หากพูดถึงศาสนสถานที่เป็นปราสาทเขมรโบราณในแผ่นดินไทย ส่วนใหญ่คนมักจะนึกถึงปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ น้อยคนที่จะนึกถึง “ขอนแก่น” จังหวัดภาคอีสานตอนกลาง เพราะไม่คิดว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมร
แต่ข้อเท็จจริง คือ ปราสาทเปือยน้อย ตั้งตระหง่านอยู่ที่ ต.เปือยน้อย อ.เปือยน้อย นั่นเองที่ตอกย้ำว่าวัฒนธรรมเขมรอันเรืองรองในอดีตได้แผ่สยายมาถึงบริเวณนี้ด้วย
ค่าที่คนไม่ค่อยนึกถึงนี้เองทำให้ “ปราสาทเปือยน้อย” ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ป๊อปปูล่าร์เท่าที่ควร นักท่องเที่ยวมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ศิลปกรรมตามตัวปราสาทยังมีความสมบูรณ์อยู่หลายจุด ลวดลายการแกะสลักบนหินทรายหลายชิ้นสวยงามไม่แพ้ปราสาทหินยอดนิยมอย่างปราสาทหินพนมรุ้ง หรือ ปราสาทเมืองต่ำเลย
แม้ว่าวันนี้ปราสาทเปือยน้อยจะถูกมองข้ามไปจากนักท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี ล่าสุดเมื่อปลายปี 2562 มีการจัดตั้ง “กลุ่มรักษ์ปราสาทเปือยน้อย” ขึ้นมา โดยมี คุณอ้อม “สุมาลี ทองยศ” เป็นประธานกลุ่ม
คุณอ้อม เล่าว่า ตนเองนั้นเป็นสาวแบงค์ ทำงานอยู่ในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องจากเป็นคนเปือยน้อย อยากให้ทำอะไรให้กับบ้านเกิด เพราะตลอดมาไม่ค่อยมีคนรู้จัก ไม่มีใครรู้ว่าเปือยน้อยอยู่ตรงไหนของขอนแก่น ทั้งที่พื้นที่ตรงนี้มีเรื่องราวมากมาย 900 กว่าปี เราถึงอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจในบ้านเราดีขึ้นกว่านี้ เพราะเวลานี้เงียบเหงามาก
“ตอนแรกที่คิดทำคือแค่อยากให้คนมาเที่ยว แล้วเราก็มีร้านค้าต่างๆ วิถีชุมชน นวัตวิถี มีสวนเมล่อน กลุ่มทอจักสาน กลุ่มทอผ้าไหม เรามีหลายอย่างเหมือนกัน เราก็คิดว่าทำยังไงอยากให้คนภายนอกมาเที่ยวเยอะๆ เลยคิดว่าต้องสร้างให้บ้านเมืองเราน่าอยู่”
คุณอ้อม บอกว่า การพัฒนาปราสาทเปือยน้อยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาก เพราะเราอยากบูมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนรู้จัก แล้วอยากจะให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชนของเรา ทั้งนี้ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องจากกรมศิลปากร ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน มีการตั้งเพจโดยให้น้องๆ ในชุมชนช่วยกันถ่ายภาพโปรโมท มีกิจกรรม “ร่วมตักบาตร เยือนปราสาทหิน ใส่ผ้าซิ่น ชมถิ่นอารยธรรม” ทุกวันเสาร์ เวลา 07.30 น.
