เกี่ยวกับ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

Culture ศิลปวัฒนธรรม

พระราชลัญจกรประจำรัชกาล

เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ในกรอบรูปกลมรี เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ว่า “มงกุฎ” มีฉัตรตั้งขนาบพระมหาพิชัยมงกุฎทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางแว่นสุริยกาลหรือ เพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง

พระแว่นสุริยกาลหรือเพชร มาจาก ฉายาเมื่อทรงผนวชว่า “วชิรญาณ” ส่วนสมุดตำรามาจากการที่ได้ทรง ศึกษาและมีความเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์

การสถาปนาพระอาราม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาและบูรณะพระอารามถวายในพระศาสนาตามโบราณราชประเพณี  โดยมีพระอารามทรงสถาปนาได้แก่

วัดบรมนิวาศ ทรงสถาปนาแต่เมื่อยังทรงดำรงสมณเพศ

วัดโสมนัสวิหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอุทิศพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

วัดปทุมวนาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระศิรินทราบรมราชินี

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงสถาปนาเป็นพระอารามประจำรัชกาล

วัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงให้สถาปนาเป็นพระอารามประจำพระองค์คู่กับวัดโสมนัสวิหาร

ทรงบูรณะวัดในพระนครและหัวเมืองอีก 40 กว่าวัด

พระราชดำริทรงริเริ่มใหม่

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริที่เรียกว่า เป็นสิ่งทรงริเริ่มใหม่หลายสิ่ง อาทิ “แบบอย่างพระพุทธรูป” ทรงสอบสวนใหม่ว่ามิควรมีพระเกตุมาลา คือพระรัศมี ซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียร และยังโปรดฯให้ทำผ้าครองเป็นริ้วเหมือนการครองผ้าจริงของพระสงฆ์ เป็นแบบอย่างพระพุทธรูปในรัชกาลที่ 4 สืบมา

แบบอย่างศิลปกรรมพระอารามหลวง ให้แตกต่างจากวัดราษฏร์ทั่วไป โดยวัดหลวงเท่านั้นที่มีช่อฟ้าใบระกา วัดราษฎร์ทั่วไปมีไม่ได้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงให้ออก “ประกาศให้ใช้คำว่าใส่ในที่ควร” เมื่อ พ.ศ. 2411 เกี่ยวกับการใช้คำว่า “ใส่” ให้ถูกต้อง โดยระบุว่า ควรให้ใช้คำว่า “ใส่” กับของไม่มีตัว อันหมายถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นนามธรรม คือ ใส่ความ ใส่โทษ เอาใจใส่ ใส่ใจรักใคร่ ใส่จริต เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ภาพจาก : วิกิพีเดีย)

แต่คำว่า “ใส่” จะนำไปใช้กับของมีตัวหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างคำตามที่มีระบุไว้ในประกาศฉบับนั้น ดังนี้

ใส่บาตร                                                  คำที่แนะนำให้ใช้                                    ตักบาตร

ใส่เสื้อ                                                     คำที่แนะนำให้ใช้                                    ห่มเสื้อ

ใส่กางเกง                                               คำที่แนะนำให้ใช้                                    นุ่งกางเกง

ใส่หมวก                                                 คำที่แนะนำให้ใช้                                    สวมหมวก 

ใส่กระดุม                                               คำที่แนะนำให้ใช้                                    ขัดกระดุม

ใส่กำไล                                                  คำที่แนะนำให้ใช้                                    สวมกำไล

ใส่ปิ่น                                                      คำที่แนะนำให้ใช้                                    ปักปิ่น

ใส่สร้อย                                        คำที่แนะนำให้ใช้                                    ผูกสร้อย

ใส่จี้                                                         คำที่แนะนำให้ใช้                                    ผูกจี้

ใส่โซ่ตรวน                                    คำที่แนะนำให้ใช้                                    จำโซ่ตรวน

ใส่ขื่อ                                                       คำที่แนะนำให้ใช้                                    จำขื่อ

ใส่คา                                                       คำที่แนะนำให้ใช้                                    จำคา

ใส่คุก                                                      คำที่แนะนำให้ใช้                                    จำคุก, ขึ้นคุก, ส่งคุก, ขังคุก, เข้าคุก

ใส่ตะราง (สะกดตามประกาศ)    คำที่แนะนำให้ใช้                             ขังตะราง (สะกดตามประกาศ)

ใส่ทิม                                                      คำที่แนะนำให้ใช้                                    ขังทิม

ใส่เล้า                                                     คำที่แนะนำให้ใช้                                    ขังเล้า

ใส่กรง                                                     คำที่แนะนำให้ใช้                                    ขังกรง, ไว้ในกรง

ใส่หม้อ                                                    คำที่แนะนำให้ใช้                                    กรอกหม้อ

ใส่ไห                                                       คำที่แนะนำให้ใช้                                    กรอกไห

ใส่ขวด                                                    คำที่แนะนำให้ใช้                                    กรอกขวด

ใส่เรือ                                                      คำที่แนะนำให้ใช้                                    บรรทุกเรือ

ใส่คลัง                                                    คำที่แนะนำให้ใช้                                    ขึ้นคลัง, ส่งคลัง, เข้าคลัง, เก็บไว้ในคลัง

ใส่กุญแจ                                                คำที่แนะนำให้ใช้                                    ลั่นกุญแจ

ใส่กลอน                                                 คำที่แนะนำให้ใช้                                    ขัดกลอน

และมีคำในบางกรณีที่ได้อธิบายอย่างละเอียด เช่น คำว่า ใส่หีบ ใส่ตู้ ใส่ถุง หากพูดถึงสิ่งของ ควรใช้คำว่า ของในหีบ ในตู้ ในถุง หากพูดเป็นคำกริยาควรใช้คำว่า เข้าหีบ เข้าตู้ เข้าถุง และคำว่า ใส่ช้าง ใส่เกวียน ใส่ต่าง หากของมีจำนวนมาก ควรใช้คำว่า บรรทุกช้าง บรรทุกเกวียน บรรทุกต่าง หากของมีจำนวนน้อย ควรใช้คำว่า ขึ้นช้าง ขึ้นเกวียน ขึ้นต่าง ดังนั้น “ใส่” ที่เป็นคำกริยานั้นควรจะนำมาใช้ให้ถูกต้อง โดยต้องพิจารณาจากกิริยาการกระทำนั้นๆ ให้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น การ “ทา” ยา ก็ควรใช้คำว่า “ทา” ไม่ควรใช้คำว่า “ใส่ยา”  อย่างไรก็ดี คำว่า “ใส่” ถูกใช้กันจนติดปากไปเสียแล้ว ขณะที่เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ “ใส่” ว่า “ก. สวม เช่น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง, เอาไว้ข้างในภาชนะหรือสถานที่เป็นต้น เช่น กรอกน้ำใส่ขวด นำนักโทษไปใส่คุก, บรรทุก เช่น เอาสินค้าใส่รถ” แต่จะเลือกใช้คำกิริยาที่เหมาะสมมากกว่าคำว่า “ใส่” หรือไม่นั้น หากพูดว่า “ใส่เสื้อ” แล้วผู้ฟังเข้าใจ นั่นก็ถือว่าภาษาได้ทำหน้าที่ของการ “สื่อสาร” ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว