เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ทางกรมศิลปากรได้จัดการเสวนาทางวิชาการ “ข้อมูลใหม่จากโบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม” ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยได้รับความสนใจจากบรรดานักวิชาการ ตลอดจนผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบใหม่นั้น นอกจากจะมีการขุดค้นพบ “ประติมากรรมดินเผารูปอสูร” เมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562 แล้ว ยังได้พบศิลาจารึกสมัยทวารวดี ทางด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม จำนวน 1 หลัก เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 มีลักษณะเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยหินสีเทา ส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต บางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน ได้กล่าวถึงคำว่า “ทวารวตีวิภูติ” แปลความได้ว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทวารวดี” จึงเป็นการยืนยันถึงการมีตัวตนของบ้านเมืองนาม “ทวารวดี” อีกด้วย
วัดพระงามได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทำการสำรวจวัดแห่งนี้และเคยพบพระพุทธรูปสำริด กวางหมอบ ธรรมจักร พระพิมพ์ดินเผา และเศียรพระพุทธรูปดินเผา โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปดินเผามีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างมาก จึงทรงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระงาม” นั่นเอง
พิมพ์พรรณ ไพบูลหวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร อธิบายตัวจารึกไว้ว่า
“ศิลาจารึกมีจารึกเพียงหนึ่งด้าน จำนวน 6 แถว ซึ่งเป็นอักษรปัลลวะ
ภาษาสันสกฤต มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11–12 มีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า “ทวารวตีวิภูติ” เป็นเบื้องต้น จึงนับว่าเป็นจารึกที่เป็นข้อมูลใหม่ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดในจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน”
สำหรับคำว่า “ทวารวดี” นั้นจากหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พบ คงจะเป็นบันทึกของภิกษุจีนนามเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซัมจั๋ง ซึ่งได้เดินทางผ่านมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน ค.ศ. 632 หรือ พ.ศ. 1175 และได้กล่าวถึงแว่นแคว้นอาณาจักรหนึ่งที่ชื่อว่า โถ–โล–โป–ตี้ ซึ่งนายแซมมวล บีล ได้ถอดเสียงเป็นคำว่า “ทวารวดี” นั่นเอง
จากนั้นได้มีการค้นพบจารึกเหรียญเงินทวารวดี ในเขตวัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2486 เป็นภาษาสันสกฤต ตัวอักษรปัลลวะ ความว่า “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” แปลได้ว่า “พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ”
รศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการขุดค้นทางโบราณคดีที่นครปฐมว่า
ได้พบเศียรพระ ตลอดจนพระพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงเครื่องถ้วยจีน ซึ่งจากการเดทอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังของจีน ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบ้านเมืองนามทวารวดีกับราชสำนักจีน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์สุย โดยกษัตริย์ของทวารวดีได้ส่งเครื่องบรรณาการ ได้แก่ ไข่มุก งาช้าง และนอแรด ถวายแด่จักรพรรดิจีนในปี พ.ศ. 1181, 1183 และ 1192 ตามลำดับ โดยน่าจะมีคู่แข่งทางการค้ามี่ร่วมสมัยกันคืออีศานปุระและจามปา ซึ่งทั้ง 3 ต่างก็แย่งชิงอำนาจ รวมถึงแข่งขันกันทางเศรษฐกิจกันในภูมิภาคนี้กันมานานแล้ว
ดร.อุเทน วงษ์สถิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
“นอกจากพระพุทธศาสนา ที่พบจากโบราณวัตถุประเภทต่างๆ เป็นส่วนใหญ่แล้ว จากกาตีความจารึกที่พบใหม่นั้น ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า กษัตริย์ของทวารวดีน่าจะทรงนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายปิศุปติซึ่งเป็นนิกายที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 7 โดยรับอิทธิพลมาจากอินเดีย”
รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“เนินโบราณสถานวัดพระงามแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเป็นสถูปในศิลปะแบบทวารวดี มีรูปแบบบางอย่างคล้ายคลึงกับพระประโทณเจดีย์ ซึ่งเป็นสถูปกลางเมืองของนครปฐมโบราณ และนับเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ในศิลปะทวารวดี”
อย่างไรก็ตามแม้ข้อมูลของทวารวดีอาจจะมีหลักฐานจำกัด แต่นักวิชาการหลายท่านก็ชี้ว่านามทวารวดีนั้น ยังคงอยู่ในการรับรู้ของผู้คนในยุคต่อมา อย่างเช่นส่วนหนึ่งของสร้อยนาม “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยานั้น ก็ยังปรากฏนามทวารวดีให้ได้เห็นกัน
แม้การขุดค้นพบจารึกวัดพระงามในครั้งนี้ จะส่งผลให้ต่อการตื่นตัวในแวดวงวิชาการแล้ว ยังเป็นการช่วยยืนยันคำว่า “ทวารวดี” ว่ามีอยู่ในการรับรู้ของผู้คนมาเสมอ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังช่วยต่อยอดการศึกษาและขยายผลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะหาข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงและเป็นไปได้ที่สุด ถึงแม้ว่าจากการค้นพบจารึกชิ้นใหม่รวมถึงเสวนาครั้งนี้อาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าทวารวดีนั้น อยู่ที่ไหนกันแน่ก็ตาม