รามเกร์-รามเกียรติ์ ที่พระราชวัง “จตุมุข” กรุงพนมเปญ

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ในโลกใบนี้มีอะไรแตกต่างมากมาย หากไม่ค้นหาและไม่ได้พบเจอด้วยตัวเอง เราก็ไม่มีวันรู้และเข้าใจ  สุภาษิตยังว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” หมายถึงการบอกเล่าต่อๆ กัน ผ่านคนมามากๆ ก็ไม่เท่ากับเราได้เห็นด้วยตาตนเอง และที่สำคัญ อย่าไปเชื่อกับเรื่องราวหรือสิ่งที่คนบอกต่อๆ กันมา จะจริงหรือไม่ต้องไปสัมผัสไปเห็นด้วยตัวเอง เช่นเรื่องที่กำลังจะกล่าวถึงนี้…

ความรู้วิชาภาษาไทยสมัยมัธยมทำให้ทราบว่า “รามเกียรติ์” วรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทยเรานั้น ได้ต้นเค้ามาจากวรรณคดีอินเดียเรื่อง “รามายณะ” ที่อ้างว่าฤๅษีวาลมีกิ ชาวอินเดียแต่งขึ้น เป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีมาแล้ว และยังคงเข้าใจว่าคงไม่มีประเทศไหนที่นำเรื่องราวนี้ไปเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเหมือนบ้านเรา ซึ่งปรากฏอยู่ที่ระเบียงคดวัดพระแก้วมรกตหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ความเข้าใจนี้ผิดถนัด เมื่อไปเห็น “รามเกียรติ์” เป็นจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน อยู่ที่ระเบียงคดในพระราชวังจตุมุข กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงของประเทศกัมพูชา

ก่อนเข้าเรื่องรามเกียรติ์ ขอเกริ่นถึงพระราชวังจตุมุข หรือ “พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล” ของกษัตริย์กัมพูชาสักหน่อย  พระราชวังจตุมุขตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ เป็นกลุ่มอาคารราชมนเทียรของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา ซึ่งได้ประทับตั้งแต่แรกสร้าง

เมื่อ ค.ศ. 1866  คนไทยมักเรียกพระราชวังแห่งนี้แบบผิดๆ ว่า “พระราชวังเขมรินทร์” ทั้งๆ ที่ “เขมรินทร์” เป็นเพียงพระที่นั่งองค์หนึ่งในกลุ่มอาคารภายในพระบรมราชวังจตุมุขเท่านั้น

เมื่อเข้าไปภายในเขตพระบรมราชวัง จะพบเห็นสิ่งก่อสร้างเป็นกลุ่มอาคารต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 บริเวณหลัก ได้แก่ ทางด้านทิศใต้ มี “พระเจดีย์เงิน”  ด้านทิศเหนือเป็น “พระราชวังเขมรินทร์” เขตพระราชฐานที่ประทับ สถานที่แห่งนี้แยกจากส่วนอื่นๆ ด้วยกำแพง และตั้งอยู่ใกล้กับท้องพระโรง หรืออีกชื่อ “พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย” อาคารหลักของปราสาทเขมรินทร์  มียอดเป็นพระปรางค์ยอดเดียว  ทิศตะวันออกเป็นวัดอุโบสถรตนาราม  ส่วนทิศตะวันตกคือ พระตำหนักฝ่ายใน อาคารของพระราชวังถูกสร้างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเวลาผ่านไปและบางส่วนถูกรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่ และยังคงมีการซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ  พระบรมราชวังแห่งกรุงพนมเปญนี้ครอบคลุมพื้นที่ 174,870 ตารางเมตร

“วัดพระแก้ว” หรือ “วิหารเงิน” มีชื่อทางการว่า “วัดอุโบสถรตนาราม” อยู่ทางทิศใต้ของพระบรมราชวัง เป็นอีกสิ่งก่อสร้างหนึ่งที่สำคัญ ภายในวัดไม่มีพระภิกษุจำพรรษาเช่นเดียวกับบ้านเรา และใช้ประกอบพิธีต่างๆ ทางพุทธศาสนา พิธีของหลวงและเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์  นอกจากนี้ ยังเป็นที่รักษาอุโบสถศีลในวันพระของพระมหากษัตริย์ด้วย   ในวัดพระแก้วมีวิหารที่ประดิษฐานพระสำคัญอย่างพระแก้วมรกต พระชินรังสีราชิกนโรดม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ สร้างด้วยทองคำหนักถึง 90 กิโลกรัม ภายในวิหารปูพื้นด้วยแผ่นเงินกว่า 5,000 แผ่น อันเป็นที่มาของชื่อวิหารเงินนั่นเอง  วัดอุโบสถรตนารามแห่งนี้เริ่มสร้างในรัชสมัยของ

สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ปฐมกษัตริย์แห่งกัมพูชา ใช้เวลาก่อสร้างราว 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2435–2445 มูลค่าในการสร้างทั้งหมด 500,000 เรียล

ที่ระเบียงคดรอบวิหารเงินมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ แต่เขมรเรียก “รามเกร์” เขียนขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2446-2447  เป็นภาพจิตรกรรมคล้ายกับที่วัดพระแก้วมรกตในประเทศไทย แต่ลักษณะการวาด สีสันของตัวละคร ไม่ว่าพระราม นางสีดา ทศกัณฐ์ หรือหนุมานก็ตาม ดูไม่อลังการงานสร้างเหมือนของไทย ส่วนเนื้อเรื่องมีการเรียงลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเดินดูโดยรอบไม่ได้แตกต่างจากของไทยนัก เนื้อหาแบ่งเป็นช่อง เป็นตอนเหมือนกัน เช่น  ตอนหนุมานจองถนน  นางสีดาลุยไฟ   นางเบญจกายแปลง เป็นต้น  ตามประวัติหลักฐานที่ระบุไว้  เรื่องรามเกร์นับเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อศิลปวัฒนธรรมเขมรในทุกๆ ด้าน  หลักฐานจากศิลาจารึกและรูปเคารพแสดงให้เห็นว่ามหากาพย์เรื่องนี้ปรากฏในกัมพูชาตั้งแต่ ค.ศ.ที่ 7  เชื่อกันว่าตัวบทวรรณคดีเรื่อง “เรียมเกย์” เก่าแก่ที่สุด มีสองส่วน ยังไม่สมบูรณ์  แต่งขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 18 เมื่อมีการสร้างวัดพระแก้วมรกตขึ้นที่พระบรมมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ในค.ศ. 1895 เรื่องรามเกร์ได้รับเลือกมาวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ที่พระระเบียงรอบพระอุโบสถ และเป็นเรื่องเรียมเกร์ที่จบสมบูรณ์เพียงเรื่องเดียวในกัมพูชา

ภาพรามเกียรติ์ศิลปะของเขมร

ภาพรามเกียรติ์ของไทย

งานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเนื้อเรื่องตอนต่างๆ ของจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเรียมเกร์ โดยหลักจะนำมาจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ แต่การนำเสนอกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในด้านตัวละคร แม้ตัวละครส่วนใหญ่ในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเรียมเกร์จะตรงกับตัวละครในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์  แต่ก็พบความแตกต่างที่สำคัญหลายลักษณะ ที่เด่นชัดมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ ความผิดพลาดของจิตรกรผู้วาดเมื่อมีการส่งผ่านเรื่องจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง การวาดภาพตัวละครโดยไม่มีชื่อตัวละครกำกับไว้  รวมทั้งแรงบันดาลใจทางสังคมวัฒนธรรมและลีลาการวาด และบริบทการวาดของจิตรกรแต่ละคน

“…การศึกษายังพบว่าภาพสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเรียมเกร์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งก่อสร้างในประเทศกัมพูชา มากกว่าจะมาจากภาพสถาปัตยกรรมในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ในขณะที่ภาพทิวทัศน์น่าจะรับอิทธิพลมาจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่องอื่นๆ ของไทย  ส่วนการจัดองค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเรียมเกร์ สะท้อนลักษณะเฉพาะตัวแบบเขมรอย่างชัดเจน บุคคล 3 คน ที่มีความสำคัญในการรับอิทธิพลไทยในการสร้างจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกร์ ได้แก่

“พระบาทสมเด็จพระนโรดม” ผู้ทรงสร้างวัดพระแก้วมรกต ที่กรุงพนมเปญ  “ออกญาเทพนิมิตมัก” ผู้เป็นหัวหน้าจิตรกรและสถาปนิก และ “สมเด็จเจ้าพระคุณนิล เตียง” ผู้เป็นที่ปรึกษาหลักในการสร้างวัด  บุคคลทั้งสามล้วนเติบโตและได้รับการศึกษาที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายปี  อิทธิพลไทยในจิตรกรรมฝาผนังของกัมพูชา ถือเป็นหนึ่งในแนวโน้มหลักของการรับอิทธิพลไทยในสมัยการฟื้นฟูประเทศกัมพูชาหลังจาก “ยุคมืด” ผ่านพ้นไป

ข้ออธิบายทางด้านวิชาการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาพจิตรกรรมไทยที่มีต่องานจิตรกรรมของเขมร แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เขมรหรือกัมพูชายังคงเอกลักษณ์ในการวาดของตัวเอง สะท้อนผ่านตัวละครที่ปรากฏบนผนัง ไม่ว่าการแต่งกาย วิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ เดินดูแล้วสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว หากอยากรู้ว่าความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เหมือนกับเดินดูจิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์ที่บ้านเราหรือไม่ อันนี้อยากให้ไปดูด้วยตัวเองจะได้อรรถรสและบรรยากาศมากกว่า