“พิชญา สุ่มจินดา” อาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เขียนพ็อคเก็ตบุ๊คเรื่อง “ถอดรหัส พระจอมเกล้า” ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายในทัวร์มติชนอคาเดมี “Back to History : คิงมงกุฎ พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช” ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2562 ที่จะถึงนี้ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย ทั้งในทางศาสนาและทางอาณาจักรด้วยพระราชสถานะที่แตกต่างกัน ขณะที่ทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับสยาม นั่นคือการก่อตั้ง “คณะสงฆ์ธรรมยุต” แม้จะมิได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงแนวพระราชดำริในการก่อตั้งพุทธศาสนาเชิงปฏิรูปของพระองค์ หากแต่สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่ทรงสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปอันปราศจากพระอุษณีษะหรือเจดีย์ทรงลังกา ล้วนสื่อความหมายโดยนัยถึงการปฏิรูปพุทธศาสนาให้เป็นแบบสมณวงศ์ของลังกา ตามแบบอย่างของพระธรรมิกราชาธิราชในอดีตพึงกระทำ และเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับพุทธศิลป์ของคณะสงฆ์ธรรมยุตในเวลาต่อมา
ครั้นเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ก็ทรงใช้พระปรีชาสามารถจากความเป็นธรรมกถึกในทางพระบาลี สร้างสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึง “พระมหากษัตริย์” โดยอ้างอิงความตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาของลังกา อันเป็นต้นรากของนิกายเถรวาทที่ทรงยึดเป็นแนวทางอย่างเคร่งครัด
พิจารณาได้จากการที่ทรงสถาปนาพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการใหม่ ให้เป็นรูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สัญลักษณ์แห่งความเป็นพระราชาธิบดี สิ่งใดที่ไม่ตรงกับความหมายตามรูปศัพท์ในพระบาลี ก็ทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเสีย ดังเช่น ทรงเลือกใช้รูป “อุณหิส” หรือ “กรอบพระพักตร์” แทนพระมหาพิชัยมงกุฎในสำรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เพื่อคงความหมายเดิมของรูปศัพท์ “พัดวาลวิชนี” ก็ทรงเปลี่ยนให้เป็น “พระแส้จามรี” เพื่อให้ตรงกับความหมายเดิมของวาลวิชนีที่แปลว่าแส้ขนจามรี ทั้งยังทรงเพิ่มพระแส้ลงไปในสำรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ควบรวมกับพัดวาลวิชนี และนับเป็นสิ่งเดียวกันให้ถูกต้องตามความหมายในพระบาลีด้วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้รูป “พระมหาพิชัยมงกุฎ” เป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ประดิษฐ์จากพระปรมาภิไธยเดิมว่า “มงกุฎ” และทรงสร้างเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ขึ้นหลายองค์ จึงไม่น่าแปลกใจ ว่า เหตุใดผู้คนในสมัยนั้นจึงโจษจันว่า การเชิญพระมหามงกุฎ
สถิตบนยอดนภศูลของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงครองราชสมบัติต่อไป
เพราะนอกจากมงกุฎจะเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในกาลต่อมาแล้ว เมื่อได้ทรงครองราชย์แล้วจริงๆ เรื่องดังกล่าวก็ดูเหมือนจะลงเอยตามที่โจษจันกัน การเชิญพระมหามงกุฏประดิษฐานบนยอดนภศูลของพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม หรือบนยอดพระเจดีย์ของวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนความหมายเชิงสัญลักษณ์จาก “ยอดวิมานพระอินทร์” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาเป็นบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ในฐานะที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์หรือทรงสร้างพระเจดีย์ดังกล่าว รวมไปถึงความหมายของสถาปัตยกรรมยอดมงกุฎหรือยอดทรงมงกุฎ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ เป็นต้นไป
อาทิ หอระฆังยอดทรงมงกุฎในวัดราชประดิษฐ พระอารามที่ทรงสถาปนาขึ้น ก็คงมุ่งหมายให้เป็นพระบรมราชสัญลักษณ์อันสื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ายู่หัว แทนที่ยอดวิมานพระอินทร์ตามอินทรคติในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่สุด