ถนนสายชัยภูมิ-สีคิ้ว มุ่งหน้าไปตำบลหนองนาแซง วิ่งผ่านไปบนถนนลูกรังที่คดเคี้ยว เลาะลำห้วยน้อยใหญ่อีกหลายแห่งระยะทางราว 10 กิโลเมตรจากตัวเมือง ผ่านหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านหนองฉิม บ้านโนนแดง จึงจะมาถึง “บ้านกุดโง้ง” ซึ่งได้ยินมาว่าที่แห่งนี้ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มี “ของดี” เป็นอันซีนภาคอีสาน นั่นคือ ใบเสมาหินขนาดใหญ่ยักษ์สูงท่วมหัว เช่นเดียวกับที่เคยเห็นที่บ้านคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ มาแล้ว ความสำคัญของบ้านกุดโง้ง ได้รับการยืนยันด้วยการขุดพบหลักฐานร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ ขุดพบขวานหินขัด แวดินเผา ภาชนะดินเผา และโบราณวัตถุจากสำริด เป็นต้น
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหลักฐานสำคัญคือ “ใบเสมาหินทราย” ขนาดต่างๆ สูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปจนถึง 2-3 เมตร กระจัดกระจายอยู่ภายในบริเวณบ้านกุดโง้งจำนวนมาก โดยเฉพาะตามเนินดินและทุ่งนารอบหมู่บ้าน ทั้งที่ปักเป็นกลุ่มประจำทิศ และปักแบบโดดๆ มีลักษณะเป็นแท่งหินธรรมชาติ หรือแผ่นแบนเรียบ ทรงกลม ทรงเหลี่ยม ทั้งแกะสลักลวดลายและไม่แกะลวดลาย แกะสลักเป็นรูปสถูป รูปเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก โดยใบเสมาทั้งหลายได้นำมาเก็บไว้ในอาคารเก็บรักษาที่สร้างขึ้นอย่างสวยงาม อาคารนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดศรีปทุมคงคา และโรงเรียนบ้านกุดโง้ง
เล่าสืบต่อกันมาว่า บ้านกุดโง้งย้อนกลับไป 1,400 ปีก่อน จะพบการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และน่าจะเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความสำคัญในพื้นที่แถบนี้ในสมัยนั้น โดยเฉพาะด้านศาสนาและความเชื่อ ซึ่งมีอายุน่าจะอยู่ในช่วงต้นยุคประวัติศาสตร์ หรือสมัยวัฒนธรรมทวารวดีของภาคอีสาน ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 แต่ก็มีชาวบ้านคนเก่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าประมาณปี 2450 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีราษฏรจากจังหวัดอุบลราชธานี อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านผือ กระทั่งมาพบสถานที่แห่งหนึ่งมีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยหลายสายคดเคี้ยวโอบล้อมบริเวณนี้เอาไว้ มีพื้นที่กว้างขวางจึงได้จับจองเป็นที่ทำกิน ช่วยกันแผ้วถางป่า ซึ่งบริเวณนี้ต่อมาก็คือบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านกุดโง้งในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านต่างถิ่นกลุ่มอื่นๆ มาจับจองแหล่งทำกินเช่นเดียวกัน ตามบริเวณใกล้เคียงของลำห้วย อาทิ บ้านผือ บ้านกุดตุ้ม บ้านหนองไผ่น้อย บ้านบุ่งคล้า เริ่มทยอยเข้ามาปลูกบ้านเป็นที่พักอาศัยอย่างถาวร โดยเฉพาะบริเวณเนินกุดโง้ง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าบริเวณอื่น น้ำท่วมไม่ถึง จากปี พ.ศ. 2459-2477 มีประชากรจำนวน 20 ครัวเรือนเศษ และมีชื่อเรียกกันในกลุ่มตนเองว่า “บ้านกุดโง้ง”
ปี พ.ศ.2486 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองตอนนั้นนอกจากอยู่ในภาวะสงครามแล้ว ยังเกิดโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษระบาดอีกด้วย ทางการจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในหมู่บ้านกุดโง้ง ปรากฏว่านายหมา บุตรศรี ซึ่งอาวุโสสูงสุด และเป็นประชากรรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาอาศัยในเนินกุดโง้งได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในปี 2486 บ้านกุดโง้งจึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นหมู่ 12 ของตำบลหนองนาแซง ซึ่งมีชื่ออยู่ในสารบบของทางราชการ
อาจารย์เสนาะ เที่ยงธรรม อดีตครูโรงเรียนบ้านกุดโง้ง เล่าว่าบ้านกุดโง้งช่วงมีคนเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน รวมทั้งคนเกิดมาใหม่ ก็เห็นใบเสมาอยู่ก่อนแล้ว คนในชุมชนนี้มาอยู่หลังใบเสมา 115 ปี พูดง่ายๆ ว่าเกิดมาก็เห็นใบเสมาตั้งอยู่แล้ว ฉะนั้น คนในชุมชนบ้านกุดโง้งทั้งปัจจุบันหรือก่อนหน้า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับใบเสมาในพื้นที่ เพราะใบเสมามีอยู่ ณ ที่แห่งนี้มา 1,400 ปีมาแล้ว จึงไม่สามารถอธิบายเรื่องราวการตั้งถื้นฐานเชื่อมโยงกับใบเสมานี้ว่าเป็นมาอย่างไร
แต่เท่าที่เล่ากันในรุ่นปู่ย่าตายาย มีเรื่องเล่าว่าบริเวณเนินดินที่ตั้งบ้านกุดโง้ง ตอนเย็นวันพระจะเห็นคนขี่ม้าสีดำตัวใหญ่ วิ่งรอบหมู่บ้านเป็นกองทัพ บริเวณดินที่มีน้ำล้อมรอบเมื่อก่อนเป็นที่รกร้าง ไม่มีผู้คนเข้ามาจับจอง เนื่องจากเมื่อไปจับจองทำกินล้ว จะเกิดเหตุการณ์ประหลาดมากมาย หรือป่วยจนไม่สามารถอยู่ได้ ต่อมามีพ่อกุ ย้ายมาจากเมืองเก่า เป็นผู้มีวิชาอาคม ได้เข้ามาช่วยทำพิธีให้กับชาวบ้านที่ได้จับจองพื้นที่ทำกิน ใช้ไม้งิ้วดำตอกลงดินเพื่อสะกดวิญญาณสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามารบกวน จนพื้นที่ตกทอดมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน
เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นเป็นความเชื่อของคนบ้านกุดโง้ง ต่อมาปี 2535 มีโครงการขุดลอกคลอง ปรากฏว่าขุดพบไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 ซม. ยาว 1 เมตร จำนวน 2 ท่อน มีลักษณะพิเศษคือมีผิวเรียบเป็นมันสีดำ เมื่อคนเฒ่าคนแก่เห็นก็บอกว่าคงเป็นไม้งิ้วดำที่พ่อกุทำพิธีไว้เมื่อในอดีต จึงได้นำไปเก็บไว้ที่วัด
ส่วนใบเสมาบ้านกุดโง้ง พบเห็นตามเนินดินรอบหมู่บ้าน กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเนินดินทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ที่เป็นดอนปู่ตาและอยู่ใกล้กับลำปะทาว มีใบเสมาที่เป็นรูปสลักวางอยู่กลุ่มใหญ่ เมื่อมีการไถนาก็พบใบเสมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ ชาวบ้านไม่ทราบความหมายความสำคัญ ศึกษาธิการอำเภอในขณะนั้นเห็นใบเสมามีจำนวนมากและอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย จึงแนะนำให้ชาวบ้านนำไปเก็บไว้ที่วัด เมื่อปี 2513 เพื่อรักษาและดูแลเบื้องต้น
งานเคลื่อนย้ายใบเสมาเริ่มขึ้นในปี 2514 โดยใช้ช้าง 2 เชือก ใช้เวลาในการเคลื่อนย้าย 3 วัน ตอนที่ช้างลากใบเสมาที่มีรูปพระพุทธเจ้า โซ่ที่ใช้มัดใบเสมาได้ขาด พยายามอยู่หลายครั้งก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายใบเสมาได้ จึงทำบายศรีขอขมาจึงสามารถเคลื่อนย้ายใบเสมาได้สำเร็จ ในราวเดือนมีนาคม 2524 และมีการเคลื่อนย้ายครั้งที่ 2 โดยใช้รถไถ ขนย้ายใบเสมาที่อยู่รอบเนินดินมารวมไว้ที่วัดศรีปทุมคงคา ปัจจุบันบ้านกุดโง้งยังไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อหาชั้นวัฒนธรรมหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าที่สุด
ใบเสมาที่พบโดยทั่วไปเป็นแบบแผ่นหินทั้งเรียบ ไม่มีการสลักภาพใดๆ และแบบที่มีการแกะสลักลวดลายต่างๆ ประดับลงไป ซึ่งมีหลายแบบ โดยแบ่งลักษณะของลวดลาย ดังนี้
- ลวดลายรูปเสมา เป็นการสลักโครงรูปเสมา ทำให้แลดูคล้ายเป็นใบเสมาซ้อนกัน 2-3 ชั้น เสมาบางหลักมีการแกะลวดลายชนิดอื่นอยู่ภายในลายโครงรูปเสมาอีกทีหนึ่ง
- ลวดลายรูปสถูป สลักเป็นรูปสถูปหรือรูปยอดสถูป มักมีรูปทรงสูงแหลม เกือบจดปลายใบเสมา บางหลักมีลายลูกแก้วหรือวงแหวนคั่นอยู่ที่โคนยอดสถูป
- ลวดลายที่เป็นภาพชาดก สลักเป็นรูปภาพที่สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นเรื่องราวของชาดก มีอยู่เพียง 9 หลัก ได้แก่ เรื่องมโหสถชาดก พรหมนารทชาดก เตมียชาดก ภูริทัตชาดก เป็นต้น นอกนั้นไม่สามารถวิเคราะห์จารึกที่ค้นพบบนใบเสมา สามารถกำหนดอายุใบเสมาบ้านกุดโง้งได้ว่ามีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ใบเสมาที่พบเหล่านี้ส่วนหนึ่งชาวบ้านได้นำมาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดศรีปทุมคงคา บ้านกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จ.ชัยภูมิ