เปิดเหตุผล ทำไม “เมืองศรีเทพ-ปราสาทพนมรุ้ง” ถึงควรเป็น “มรดกโลก”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา

“แหล่งมรดกโลก” แค่ได้ยินคำนี้เชื่อว่าหลายคนก็รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ และคุณค่าของสิ่งนั้น เพราะไม่เป็นเพียงเครื่องการันตีว่าสถานที่เหล่านี้สำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ แต่ยังได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญาด้วย

ในประเทศไทยเองมีแหล่งมรดกโลก 5 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศ แต่การจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้รับการยอมรับและผ่านเกณฑ์ประเมินจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)

โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ 2 แหล่ง ได้แก่ 1.เมืองโบราณศรีเทพ ภายใต้ชื่อ The Ancient Town of Si Thep และ 2.กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด ภายใต้ชื่อ Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuaries ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่แหล่งมรดกอันทรงคุณค่าของไทย จะได้ก้าวเข้าสู่การเป็นมรดกโลก

โบราณสถานทั้ง 2 แห่งมีความสมควรก้าวสู่การเป็นมรดกโลกอย่างไรนั้น ลองไปดูแนวคิดและความคิดเห็นจากวงเสวนาเรื่อง “คุณค่าอันโดดเด่นของศรีเทพและพนมรุ้งกับการเข้าสู่มรดกโลก” ในงาน 108 ปี การสถาปนากรมศิลปากร ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

นางสุริยา สุดสวาท หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กล่าวว่า เมืองศรีเทพตั้งอยู่ลึกเข้ามาตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงของพื้นที่ที่เป็นแอ่งอารยธรรมอีสานและแอ่งอารยธรรมของภาคกลาง พื้นที่ตั้งเมืองประกอบด้วย 2 ส่วน คือ พื้นที่เมืองใน มีเนื้อที่ 1,300 ไร่ และพื้นที่เมืองนอก 1,589 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ สถานที่ที่มีความสำคัญของศรีเทพคือ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และมีโบราณสถานขนาดเล็กกระจายอยู่ถึง 45 แห่ง

เขาคลังนอก เมืองศรีเทพ

“เมืองศรีเทพ เป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นเมืองโบราณที่มีวัฒนธรรมในช่วงทวารวดี และมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีคูน้ำคันดินที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายในการนับถือศาสนา โดยส่วนใหญ่จะนับถือพระพุธศาสนาแบบเถรวาท มีบางกลุ่มที่นับถือศาสนาฮินดู และมีกลุ่มเล็กๆ ที่นับถือพระวิษณุ ซึ่งปัจจุบัน หากมองจากหลักฐานที่ตั้งแล้ว เมืองศรีเทพยังมีสภาพของเมืองที่สมบูรณ์ มีโบราณสถานต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองนี้อยู่” นางสุริยากล่าว

นางสุริยากล่าวต่อว่า เมืองศรีเทพสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในมรดกโลก เนื่องจากเข้ากับเกณฑ์คุณค่าข้อที่ 2 ที่กล่าวว่า เป็นการแสดงออกของความสำคัญและการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ที่วัฒนธรรมใดๆของโลกในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี ศิลปะ สถาปัตยกรรมการออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ 3 ที่กล่าวว่า เป็นเอกลักษณ์หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม

ปรางค์สองพี่น้อง ที่เมืองศรีเทพ

“ทั้งนี้ เมืองศรีเทพได้รับการคุ้มครองและประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่เมืองโบราณไว้แล้ว รวมถึงโบราณสถานย่อยอย่างปรางค์ฤๅษี เขาคลังนอก ที่มีการบูรณะโบราณสถานตามหลักวิชาการอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าอุทยานศรีเทพ มีคุณสมบัติที่พร้อมเข้าสู่การเป็นมรดกโลก” นางสุริยากล่าว

ด้าน “รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี” คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ความโดดเด่นของศิลปกรรมที่เมืองศรีเทพมีหลายอย่าง เมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป อีกทั้งยังมีการปรากฏร่วมกันของศิลปกรรมหรือศาสนสถานหลายศาสนา หลากนิกาย ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีความหลากหลายทางศาสนาสูงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในศรีเทพคือเขาคลังนอก ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีการยกเก็บที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะทวารวดี และมีการจัดวางผังแบบมณฑลตามแบบพุทธศาสนามหายาน ถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่สามารถโปรโมทได้

รศ.ดร.เชษฐ์กล่าวอีกว่า ขณะที่ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทที่มีการวางผังประติมาวิทยาที่แสดงให้เห็นภาพปรากฏของพระศิวะอย่างครบถ้วนทั้ง 3 ภาพ คือ ทางทิศใต้ สัมพันธ์กับภาพเล่าเรื่องไศวนิกาย ในขณะที่ทางทิศเหนือสัมพันธ์กับภาพเล่าเรื่องไวษณพนิกาย ทางเข้าทิศตะวันออก สัมพันธ์กับพระศิวะผู้ยิ่งใหญ่เหนือพระวิษณุ และทิศตะวันตก สัมพันธ์กับพระวิษณุ