“ตอนนี้เราได้ชักชวนผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กับ หมู่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ในการพัฒนาร่วมกัน นอกจากนี้ไปปรึกษากับพระครูเจ้าอาวาสเรื่องทำผ้าป่าต้นไม้ แต่เราก็ยังกลัวว่าจะบดบังทัศนียภาพหรือไม่ เราต้องการคำแนะนำจากกรมศิลปากรด้วยว่าที่ถูกต้องควรทำยังไง เพราะเราไม่ได้อยากพัฒนาอย่างเดียว เราต้องอนุรักษ์ไปพร้อมกันด้วย”
ประธานชมรมสาวแบงค์ ยังทิ้งท้ายว่า ยินดีต้อนรับหน่วยงานที่ต้องการมาจัดงานที่นี่ หรือ การจัดงานโฮมแลง สามารถติดต่อโดยตรงที่ 06-2119-5789 หรือ เข้าไปดูได้ที่เพจรักษ์ปราสาทเปือยน้อย ได้เช่นกัน
ขณะที่ “รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” อาจารย์สาขาวิชาภาษาเขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร อธิบายว่า อำเภอเปือยน้อยอยู่ทางด้านทิศใต้ของจังหวัด พื้นที่ตรงนี้ในแง่ภูมิประเทศนั้นเริ่มเข้าเขตอีสานใต้แล้ว เพราะพ้นจากเปือยน้อยไปจะเป็นเมืองพล ลงไปอีกนิดก็จะเข้าเขตโคราช เข้าพิมาย ดังนั้นเมืองนี้มองในแง่พื้นที่ความใกล้เคียง มันคือเริ่มเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจเขมรโบราณที่มีอยู่ในอีสานใต้ นั่นคือหากเราเชื่อว่าพิมายคือศูนย์กลางของแคว้นมหิทรปุระ แต่อย่างไรก็ดีพิมายก็ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางที่ควบคุมเมืองบริวารทั้งหลายซึ่งเป็นเขตวัฒนธรรมเขมรโบราณ
“หากมองลักษณะหนึ่งของเปือยน้อย คือ มีลักษณะคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนทะเลสีทันดรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล ฉะนั้นปราสาทหลังนี้ก็เปรียบเสมือนเซนเตอร์ คือ เป็นศูนย์กลางของชุมชนแถบนี้ และยังเพิ่มความสำคัญจากบารายที่อยู่ด้านหน้า แสดงว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่”
“สิ่งที่น่าสนใจถัดมา ถ้ามองในแง่ของภูมิประเทศ ในเขตที่เป็นขอนแก่นทั้งจังหวัด ปราสาทหลังนี้แม้จะไม่ใหญ่มาก แต่ก็ใหญ่ที่สุดในขอนแก่นแล้ว เพราะเลยขึ้นไปกว่านี้ในวัฒนธรรมรุ่นหลังเราจะเห็นแค่ที่เป็นอโรคยสถาน แต่ที่นี่ไม่ใช่แค่เป็นอโรคยสถาน แต่นี่เป็นศูนย์กลางของชุมชน นั่นแสดงว่าชุมชนตรงเปือยน้อย เป็นชุมชนสำคัญในวัฒนธรรมเขมรโบราณ อาจจะถือได้ว่าเป็นเมืองส่วนหนึ่งที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจที่อยู่ในวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันกับกลุ่มโซนพิมาย และ สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ ศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นบาปวน ทางเข้าด้านหน้าเป็นจตุรมุข ซึ่งคล้ายกันมากกับปราสาทเมืองต่ำ”
ด้าน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ชื่อของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร จนถึงปัจจุบันโดยส่วนใหญ่เราไม่สามารถทราบชื่อดั้งเดิมได้อีกแล้ว ดังนั้นชื่อเปือยน้อยก็เป็นชื่อใหม่ เรียกตามสถานที่ตั้งในปัจจุบัน จริงๆ ยังมีอีกหลายชื่อ ธาตุกู่ทอง เป็นชื่อท้องถิ่นเหมือนกัน
อาจารย์รุ่งโรจน์ อธิบายว่า ปราสาทหลังนี้ถือเป็นศาสนสถานหลังที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ถือว่ามีขนาดพอสมควร ถ้าเทียบกับขนาดของศาสนสถานเขมรในเมืองไทย มีการวางผังศาสนสถานให้เป็นศูนย์กลางของเมือง ของชุมชน โดยมีหลักคิด คือ วางศาสนสถานไว้ตรงกลาง มีบารายสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านหน้า คือ ทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบเช่นเดียวกับศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรหลายแห่ง และจะมีเปิดเป็นช่องสำหรับทางเดินเข้าออกทางด้านหน้าเท่านั้น
สำหรับตัวปราสาทเปือยน้อย จะเห็นได้ว่าเป็นโคปุระในลักษณะของผังจตุรมุข คือ ผังกากบาทขนาดใหญ่ และ มีแนวกำแพงล้อมรอบ พื้นที่ข้างในเป็นที่ตั้งของตัวปราสาทประธาน 3 หลังเรียงกัน วัสดุตรงพื้น หรือฐาน ทำด้วยศิลาแลง และตัวแนวกำแพงที่ล้อมเป็นศิลาแลง ส่วนที่เป็นโคปุระ มีการผสมหินทรายสีแดงเข้าไป
ในการกำหนดอายุปราสาท ดูจากลวดลายของสถาปัตยกรรมจะมีรูปแบบของศิลปะแบบบาปวนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีลักษณะแบบนครวัดอยู่บ้าง การกำหนดอายุอาจจะอยู่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17 คือ ศิลปะบาปวนอาจจะคาบต่อกับนครวัด แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นบาปวน
ตัวปราสาทด้านในมีการแกะสลักเล่าเรื่องเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ โดยภาพเล่าเรื่องจะเห็นอยู่ตามหน้าบัน และ ทับหลัง
อาทิ ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือ พระวิษณุอนันตศายิน เหนือกรอบประตูด้านหน้าของปราสาทหลังกลาง มีรายละเอียดคือพระวิษณุนอนอยู่บนหลังของพญานาค อนันตนาคราช โดยที่ไม่ได้มีตัวมกรรองรับอยู่ นี่เป็นลักษณะหนึ่งของศิลปะบาปวน เมื่อนอนหลับไหลแล้ว ที่บริเวณพระนาภีจะมีดอกบัวผุดขึ้นมา แล้วจะมีพระพรหมทำหน้าที่ในการสร้างโลกต่อไป ส่วนสตรีที่อยู่บริเวณพระบาทคาดว่าจะเป็นพระชายาของท่าน คือ พระนางลักษมี
อีกภาพหนึ่งที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ คือ ทับหลังรูปคชลักษณ์เหนือกรอบประตูด้านหลังของปราสาทบริวารหลังเหนือ คือมีภาพสตรีนั่งอยู่และมีช้างอยู่ 2 ช้างกำลังชูงวงและรดน้ำให้ตัวผู้หญิงนี้คือ คชลักษมี หรือ อภิเษกศรี สัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ สัญลักษณ์ของความสวัสดิมงคล ก็หาได้ยาก เพราะตามปกติรูปของเทพีองค์นี้จะอยู่ตามทางเข้า เวลาคนเดินเข้าสู่ศาสนสถานก็เสมือนกับว่าได้รับพรจากพระนาง แต่บังเอิญชิ้นนี้อยู่ทิศตะวันตก อาจเป็นเพราะศิลปะเขมรในประเทศไทยจะมีลักษณะการแปลความท้องถิ่นที่แตกต่างออกไปจากกัมพูชา เลยไม่ได้อยู่ส่วนทางเข้าหลักก็ได้
อีกจุดหนึ่งที่เป็นภาพสวย คือ หน้าบันรูป “อุมามเหศวร” ด้านหลังของบรรณาลัย คือ ภาพพระศิวะ กับแม่พระอุมานั่งบนตักสวมกอดกันอยู่บนหลังของโคนนทิ พร้อมด้วยบริวารซ้ายขวา ย้ำให้เห็นว่าบริเวณปราสาทหลังนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนาพราหมณ์ ส่วนด้านล่างเป็นรูปเทพนั่งชันเข่าอยู่เหนือหน้ากาฬมีความงดงามอย่างมาก
อาจารย์รุ่งโรจน์ บอกว่า ในส่วนของโคปุระนั้นค่อนข้างใหญ่ คาดว่ามีการสร้างเสริมทีหลัง เพราะมีร่องรอยที่ดูใหม่กว่า มีลักษณะแบบนครวัด จึงอาจเสริมทีหลัง ส่วนบริเวณหน้าบันเป็นเทพเจ้านั่งชันเข่าอยู่เหนือช้าง 3 เศียร 3 ตัว เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ปกติช้างเอราวัณประจำเทพเจ้าตะวันออก แต่หน้าบันนี้หันไปทางทิศตะวันตก มองในแง่หนึ่งโคปุระหลังนี้อยู่ในทิศตะวันออก แบบนี้ก็เข้าใจได้
นอกจากที่กล่าวมายังมีหินแกะสลักเรื่องเทพปกรณัม เทพเจ้าเรื่องอื่นๆ อีกมากมายจากช่างฝีมือดี นับว่าเป็นอีกหนึ่งปราสาทเขมรโบราณที่สวยงามไม่แพ้ที่อื่นๆ ซึ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบโบราณสถานอยู่แล้ว ควรได้มาชมกันสักครั้งหนึ่ง รับรองว่าเก็บความประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน