจิตรกรรมนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างล้านช้างและกรุงเทพฯ

‘สิม’ หรือพระอุโบสถวัดหัวเวียงรังษี จ.นครพนม

กลับเข้ามาสู่เรื่องพระธาตุในแดนอีสาน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าพระธาตุพนมนั้นแรกเริ่มเดิมทีนั้นน่าจะเป็นศิลปะแบบเขมร-จาม แต่ร่องรอยของศิลปะเขมรที่เห็นได้ชัดเจนในแถบอีสานเหนือนั้นอยู่ที่ จ.สกลนคร มากกว่า หนึ่งในนั้นคือพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองชาวสกลฯก็คือ “พระธาตุเชิงชุม” พระธาตุสีขาวเรียบ ไม่มีลวดลาย ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมือง ตามตำนานเล่าว่าพระธาตุเชิงชุมแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชาวเมืองหนองหาร จ.สกลนคร มีหลักฐานคือรอยพระพุทธบาท ที่เป็นที่เคารพของชาวเมืองหนองหารทุกคน

พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

ถึงแม้รูปแบบของพระธาตุเชิงชุมที่เห็นในปัจจุบันจะเป็นศิลปะล้านช้าง แต่จากหลักฐานซึ่งก็คือจารึกอักษรขอมบริเวณซุ้มประตูด้านล่างของพระธาตุ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระธาตุเชิงชุมนั้นเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ดังนั้น ในอดีตสกลนครก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีชาวขอมโบราณอาศัยอยู่

จารึกอักษรขอมที่ซุ้มประตูด้านล่างของพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

หลักฐานที่ช่วยยืนยันการอยู่อาศัยของชาวขอมโบราณในสกลนครอีกชิ้นก็คือ “พระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งเป็นปราสาทก่อด้วยหินทราย น่าจะได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน หรือสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 สิ่งที่น่าสนใจของพระธาตุนารายณ์เจงเวงนั้นนอกจากจะอยู่ที่ตัวปราสาทแล้ว ยังอยู่ที่แผ่นทับหลังที่สลักเป็นรูปพระกฤษณะกำลังประลองกำลังกับสิงห์ และหน้าบันเป็นรูปพระศิวนาฏราช (ฟ้อนรำ) รวมทั้งรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

พระธาตุนารายณ์เจงเวง

พระธาตุอีกแห่งในสกลนครที่เป็นศิลปะแบบบาปวนก็คือ “พระธาตุดุม” ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวงแต่องค์เล็กกว่า โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์กลางเท่านั้น ที่น่าสนใจคือทับหลังที่อยู่บริเวณเหนือประตูหลอก ซึ่งหลังจากบูรณะแล้วเหลือทับหลังอยู่เพียงด้านเดียวคือด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นลวดลายรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง สิงห์ และใบไม้ม้วน

พระธาตุดุม จ.สกลนคร ศิลปะแบบบาปวน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16

ศิลปะเขมรในนครพนมอีกแห่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “สะพานขอม” หรือสะพานหิน ที่พบแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อด้วยศิลาแลง แต่เดิมเชื่อว่าเป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหานหลวง โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองคือไปสู่ชุมชนบ้านนาเวง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นิพนธ์เกี่ยวกับสะพานขอมแห่งนี้ไว้ด้วย

สะพานขอมหรือสะพานหิน พบแห่งเดียวในประเทศไทยที่จังหวัดสกลนคร

ตั้งแต่ยุคโบราณเป็นพันๆ มาแล้ว ผ่านมาถึงล้านช้าง จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่า “นครพนม” และ “สกลนคร” เป็นดินแดนแห่งแรงศรัทธาในอีสานเหนือที่มีการผันแปรทางวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตคงต้องไปสัมผัสให้ได้!!!


“มติชนอคาเดมี” จัดทริปเดินทาง ชวนทุกท่านสักการะพระธาตุแดนอีสาน ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ สัมผัสศิลปะขอม-จาม ในทัวร์ ไหว้ 2 พระธาตุแดนอีสาน ฟังตำนาน “อุรังคธาตุ-นาคนคร” ริมโขง วันที่ 19-20 มกราคม 2562 นำชมและบรรยายโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดี-ผู้วิเคราะห์สมบัติในองค์พระธาตุพนม ราคา 9,500 บาท (ไป-กลับเครื่องบิน พักโรงแรมหรูริมแม่น้ำโขง)

อ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_21931

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy