หนังสือสารานุกรมการละเล่นของกระทรวงวัฒนธรรม ระบุการละเล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “มอญซ่อนผ้า” ว่าเป็นการละเล่นของเด็กไทยในสมัยก่อน แต่ไม่มีรายละเอียดลึกซึ้งว่าเป็นของชนชาติใด อย่างไร บอกแต่เพียงว่าการละเล่นมอญซ่อนผ้าของบ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการละเล่นของเด็กไทยในสมัยก่อน ปัจจุบันชาวบ้านหนองขาวยังคงรักษารูปแบบการละเล่นดังกล่าวให้แก่เยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัด จำนวนอุปกรณ์มีผ้า 1 ผืน แล้วอธิบายการเล่นว่าหาคนที่เป็นมอญ 1 คน ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นมอญ ให้นั่งล้อมเป็นวงกลม หันหน้าเข้าข้างในวงแล้วร้องเพลงมอญซ่อนผ้า ดังนี้…
“มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ…” ขณะที่ผู้ที่นั่งร้องเพลงมอญจะถือผ้าแอบไว้เดินไปรอบวง ระหว่างเดินก็จะวางผ้าลงที่พื้นข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่งในระยะที่ผู้นั่งจะเอื้อมมือมาถึง แล้วเดินทำท่าว่ายังมีผ้าอยู่ในมือ เพื่อไม่ให้เพื่อนผิดสังเกต เมื่อเดินมาถึงที่วางผ้าไว้ ก็หยิบผ้าขึ้นมาตีผู้ที่นั่งอยู่ข้างหน้าผ้า ผู้ที่ถูกไล่ตีต้องวิ่งให้รอบวง และเมื่อมาถึงที่นั่งของตนก็จะนั่งลงที่เดิม มอญก็จะหาที่ซ่อนต่อไป ในขณะที่มอญกำลังหาที่ซ่อนผ้า ผู้ที่นั่งอยู่ใช้มือคลำไปข้างหลัง เพื่อจะได้พบผ้าที่มอญอาจจะมาวางไว้ข้างหลังตน ถ้าหยิบผ้าได้ก่อนมอญจะมาถึง ก็ต้องหยิบผ้าขึ้นและลุกขึ้นวิ่งไล่ใช้ผ้าตีมอญ มอญจะวิ่งหนึไปรอบวงแล้วมานั่งแทนที่ผู้นั้น ผู้นั้นก็จะเป็นมอญแทนและหาที่ซ่อนผ้าไว้ข้างหลังคนอื่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม การละเล่น “มอญซ่อนผ้า” ถึงแม้จะมีชื่อของ “มอญ” มาเกี่ยวข้อง แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่การละเล่นของคนมอญหรือชาวมอญเลย ดังที่ “องค์ บรรจุน” เขียนอธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่าพยายามค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” ทั้งสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวมอญหลายคน ล้วนยืนยันตรงกันว่าการละเล่นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่การละเล่นของมอญ คาดว่าเป็นการละเล่นที่คนไทยคิดขึ้นมา ด้วยความที่คนไทยและคนมอญคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คนไทยจึงหยิบยกเอาจุดอ่อนของมอญขึ้นมาล้อเล่น เย้าแหย่กันประสาเพื่อนฝูง เพราะคนมอญนั้นซ่อนผ้าจริงๆ และคนมอญนั้นไม่เล่นตุ๊กตาเด็ดขาด
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากเข้าวัดทำบุญ อาบน้ำผู้ใหญ่แล้ว การรำลึกถึงปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ ด้วยการทำความสะอาดโกศอัฐิ ประพรมน้ำอบ บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ผ้าแพรหลากสี เป็นสิ่งที่คนมอญไม่เคยลืม คนมอญนั้นนับถือผีอย่างมาก ซึ่งไม่ได้งมงายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีไร้สกุลรุนชาติ ทว่าเป็นผีปู่ย่าตายายของตนเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ผีมอญนั้นมีด้วยกันหลายสกุล เช่น ผีเต่า ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ผีงู เป็นต้น (ตามความเข้าใจของผู้เขียน ที่หาเหตุผลและหลักฐานใดมาอ้างอิงมิได้ เชื่อว่า สกุลผีต่างๆ นั้นเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อก่อนตายเคยชอบกินหรือสั่งเสียเอาไว้ เมื่อปู่ย่าตายายตายจากไป ลูกหลานจึงบำรุงเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่ปรุงจากสิ่งที่ปู่ย่าตายายชื่นชอบ)
ผีมอญมีหน้าที่คอยปกปักรักษาดูแลลูกหลาน มีจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติ หากลูกหลานปรนนิบัติผีได้เหมาะสมครบถ้วนแล้ว รับประกันได้ว่าชีวิตครอบครัวจะราบรื่น สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข เพราะจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อครอบครัวและปฏิบัติต่อผีนั้น สามารถเทียบได้กับกฎหมายในปัจจุบันนั่นเอง
บ้านมอญทุกบ้านจะมีเสาหลักหรือเสาเอกของบ้าน ซึ่งก็คือ “เสาผี” อยู่ในเรือนใหญ่ชั้นใน และอยู่ในห้องนอนของเจ้าบ้าน เป็นเสาที่ใช้แขวนหีบหรือห่อผ้าผี ภายในหีบหรือห่อประกอบด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าโพกหัว และแหวนทองหัวพลอยแดง 1 วง การเก็บดูแลรักษาผ้าผีต้องกระทำอย่างมิดชิด หมั่นดูแลใส่ใจตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เนืองๆ อย่าให้ฉีกขาด แมลงกัดแทะหรือสูญหายไปได้ หากลูกหลานไม่หมั่นดูแลปล่อยให้ผ้าผีฉีกขาดสูญหาย หรือละเมิดจารีตประเพณีอื่นๆ เช่น ห้ามให้คนนอกผีหรือคนนอกตระกูลมาหลับนอนลักษณะคู่ผัวตัวเมียในเรือนใหญ่ชั้นใน แม้แต่ลูกสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผีอื่น (คนมอญจะถือผีทางฝ่ายชาย โดยถ่ายทอดผ่านลูกชายคนหัวปี) นอกจากนั้น ยังห้ามคนตั้งท้องยืนพิงเสาบ้าน ห้ามคนในตระกูลจัดงานเงียบๆ ต้องแจ้งให้ญาติทุกคนในตระกูลมาร่วมงาน และห้ามคนในตระกูลจัดงานเกิน 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี เป็นต้น มิเช่นนั้นผีจะลงโทษทำให้คนในบ้านป่วยไข้ไม่สบาย ทำมาหากินไม่ขึ้น จะต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการไถ่โทษ
เมื่อพิเคราะห์ดูจารีตประเพณี กฎข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่างๆ ต่อผีแล้ว พบว่ามีแต่ข้อดีที่เตือนสติและให้แง่คิด เป็นครรลองดำเนินชีวิตแก่ลูกหลาน อย่างเช่นการห้ามคนนอกผีเข้าเรือนชั้นในนั้นก็เห็นได้ชัดเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญป้องกันปัญหาเรื่องชู้สาว กรณีการห้ามจัดงานเงียบๆ และห้ามจัดงานเกินปีละครั้งนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะกฎที่ห้ามจัดงานเงียบๆ นั้น คือต้องบอกแขกเหรื่อให้มาร่วมงานโดยไม่ปิดบัง ญาติพี่น้องต้องมาให้ครบทั้งตระกูล ให้ญาติพี่น้องใส่ใจติดตามข่าวสารซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการประหยัด
ปัจจุบันนี้แม้สังคมทั้งไทยและมอญจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคที่ผู้คนบริโภคข่าวสาร คนรุ่นใหม่รับเอาวัฒนธรรมชาติตะวันตกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างล้นทะลัก วัฒนธรรมไทยไม่อาจต้านกระแสเหล่านั้นได้ แต่ก็นับว่าสถานการณ์ของไทยยังดีกว่าของมอญ เพราะมอญไม่มีประเทศ ชาวมอญเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย ไม่ว่าจะทำนุบำรุงศิลปศาสตร์เอาไว้ได้ดีเพียงใด ก็เพียงได้ชื่อว่ารักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านมอญ อันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์ของคนไทย กล่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ “…การที่ชาวมอญและชาวไทยอยู่ด้วยกัน และเข้ากันได้เป็นอย่างดีนั้น เนื่องด้วยชาวมอญและชาวไทยมีวัฒนธรรมประเพณีทีคล้ายๆ กัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มอญทิ้งไว้ให้นั่นเอง…”
วัฒนธรรมประเพณีของมอญนั้นใกล้เคียงและสัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยจนแยกไม่ออก บางครั้งคนมอญเองก็ลืมเลือนไปว่าสิ่งใดคือของไทย และสิ่งใดเป็นของมอญ ครั้นจะทึกทักเอาเองก็ดูจะโอ้อวดเกินไป แต่สิ่งที่ยังคงมั่นใจได้ว่าสิ่งใดเป็นมอญแท้ อย่างน้อยคงดูได้จากวัฒนธรรมประเพณีมอญที่ยังคงหลงเหลือในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เพราะขึ้นชื่อว่าผีแล้วไม่ค่อยมีใครกล้าเปลี่ยนแปลงลักษณะและขั้นตอนมากนัก ยิ่งเมื่อได้ไปพบเห็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการรำผีในเมืองมอญ (เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า) เข้าแล้ว ทั้งสถาปัตยกรรม (โรงรำผี) ดนตรีปี่พาทย์ อาหารเซ่นผี การแต่งกาย ขั้นตอนประกอบพิธีกรรม และยิ่งภาษาที่ใช้สื่อสารกัน ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง
คนมอญนั้นสั่งนักสั่งหนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทั้งห้ามลูกห้ามหลานเป็นคำขาด ว่า “ไม่ให้เล่นตุ๊กตา” ไม่ทราบเหตุผล แต่ก็ยอมทำตามโดยดี เรื่องที่ “มอญซ่อนผ้า” จะด้วยเหตุผลใดนั้น คงไม่สามารถสรุปให้แน่ชัดลงไปได้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การซ่อนผ้าผีในหีบเก่าคร่ำคร่า ทว่าแฝงไปด้วยกุศโลบาย สอนลูกสอนหลานให้รู้คุณค่าของคน แต่หากจะกล่าวแบบนามธรรมแล้ว ก็เป็นเพราะมอญได้สูญเสียเอกราชมาเกือบ 300 ปี จำเป็นต้องเก็บสั่งสมศิลปวิทยาการใส่ผ้าห่อเอาไว้ รอวันที่ฟ้าจะมีหงส์ เมื่อนั้น “มอญ” จะไม่ “ซ่อนผ้า” อีกต่อไป