นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากสำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างการดำเนินงานขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ตามการจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วนปี 2563 ซึ่งได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์ โดยมีนายศุภชัย นวการพิศุทธิ์ เป็นนักโบราณคดีประจำการขุดแต่งโบราณสถานดังกล่าว โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563
ผลการขุดศึกษา พบว่าโบราณสถานโคกแจงเป็นศาสนสถานสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างด้านละประมาณ 7.20 เมตร มีบันไดกึ่งกลางด้านทั้ง 4 ด้าน และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่างการขุดค้น ปรากฏว่าพบแผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 26.2 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ แผ่นดินเผาทรงกลมนี้ พบว่ามีการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์ โดยมีลักษณะการขีดออกเป็นแฉกจากแกนกลาง แบ่งเป็น 12 ช่อง และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย
ในแต่ละช่องตารางย่อยพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง นอกจากนี้ ยังพบการจารตัวอักษรที่ริมขอบแผ่นดินเผาอีกด้วย สำหรับรูปอักษรที่ปรากฏมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรหลังปัลลวะ จัดเป็นโบราณสถานที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานอื่น
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่าได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ประกอบด้วย นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร) และนางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ พิจารณาเบื้องต้นจากรูปอักษรบางตัวที่ปรากฏ และมีความเห็นว่ารูปอักษรดังกล่าว เป็นอักษรหลังปัลลวะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
อย่างไรก็ตาม การอ่านแปลและวิเคราะห์สาระในจารึก จำเป็นต้องพิจารณาจากอักษรที่มีทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากโบราณวัตถุได้รับการอนุรักษ์ให้มีความแข็งแรงแล้ว ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าว ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ให้มีความแข็งแรง ก่อนจะนำสู่กระบวนการศึกษาวิเคราะห์ด้านจารึก และการศึกษาวิเคราะห์ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป