นางสงกรานต์ปี 2563 นาม “โคราคะเทวี” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม รายงานว่า ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง มีประกาศสงกรานต์ไว้ดังนี้
ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2563 ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช 1382 ทางจันทรคติเป็นอธิกวาร ทางสุริยคติเป็นอธิกสุรทิน
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 20 นาฬิกา 48 นาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า “โคราคะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหาร น้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงธน หรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆะ
วันที่ 16 เมษายน เวลา 09 นาฬิกา 24 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1382 ปีนี้ วันพฤหัสบดีเป็นธงชัย, วันอาทิตย์เป็นอธิบดี, วันพุธเป็นอุบาทว์, วันอังคารเป็นโลกาวินาศ ปีนี้ วันศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 250 ห่า นาคให้น้ำ 1 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 0 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหาร แลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
ทั้งนี้ สวธ.ได้เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับนางสงกรานต์ไว้ด้วยว่า พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ได้เคยเขียนไว้ว่า ท่านกล่าวว่า นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุดของเมืองฟ้า มีด้วยกัน 7 คนเป็นพี่น้องกันทั้งหมด ที่เรียกจำนวนว่ามี 7 คน ไม่เรียก 7 องค์ เพราะนางสงกรานต์เป็นนางฟ้าชั้นสามัญ ไม่ใช่เทวี หรือเทวดา ผู้หญิงโดยตรง เป็นบาทบริจาริกา (แปลว่านางบำเรอแทบเท้าหรือสนม) ของพระอินทร์จอมเทวราช เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม โดยมีนาม ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธและพาหนะประจำแต่ละนาง คือ
วันอาทิตย์ ชื่อ นางทุงษะ ดอกไม้ คือ ดอกทับทิม เครื่องประดับ ปัทมราค (พลอยสีแดง /ทับทิม) อาหาร อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธมีจักร และสังข์ พาหนะ คือ ครุฑ
วันจันทร์ ชื่อ นางโคราคะ ดอกไม้ คือ ดอกปีบ เครื่องประดับ มุกดาหาร (ไข่มุก) อาหาร น้ำมัน อาวุธ คือ พระขรรค์และไม้เท้า พาหนะ คือ พยัคฆ์ (เสือ)
วันอังคาร ชื่อ นางรากษส (อ่านว่า ราก-สด) ดอกไม้ คือ ดอกบัวหลวง เครื่องประดับ คือ โมรา อาหาร คือ โลหิต อาวุธ คือ ตรีศูล ธนู พาหนะ คือ วราหะ (หมู)
วันพุธ ชื่อ นางมณฑา ดอกไม้ คือ ดอกจำปา เครื่องประดับ ไพฑูรย์ อาหาร นมเนย อาวุธ คือ ไม้เท้าและเหล็กแหลม พาหนะ คือ คัทรภะ หรือคัสพะ (แพะหรือลา)
วันพฤหัสบดี ชื่อ นางกิริณี ดอกไม้ คือ ดอกมณฑา เครื่องประดับ คือ แก้วมรกต อาหาร คือ ถั่ว งา อาวุธ คือ ขอช้างและปืน พาหนะ คือ กุญชร (ช้าง)
วันศุกร์ ชื่อ นางกิมิทา ดอกไม้ คือ ดอกจงกลนี (บัวคล้ายบัวเข็ม) เครื่องประดับ บุษราคัม อาหาร คือ กล้วยน้ำ อาวุธ พระขรรค์และพิณ พาหนะ คือ มหิงส์ (ควาย)
และวันเสาร์ ชื่อ นางมโหทร ดอกไม้ คือ ดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับ นิลรัตน์ อาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธ คือ จักรและตรีศูล พาหนะ คือ นกยูง
ที่มา : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด ผู้เขียน : น้าชาติ ประชาชื่น