น.ส.พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า นอกจากเทวสถานปราสาทพนมรุ้งแล้ว สิ่งที่เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าเช่นเดียวกันก็คือ ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งเทวสถานเหล่านี้ตั้งอยู่คาบเกี่ยวระหว่าง 2 อำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ คืออำเภอเฉลิมพระเกียรติและอำเภอประโคนชัย โดย “ปราสาทพนมรุ้ง” จะตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับแล้ว สูงจากพื้นที่ราบประมาณ 200 เมตร โดยจะสร้างด้วยหินทรายสีชมพูทั้งหมด มีอาคารต่างๆ อยู่ในแกนเดียวกัน เมื่อวางตำแหน่งประตูทุกช่องให้ตรงกันและมีธรณีประตูทุกช่องอยู่ในระดับเดียวกัน จะทำให้ใน 1 ปีพระอาทิตย์สามารถส่องแสงผ่านประตูทุกช่องได้ตรงกันถึง 4 ครั้ง โดยจะมีพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง และพระอาทิตย์ตก 2 ครั้ง นอกจากนี้จากการสำรวจด้วยเทคโนโลยี Lida พบว่าบนเขาพนมรุ้งยังมีโบราณสถานเพิ่มเติมที่ยังไม่ได้ลงไปทำการสำรวจอย่างละเอียดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

ปราสาทพนมรุ้ง

“ถัดมาที่ ปราสาทเมืองต่ำ จะอยู่ถัดจากปราสาทพนมรุ้งประมาณ 3 กิโลเมตร ลักษณะเด่นจะมีบารายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ โดยภายในจะประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรม เช่น กำแพงแก้ว ซุ้มประตู สระน้ำรูปตัวแอล ระเบียงคต และปราสาทอิฐ 5 หลัง ส่วนโบราณสถานส่วนสุดท้ายคือ ปราสาทปลายบัด บนเขาปลายบัดจะมีปราสาทหลักๆ อยู่ 2 องค์ คือปราสาทปลายบัด 1 และปราสาทปลายบัด 2 นอกจากนี้ยังพบประดิษฐานมากมายจากการสำรวจด้วยเทคโนโลยี Lida” น.ส.พิมพ์นารากล่าว

น.ส.พิมพ์นารากล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์ที่นำมาพิจารณา คือ 1.ปราสาทพนมรุ้งและปราสาทปลายบัด 1 และ 2 เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ เกณฑ์ที่ 2 คือ การสร้างระบบการจัดการน้ำเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญภายในกลุ่มเทวสถานด้วยการดัดแปลงปากปล่องภูเขาไฟเป็นสระน้ำ การสร้างคันบังคับน้ำเชื่อมต่อกับธรรมชาติเพื่อให้ไหลลงสู่บารายเมืองต่ำ เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนบนพื้นที่ราบ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เกิดกลุ่มเทวสถานอันทรงคุณค่า มีเอกลักษณ์ เป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียวในโลก มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ศิลปกรรม รวมถึงยังคงความงดงามและความครบถ้วนสมบูรณ์

ปราสาทเมืองต่ำ

“การศึกษาและบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2514 โดยรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยวิธีการบูรณะตามมาตรฐานและหลักการ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสงวนรักษาและแสดงคุณค่าทางสุนทรียะและประวัติศาสตร์ โดยยึดถือในเรื่องวัสดุดั้งเดิมและคงไว้ตามลักษณะเด่น แม้เวลาจะเปลี่ยนไปแต่ลักษณะความสำคัญของเทวสถานและภูมิประเทศในแบบเดิมก็ยังคงอยู่ จึงสมควรที่จะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า ปัจจุบันมรดกโลกมีมากกว่าหนึ่งพันแห่ง การกลั่นกรองขึ้นบัญชีจึงต้องมีการคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้มรดกโลกยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า การจะเสนอให้สถานที่ใดสถานที่หนึ่งให้เป็นมรดกโลก จึงต้องมีการปรับปรุงและดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้คุณค่าของโบราณสถานถูกทำลาย รวมถึงต้องมีทีมงานที่มีความสามารถเฉพาะด้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล และติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลเสียไปสู่ต่อมรดกโลก

“กลุ่มโบราณสถานทั้งเมืองศรีเทพและปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็นมรดกของไทยที่พึ่งจะผ่านคณะกรรมการมรดกโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ จึงอยากให้มีการรักษาความเป็นโบราณสถานให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเขาพนมรุ้ง ที่เปรียบเสมือนเทวสถานที่เป็นทิพยวิมานของพระศิวะ นอกจากจะตั้งอยู่บนภูเขาขนาดใหญ่ที่นับว่าหาจากที่ไหนไม่ได้แล้ว ยังเป็นเมืองโบราณสถานก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีความรุ่งเรืองในด้านการค้าขายเป็นอย่างมาก” นางสาวิตรีกล่าวทิ้งท้าย

หนทางจากนี้จะเป็นอย่างไร เราคนไทยก็คงต้องเอาใจช่วยกันต่อไป!