พระธาตุขามแก่น หนึ่งในพระธาตุสำคัญแดนอิสาน

Culture ศิลปวัฒนธรรม

พระธาตุซึ่งเป็นที่เคารพของคนทางภาคอีสานที่สำคัญมีอยู่ทั้งหมด 5 พระธาตุด้วยกัน  ได้แก่  1.พระธาตุพนม  อยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม  2.พระธาตุบังพวนและกลุ่มสัตตมหาสถาน อยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย  3.พระธาตุศรีสองรัก  อยู่ที่ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย  4.พระธาตุเชิงชุม  อยู่ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อ.เมือง จ.สกลนคร  5.พระธาตุขามแก่น อยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง  จ.ขอนแก่น เป็นพระธาตุอีกองค์หนึ่งที่เป็นที่เคารพศรัทธาของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ยังมีพระธาตุองค์อื่นๆ อีก ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้พระธาตุทั้ง 5 องค์ที่กล่าวมา ได้แก่ พระธาตุหนองสามหมื่น อยู่ที่บ้านแก้ง ต.แก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ   พระธาตุถาดทองหรือพระธาตุตาดทอง หรือที่รู้จักกันดี พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ อยูที่ จ.ยโสธร   และยังมี “พุทธสถานลาว” เป็นชื่อเรียกครั้งอาณาจักรล้านช้าง แต่ความจริงอยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณตั้งแต่ อ.ศรีเชียงใหม่ หรือ เมืองพรานพร้าวในอดีต เมืองท่าบ่อหรือเมืองคุก จ.หนองคาย ไปจรดโพนพิสัยหรือเมืองปากห้วยหลวงในสมัยโบราณ ปัจจุบันอยู่ใน จ.บึงกาฬ   เมืองเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในชั้นในของอาณาจักรล้านช้างมาตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาฟ้างุ้ม เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 พุทธสถานที่ปรากฏหลักฐานสืบมาจนถึงปัจจุบันมีรูปแบบศิลปกรรมไม่เก่าเกินไปกว่ารัชสมัยของพระยาโพธิสาลราช ราวพุทธศักราช 2063 นอกจากนั้น โบราณสถานส่วนใหญ่ยังมีอายุหลังไปจากปี พ.ศ.2103 อันเป็นปีที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระราชโอรสของพระองค์ ทรงสถาปนานครเวียงจันทน์ขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่

กล่าวสำหรับ พระธาตุขามแก่น สถานที่หนึ่งในทัวร์ “มติชนอคาเดมี” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9-10  พฤศจิกายน 2562 นี้  มีความสำคัญและเรื่องราวที่มาน่าสนใจ เริ่มตันพระธาตุขามแก่นประดิษฐานอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ต.บ้านขาม  อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  เป็นพระธาตุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดขอนแก่นมาแต่โบราณ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

พระธาตุขามแก่น เป็นเจดีย์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำสูง 19 เมตร มีลักษณะประกอบด้วยฐานบัวคว่ำสองชั้น ลักษณะโค้งขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยเรือนธาตุและยอดธาตุ ย่อมุมกลีบมะเฟือง จากนั้นจึงเป็นส่วนปลียอดและฉัตร  ฐานด้านทิศตะวันออกและตะวันตกกว้าง 10.90 เมตรเท่ากัน รอบองค์พระธาตุมีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน สูง 1.20 เมตร ห่างจากองค์พระธาตุเฉลี่ย 2.30 เมตร ทุกด้านมีประตูเข้า-ออก อยู่ด้านทิศเหนือ 2 ช่อง และทิศใต้ 2 ช่อง กว้างช่องละ 1 เมตร

มีตำนานเล่าขานว่าประมาณ พ.ศ. 3 พระมหากัสสปได้นำเอาพระ อุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า นำไปประดิษฐานที่ภูกำพร้าและได้สร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น พระยาหลังเขียวโมรียกษตริย์ แห่งเมืองโมรีย์ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ทราบ ข่าว เกิดศรัทธาใคร่นำพระอังคารมาบรรจุไว้ด้วยกันกับพระอุรังคธาตุ จึงได้เดินทางพร้อมกับข้าราชบริพาร และพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ อัญเชิญพระอังคารธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปบรรจุในพระธาตุพนมด้วย ระหว่างทาง ได้แวะพักในบริเวณดอนมะขาม (ที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน) เพราะเป็นเวลาค่ำพอดี  บริเวณดังกล่าวมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วต้นหนึ่ง เหลือเพียงแก่นข้างใน จึงได้นำพระอังคารธาตุไปวางพักไว้ในแก่นมะขามนั้น รุ่งเช้าค่อยเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูกำพร้า สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป แต่เมื่อไปถึงปรากฎว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงต้องนำพระอังคารธาตุย้อนกลับไปถิ่นเดิม คือที่นครโมรีย์ของตน และเมื่อมาถึงดอนมะขามที่เคยพักแรม ได้เห็นมะขามต้นที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น กลับฟื้นคืนชีวิตกลายเป็นยืนต้น แตกกิ่งก้านสาขา

เขียวชอุ่ม ดูงามตาเป็นอัศจรรย์  พระยาหลังเขียวและพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ จึงตกลงใจสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม และบรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในพระธาตุ  พร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทอง โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์   ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็ได้สร้างวัดเคียงคู่พระธาตุ เมื่อพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ดับขันธ์ปรินิพพาน ประชาชนได้นำพระธาตุของพระอรหันต์บรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ใกล้พระธาตุขามแก่น เรียกว่า “ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ” มาจนทุกวันนี้

พระธาตุขามแก่น เป็นเจดีย์ที่มีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะท้องถิ่นและล้านช้าง ประตูสิมหรือโบสถ์เก่าสร้างคู่กับพระธาตุมาแต่โบราณ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง รูปทรงสวยงาม ลายฉลุไม้ที่หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และลายรวงผึ้งที่บริเวณซุ้มด้านหน้า ฝีมือประณีตงดงาม ฝาผนังบริเวณประตูสิมมีภาพวาดฝีมือชาวบ้านเป็นรูปตำรวจถือปืนยาว ถือเป็นทวารบาล แสดงถึงความร่วมมือของคนในท้องถิ่นและความเชื่อในเรื่องนรก สวรรค์ พระธาตุขามแก่นจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้คนในชุมชน ทั้งเรื่องความเชื่อและความศรัทธา ชาวบ้านมีความเชื่อในปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาติ ที่บรรจุไว้ภายในองค์พระธาตุ คือเชื่อในพุทธานุภาพที่บริสุทธิ์ ปราศจากสรรพกิเลส ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้สักการะเกิดความอิ่มเอิบใจ และยังช่วยปกปักรักษาให้ชาวขอนแก่นมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข และมีความเจริญรุ่งเรือง

************************************************

ทัวร์ ‘ทวารวดี’ ปะทะ ‘เขมร’
วัฒนธรรมไฮบริดต้นลุ่มน้ำชี
จ.ชัยภูมิ-ขอนแก่น
9-10 พฤศจิกายน 2562

เต็มอิ่มด้วยสาระกับ 2 วิทยากร
– รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ จะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมเขมร ต้นลุ่มน้ำชี
– รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมทวารวดี ต้นลุ่มน้ำชี

โปรแกรมเดินทาง >>> https://bit.ly/2MDaLsO
ราคา 7,200 บาท

📍สนใจติดต่อ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour
หรือ line : @matichonacademy