สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในการพยุหยาตราทางชลมารคก็คือ “เสียงเห่เรือ” ซึ่งเปรียบเสมือนการเริ่มต้นพระราชพิธีอันสูงค่าของปวงชนชาวไทย เสียงเห่ที่สอดประสานกับเสียงดุริยประโคมอย่างกลมกลืนนี้ นอกเหนือจากทำให้เกิดความไพเราะงดงามในขบวนพยุหยาตราแล้ว ยังเป็นสัญญาณให้ฝีพายจำนวนมากรับรู้จังหวะการพายให้พร้อมเพรียงกัน กระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม เปลี่ยนความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากระยะทางที่ยาวไกล ให้กลายมาเป็นความสนุกสนานรื่นเริงแทน
ตั้งแต่สมัยโบราณกาล ท่วงทำนองในการเห่เรือแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ “ช้าละวะเห่” หรือเรียกว่า “เห่ช้า” เป็นท่วงทำนองช้า ใช้เริ่มต้นในการเห่ ทำนองไพเราะ ฝีพายพายช้าๆ เนิบๆ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในขบวนทุกลำไปพร้อมๆ กัน อย่างช้าๆ บทนี้ขึ้นต้นว่า….“เห่เอ๋ย…พระเสด็จ…โดย…แดน (ลูกคู่รับ โดยแดนชล)” การเห่ทำนองช้าละวะเห่นี้ ฝีพายจะอยู่ในท่าเตรียมพร้อม จนกระทั่งลูกคู่รับท้ายต้นเสียง จึงเริ่มจังหวะเดินพายจังหวะที่ 1 บทเห่ที่เป็นตัวอย่างในตอนที่เป็นทำนองช้าละวะเห่ คือ บทที่เป็นกาพย์ยานีบทแรก ในพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ความว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน”
ต่อมา คือ “มูลเห่” หรือ “เห่เร็ว” เป็นการเห่ในจังหวะกระชั้นกระชับ เร็วขึ้น เมื่อฝีพายเริ่มเข้าที่จะมีการเปลี่ยนอิริยาบท เพื่อให้ฝีพายสนุกสนานครื้นเครงขึ้น พนักงานนำเห่ แล้วลูกคู่จะรับว่า “ชะ…ชะ…ฮ้าไฮ้” และต่อท้ายบทว่า เฮ้ เฮ เฮ เฮ…เห่ เฮ ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิมตามจังหวะกระทุ้งเส้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในตำนานเห่เรือว่า มูลเห่ คงหมายความว่า เห่เป็นพื้น ใช้ขณะพายเรือทวนน้ำ ต้องพายหนักแรง จึงพายจังหวะเร็วขึ้น และใช้เห่ทำนองเร็ว มีพลพายรับ “ฮะไฮ้” มูลเห่ จึงเป็นทำนองยืนพื้น พนักงานเห่จะร้องตามบทเห่เป็นทำนอง แล้วฝีพายจะรับตลอด จึงเป็นทำนองที่สนุกสนานด้วย ใช้ประกอบการพายพาขบวนเรือไปจนเกือบถึงที่หมาย
“สวะเห่” พนักงานนำเห่และพลพายจะต้องจำทำนองและเนื้อความทำนองสวะเห่ให้แม่น เพราะต้องใช้ปฏิภาณ คะเนระยะทาง และใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะแก่สถานการณ์ นับว่าเป็นการเห่ที่ยากที่สุด แต่แสดงความสง่างามของกระบวนเรือได้ดี การเห่ทำนองนี้เป็นทำนองเห่ตอนนำเรือเข้าเทียบท่าหรือฉนวน คือ เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้ ก็เป็นสัญญาณว่า ฝีพายจะต้องเก็บพายโดยไม่ต้องสั่งพายลง บทเห่ทำนองนี้ ขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ” ลูกคู่รับ “เฮ เฮ เฮ เฮโฮ้ เฮโฮ้” วรรคสุดท้ายจบเรือพระที่นั่งก็จะเข้าเทียบท่าพอดี และจบบทเห่
โดยสรุป ปัจจุบันทำนองการเห่เรือพระราชพิธีมีอยู่ 3 ทำนองเท่านั้น หากนับรวมการเกริ่นเห่ หรือ เกริ่นโคลงด้วย ก็จะรวมเป็น 4 ทำนอง นอกจากนั้น ในปัจจุบันการเห่เรือพระราชพิธีจะใช้เฉพาะตอนเสด็จพระราชดำเนินไปเท่านั้น ตอนเสด็จพระราชดำเนินกลับ เรือแล่นทวนน้ำจะใช้วิธีขานยาว โดยพนักงานขานยาวออกเสียงว่า “เย้อว..” ซึ่งแตกต่างจากสมัยโบราณ การเห่เรือหลวงปัจจุบันได้นำเอา “กาพย์เห่เรือ” ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ทรงนิพนธ์เมื่อสมัยอยุธยามาเห่เสมอ บทร้อยกรองที่เรียกว่ากาพย์เห่เรือ มีฉันทลักษณ์โดยการเกริ่นนำด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บท ตามด้วยกาพย์ยานีไม่จำกัดจำนวนบท “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร” หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” คือแม่แบบการแต่งกาพย์เห่เรือในสมัยต่อมา
สำหรับเนื้อความกาพย์เห่เรือนั้น เป็นบทพรรณนาถึงความงดงามและลักษณะของเรือในขบวนพยุหยาตรา รวมถึงการชื่นชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำ มีบทชมนก ชมไม้ และชมปลา เสียงเห่เรือที่ไพเราะงดงามประกอบกับท่วงท่าพายเรือที่เข้มแข็ง ล้วนเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ น้ำนำพาริ้วขบวนเคลื่อนไปตามกระแสน้ำอย่างมีจังหวะจะโคน สร้างความตราตรึงให้เกิดขึ้นในใจผู้คนทั่วไปเสมอ
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะมีขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเริ่มจากท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณราชวราราม รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร
กล่าวถึงกาพย์เห่เรือที่ใช้เห่ในพระราชพิธีครั้งนี้ เป็น “กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ” บทประพันธ์ของ “นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย” อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นศิลปินดีเด่น จ.ราชบุรี และคนผู้นี้เคยประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาแล้ว 6 ครั้ง อาทิ กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร, การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามเมื่อปี 2539, กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 และกาพย์เห่เรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในโอกาสประชุมเอเปค พ.ศ. 2546 เป็นต้น
นาวาเอกทองย้อย ปัจจุบันคือศิลปินอาวุโสวัย 74 ปี ใช้ชีวิตที่ จ.ราชบุรี กล่าวถึงการเห่เรือ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ว่า เป็นการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าแผ่นดินโดยทางน้ำ มีการจัดขบวนเรือเดินทาง เป็นรูปขบวนตามลำดับ กลายเป็นแบบแผนสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้ฝีพายเป็นร้อยคน และการพายต้องเป็นจังหวะพร้อมเพรียงกัน จะให้พร้อมเพรียงก็ต้องร้องออกเสียงระหว่างจ้ำพาย เป็นการคลายความเหนื่อยล้า จึงต้องแต่งบทร้องกาพย์เห่เรือขึ้น สำหรับการจัดขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ มีเรือจำนวน 52 ลำ ดยมีเรือพระที่นั่ง 4 ลำสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
ตามแบบแผนของกาพย์เห่เรือนั้น 1 บท จะประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บท และกาพย์ยานีอีกหลายบท ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้แต่งหรือความประสงค์นำไปใช้รวมกันเรียกว่ากาพย์เห่เรือ 1 บท จากสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 10 มีการประพันธ์กาพย์เห่เรือไว้มากมาย กาพย์เห่เรือในยุคแรกแต่งขึ้นใช้เห่ในงานต่างๆ เป็นการชมความงดดงามของเรือและเครื่องแต่งกายของฝีพาย จากนั้นจึงเป็นบทชมปลา ชมนก ชมไม้ กระทั่งมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชนิพนธ์ยักเยื้องเห่ชมเครื่องคาวหวาน ต่อมามีกาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณและอื่นๆ อีก
นาวาเอกทองย้อยเล่าอีกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้น และกองทัพเรือจัดโครงการเฉลิมฉลอง 2 โครงการ คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเรือลำใหม่ และโครงการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งมีการประกวดกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ ตนจึงเขียนกาพย์เห่เรือส่งเข้าประกวด ใช้เวลาแต่งสองเดือน และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นได้ใช้กาพย์เห่เรือที่ชนะเลิศนี้เป็นบทเห่ แต่เพราะมีเพียงบทเดียว คือ บทชม “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ซึ่งความยาวไม่พอใช้ในขบวนพยุหยาตรา จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้แต่งกาพย์เห่เพิ่มเติมอีก 4 บท ได้แก่ บทชมเรือกระบวน, บทชมเมือง, บทชมวัฒนธรรมประเพณี และบทบุญกฐิน ซึ่งในอดีตไม่มีการแต่งบทนี้มาก่อน
จากกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 สู่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ซึ่งมีการแต่งกาพย์เห่เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ประพันธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งบทให้กองทัพเรือนำไปฝึกซ้อมเห่เรือต่อไป สำหรับกาพย์เห่เรือดังกล่าวมี 3 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 สรรเสริญพระบารมี แต่ละวรรคสื่อถึงความจงรักภักดีบุญคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่ทำให้ประชาชนอยู่สุขสบาย บ้านเมืองสงบสุข บทที่ 2 ชมเรือ ยังใช้บทเดิม ขบวนเรือ 52 ลำเท่าเดิม เสริมสีสันจัดรูปขบวนให้มีชีวิตชีวา บทที่ 3 บุญกฐิน แสดงถึงพระราชศรัทธาของรัชกาลที่ 10 และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น มั่นคง
ดังนั้น การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ประชาชนจะได้เห็นบรรยากาศความสนุกสนาน และความงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือ และกาพย์เห่เรือที่ขับขานดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา อันเป็นมรดกล้ำค่าที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน