เกิดความเข้าใจผิดในการเรียกชื่อขนมมอญ ๒ ชนิด ระหว่างขนมกะละแม ขนมในเทศกาลสงกรานต์ ที่มอญเมืองไทยเรียกว่า “กวาญย์ฮะกอ” ขณะที่มอญเมืองมอญเรียกว่า “เกร่อะฮ์เปรียง” แต่ให้บังเอิญว่ามีขนมของมอญเมืองมอญอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า “กวาญย์ฮะกอ” ที่นิยมทำเลี้ยงแขกในงานศพทำให้ชื่อเรียกในภาษาไทยและภาษามอญสับสนปนเปกันไม่น้อย
เหตุเพราะความเข้าใจเรื่องขนมทั้งสองที่มีส่วนผสมเหมือนกัน มีขั้นตอนการทำที่ต้องกวนเหมือนกัน แม้หน้าตาที่ออกมาและประโยชน์รับใช้วาระหรืองานของมันจะต่างกันโดยสิ้นเชิง เรียกว่าไม่มีการแย่งลูกค้ากันอย่างแน่นอน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแต่เดิมมันคือขนมชนิดเดียวกัน
๒๐๐ ปีที่มอญสองเมืองห่างกัน ด้วยสภาพสังคมที่ต่างกันทำให้หน้าตาและความหมายของขนมดั้งเดิมถูกแยกออกเป็น ๒ แบบ?
ผมพยายามค้นคว้าอยู่นาน เพราะอยากรู้ว่าวัฒนธรรมการเลี้ยงขนมในงานศพนั้นมีที่มาอย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ละชาติกินขนมอะไรกันในงานศพ จนถึงเวลาที่จะต้องลงมือเขียนต้นฉบับนี้จำต้องยอมรับว่าไม่สามารถค้นหาความเป็นมาที่สงสัยได้ จนสันนิษฐานว่าเป็นวัฒนธรรมแถบบ้านเราที่ใครมาถึงเรือนชานก็ต้องต้อนรับ จะมีงานหรือไม่มีงานคนก็ต้องกิน
แต่เดิมเจ้าของบ้านก็คงจะเลี้ยงแขกตามมีตามเกิด ต่อมาจึงค่อยเป็นธรรมเนียมให้คนรุ่นหลังยึดถือปฏิบัติ
อย่างเมื่อสมัยผมเป็นเด็ก หากพูดถึงการกินข้าวเหนียวถั่วดำเป็นอันรู้กันว่าหมายถึงงานศพ เช่นพูดว่า “ข้ารอกินข้าวเหนียวถั่วดำงานเอ็ง” แสดงว่าคนพูดกำลังแช่งชักหักกระดูก หรือแกล้งสัพยอกคนฟังให้ตายไวๆ เพราะงานศพคนไทยแถวบ้านผมสมัยก่อนเขามักทำข้าวเหนียวถั่วดำหรือถั่วดำแกงบวด (ไม่มีข้าวเหนียวมูน) เลี้ยงแขกที่มางาน แต่ดูท่าทางว่าผู้คนจะหลงลืมเรื่องนี้กันไปหมดแล้ว การกิน “ถั่วดำ” ในความหมายของคนสมัยนี้ไม่ได้หมายถึงอาหาร แต่กลับมีนัยสองแง่สองง่ามทำนองรักร่วมเพศ โดยเฉพาะชายกับชายเป็นสำคัญ
ส่วนงานศพยุคถัดมาเขาเลี้ยงแขกด้วยข้าวต้มเครื่อง จนมีคำติดปากว่า “ข้าวต้มงานศพ” หมู ไก่ กุ้ง ใช้ได้ทั้งนั้น ในยุคปัจจุบันเจ้าภาพไม่ค่อยมีเวลา จัดจ้างอาหารชุดสำเร็จรูป น้ำผลไม้กล่องหรือแก้ว ขนมจำพวกเบเกอรี่สักชิ้น กาแฟแก้วหนึ่งก็เป็นใช้ได้ แล้วชาติอื่นละแวกบ้านเราล่ะ มีธรรมเนียมเหล่านี้กันหรือไม่?
คนเขมร มีพิธีไหว้ผีบรรพชนคล้ายมอญ เรียกว่า แซนโฎนตา มีขนมที่ใช้ในพิธีหลายชนิด เช่น ขนมกันเตรือม ขนมนางเล็ด ขนมฝักบัว และข้าวต้มมัด
คนมุสลิม เวลาไปร่วมงานศพ มักจะมีน้ำตาลหรือขนมชนิดต่างๆ ติดไม้ติดมือไปฝากเจ้าภาพเสมอ ทำนองการช่วยเหลือเจ้าภาพในการจัดหาอาหารเลี้ยงแขก
คนจีน ใช้ขนม “โหงวก้วย-โหงวอั้ง” (ขนมลูกหลาน) เซ่นไหว้ผู้ตายในงานศพ ขนมชนิดนี้ทำจากแป้งข้าวเจ้า ทั้งแบบผิวเกลี้ยงและแบบแต่งหน้าด้วยถั่วดำ ใช้ในพิธีศพเท่านั้น ไม่ได้ทำกินทั่วไปเพราะรสชาติไม่อร่อย ส่วนงานเช็งเม้งที่มีการเซ่นไหว้บรรพชนก็จะเพิ่มขนมจันอับ (แต่เหลียง) เข้าไปด้วย ซึ่งขนมจันอับนี้เป็นขนมแห้งโบราณของจีน ประกอบด้วย ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล ฟักเชื่อม และข้าวพอง น่าแปลกที่คนไทยรับเอาขนมจันอับนี้มาใช้เป็นขนมงานแต่งหน้าตาเฉย คงยึดเอาพิธีการไหว้บรรพชนยกน้ำชาแบบจีนที่ต้องใช้ขนมชนิดนี้เป็นสำคัญ
คนมอญราชบุรี (เท่านั้น) นิยมกินเม็ดแมงลักน้ำกะทิเป็นขนมในงานศพ งดเว้นการกินขนมจีนเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะมีการตายเกิดขึ้นติดต่อกันยืดยาว ความเชื่อที่ว่านี้น่าจะได้มาจากคนไทยคนจีนมากกว่า และดูท่าจะเหมือนกันไปทั่วทั้งภูมิภาคนั่นคือ ไทย ลาว และกัมพูชา เชื่อแบบเดียวกันว่าขนมจีนเป็นอาหารงานบุญ
แม้มอญจะเป็นต้นตำรับขนมจีน (คะนอม) แต่มอญไม่มีความเชื่อเรื่องกินของยาวแล้วจะตายติดต่อกันยาวๆ เหมือนเส้นขนมจีน สำหรับมอญแล้ว ไม่ว่างานบุญหรืองานศพคนเขาก็รอกินขนมจีนกันทั้งนั้น เพราะมันคืออาหารที่อร่อย แต่ใช้เวลา แรงงานมาก ไม่สามารถทำกินกันเองภายในครอบครัวได้ง่าย
คนมอญสมุทรสาคร (อย่างน้อย) กิน “เปิงคะด็อจก์” (ข้าวอีกา) ในอดีตเมื่อไม่นาน ส่วนคนมอญในเมืองมอญนอกจากจะกินกันในงานศพแล้ว ยังทำเลี้ยงแขกในงานวันคลอดด้วย (วันลืมตาดูโลก หากใช้ว่า วันเกิด หรือ Birthday เกรงจะเข้าใจผิดไปไกล) นั่นคือ คนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) นิยมทำเปิงคะด็อจก์เลี้ยงแขกในงานศพ แต่เฉพาะศพเด็กอายุไม่เกิน ๑๒ ขวบ และเว้นการตายโหงที่จะไม่ทำพิธีเกี่ยวกับศพอื่นใด มีเพียงการใส่บาตรอุทิศกุศลให้เท่านั้น
คนมอญถือว่าการตายในวัยเด็ก อันเป็นวัยที่ไม่สมควรตาย ถือเป็นการ “ตายไม่ดี” ยิ่งหากเป็นการตายโหงยิ่งจะรีบห่อด้วยเสื่อหรือผ้าแบบขอไปที เอาศพไปจัดการให้พ้นหูพ้นตาโดยเร็ว ถ้าในกรณีคนแก่คนเฒ่าป่วยตาย ถือว่า “ตายดี” คืนวันแรกของการตายก็จะมีการทำเปิงคะด็อจก์ และมักแจกให้เด็กมากกว่า ผู้ใหญ่ไม่นิยมกิน นอกจากนี้จะมีการทำขนมอย่างนี้กันอีกทีก็ในงานทำบุญครบ ๑ ปี นอกจากนี้ บางแห่งนิยมทำกินในกรณีที่มีเด็กเกิดใหม่ด้วย
เปิงคะด็อจก์ ของมอญเมืองมอญจะมีลักษณะข้นกว่าโจ๊ก บางรายอาจใส่มะพร้าวขูดลงไปขณะกวนด้วยจะทำให้เคี้ยวมัน อร่อยมากยิ่งขึ้น สุกแล้วเทลงบนใบตอง โรยน้ำตาล งาดำ ปล่อยแห้งตัดแบ่งเป็นชิ้นจ่ายแจกกันกิน โอกาสหลักในการกินเปิงคะด็อจก์ของมอญเมืองมอญสอดคล้องกับมอญเมืองไทยที่จะทำกินเฉพาะงานศพ แต่ของมอญเมืองไทยเป็นงานศพทั่วไป ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ขวบ ซึ่งขนมชนิดนี้หายไปจากทางสมุทรสาครบ้านผมร่วม ๓๐ ปีแล้ว นี่จึงเป็นความแตกต่างของมอญสองเมืองอีกอย่างหนึ่ง เพราะทุกวันนี้มอญในเมืองมอญเขายังมีให้เห็นอยู่ในบางแห่ง
ว่าด้วยเรื่องขนมเลี้ยงแขกในงานศพของมอญในเมืองไทย ยังมีขนมในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผี เป็นขนมสำหรับให้ผีกิน เช่น พิธีรำสามถาด ในงานศพ เป็นพิธีขอขมาเทพดาอารักษ์ เจ้าที่เจ้าทาง และผู้ตาย เครื่องเซ่นไหว้ที่เป็นอาหารจะใช้แต่ขนมหวานเท่านั้น ไม่มีการใช้อาหารคาวเลย ส่วนการรำผี เซ่นไหว้ผี เซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง พิธีกรรมเหล่านี้จะต้องใช้ขนมที่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้เฉพาะ เช่น ขนมทอด (ปั้นเป็นรูปสร้อย แหวน กำไล ตุ้มหู หม้อข้าว หม้อแกง ภาชนะเครื่องใช้ กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น) ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมเล็บมือนาง เป็นต้น
ส่วนขนมเลี้ยงแขกงานศพของมอญเมืองมอญส่วนใหญ่และคนมอญสังขละบุรี เมืองกาญจน์ โดยเฉพาะในงานศพพระผู้ใหญ่ นิยมเลี้ยงขนมกะละแม แต่ในงานศพทั่วไปจะเลี้ยงด้วย “กวาญย์ฮะกอ” หรือขนมกวน ที่มีส่วนผสม ๓ ชนิด คือ ข้าวเหนียว น้ำตาล และกะทิ เหมือนขนมกะละแมไม่ผิดเพี้ยน อย่างเดียวกับที่นครศรีธรรมราชเรียกว่า ยาหนม (พญาขนม) และที่ชุมชนบ้านมอญ เชียงใหม่ ก็มีขนมที่คล้ายกับกะละแมเรียกว่า ขนมคน หรือขนมกวน ทั้ง ๒ แห่งที่ว่ามานี้ล้วนมีร่องรอยวัฒนธรรมมอญเคลื่อนผ่านเมื่อในอดีตด้วยกันทั้งนั้น
ขนมกวน หรือ “กวาญย์ฮะกอ” คาดว่าแตกแขนงมาจากขนมกะละแมเพราะมีส่วนผสมเหมือนกัน เพียงแต่ปรับปรุงขั้นตอนให้น้อยลง และใช้เวลากวนน้อยกว่าราวครึ่งหนึ่งก็เป็นได้ ลักษณะขนมที่เห็นจะอ่อนเหลว สีอ่อนกว่า เคี้ยวนุ่มกว่ามาก ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คงต้องเทียบกับ “ขนมคน” หรือ “ขนมกวน” ของบ้านมอญที่เชียงใหม่ ความพิเศษก็คือ ขนมชนิดนี้มักนิยมทำกันในงานศพ และพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับงานศพเท่านั้น เช่น รำสามถาด พิธีเทาะอะโหย่งกย้าจก์ (สมโภชพระพุทธรูปให้ผู้เสียชีวิต) และโดยมากก็ต้องเป็นงานศพพระอีกด้วย
มอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) นิยมทำขนมกวน หรือ “กวาญย์ฮะกอ” เพื่อทำบุญให้บรรพชนผู้ล่วงลับ โดยจะทำกันในวันมาฆบูชา แต่เนื่องจากต่อมาได้มีการจัดงานวันชาติมอญขึ้น ซึ่งอยู่หลังวันมาฆบูชา ๑ วัน การทำขนมชนิดนี้จึงถือเป็นการทำขึ้นในช่วงวันชาติมอญที่เกิดขึ้นในภายหลังและผู้คนให้ความสำคัญอย่างมากจึงกลายเป็นขนมในงานวันชาติมอญไปในที่สุด
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2555 ผู้เขียน : องค์ บรรจุน