“Volume ความหนักเบาของการออกเสียง ทำให้คลิปวิดีโอมีอารมณ์” กร เดชานนท์โชค ยูทูบเบอร์ ช่อง Ninja CapMoo กินเที่ยว แนะนำในคลาส “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง” หนึ่งในหัวข้อการอบรมในกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” ให้กับชาวบ้านและนักเรียนในเขตสวนหลวง จัดโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ห้องประชุม โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ เขตสวนหลวง เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา
กร เดชานนท์โชค บอกว่า คำว่า อร่อย กับ อร้อยยยยอร่อย สื่อความหมาย ให้อารมณ์และความรู้สึกต่างกัน ดังนั้นการถ่ายคลิปวิดีโอ เน้นให้มีอารมณ์ อยากให้ทุกคนกล้าแสดงออก กล้าแสดงความเห็นในที่สาธารณะ และในการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียควรใช้แฮชแทค(#)เพื่อสร้างหมวดหมู่ในการค้นหา ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปชั่น(การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่จนส่งผลกระทบต่อกิจการ) ทำให้คนเปลี่ยนรูปแบบจากที่เคยทำ จากเคยซื้อของในตลาดหันมาซื้อของออนไลน์ จะเห็นได้ว่าอินเตอร์เน็ตทำลายคนกลาง
ทั้งนี้ ในกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” รฟม.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง จัดกิจกรรมอบรมปลูกผักไร้ดิน และ แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง ในพื้นที่ชุมชนตามแนวสายทางของรถไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ย่านลาดพร้าว พัฒนาการ ศรีนครินทร์ ไปจนถึงสำโรง รวม 10 พื้นที่ โดยร่วมมือกับศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) นำวิทยากรมาอบรมให้กับชาวชุมชน เรียกว่า มีทั้งสาระ ความรู้ และสนุกสนาน
นอกจาก กร เดชานนท์โชค ยูทูบเบอร์ ที่มาสอนการถ่ายคลิปวิดีโอและโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเบื้องต้นแล้ว ยังมี อ.ปกรณ์ พิสุทธิชาน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มผัก มาสอนปลูกผักไร้ดิน การปลูกผักในพื้นที่จำกัด เหมาะกับชุมชนเมือง รวมทั้งทฤษฎีความแตกต่างระหว่างการปลูกผักบนดินกับปลูกผักไร้ดิน ที่สามารถนำมากินในครัวเรือน และต่อยอดปลูกขายสร้างรายได้ด้วย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก
วีระพงษ์ ดำรงค์ธรรม รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ กล่าวว่า มีความยินดีที่ รฟม.จัดกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” ถือเป็นโอกาสอันดีที่โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์และชาวชุมชนในเขตสวนหลวงได้เรียนรู้ทักษะปลูกพืชแบบใหม่ๆที่ยังไม่มีประสบการณ์ โดยเฉพาะการปลูกผักไร้ดินในบ้าน เราจะได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ในวันนี้มีวิทยากรมาให้ความรู้กับผู้ปกครอง ชาวชุมชน และให้นักเรียนร่วมเรียนรู้ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียที่นักเรียนใช้ได้คล่องอยู่แล้ว ขอให้นักเรียนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ไปพัฒนาตัวเองและครอบครัว หวังว่ากิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้”จะเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชน และขอให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จต่อไป
ปริ๊น – นันทิภาคย์ น้อยอินทร์ นักเรียนชั้น ม.6/1 โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ บอกว่า ชอบการสอนปลูกผักไร้ดิน ที่ว่างกินได้ จะเอาไปบอกวิธีการปลูกให้กับคุณพ่อคุณแม่ และจะไปปลูกเองด้วย เพราะกำลังเรียนรู้เพื่อจะไปเรียนต่อคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เลือกคณะนี้เพราะพ่อแม่เป็นเกษตรกร อยู่ที่จ.พิษณุโลก ที่บ้านปลูกพืชไร่ มันสำปะหลัง ข้าว พริก และพืชผักสวนครัวอยู่บ้าง จึงอยากจะต่อยอดไปอีก
ขณะที่ พลอย – พิชญา สีทา นักเรียนชั้น ม.6/1 โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ บอกว่า สิ่งที่หนูชอบคือ การปลูกผัก เพราะปกติชอบกินสลัดโรล หรือสลัดมากอยู่แล้ว พอได้มาเรียนปลูกผักไร้ดิน ก็มีแนวคิดจะนำกลับไปปลูกที่บ้าน เพื่อนำมากินเอง ลดค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย หนูเป็นคนจ.กำแพงเพชร จะทดลองปลูกที่บ้านในกรุงเทพฯก่อน ถ้าดี ก็จะส่งไปบอกน้าที่ต่างจังหวัด ว่าปลูกง่ายและทำกินได้เอง
“ในส่วนของโซเชียลมีเดีย หนูชอบอยู่แล้ว เคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ในโครงการ ASEAN YOUTH MEDIA SHARING BANGKOK 2019 โครงการนี้ให้ทำเกี่ยวกับข่าวในอาเซียน เขาจะสอนว่าทำยังไงให้คนสนใจวิดีโอของเรา เพราะถ้ายาวเกินไปก็จะน่าเบื่อ เราจะต้องทำประมาณไหน เพื่อให้มีคนเข้ามาสนใจมากขึ้น ด้านการศึกษาต่ออยากเรียนด้านจิตวิทยา แต่ MEDIA ก็เป็นความชอบส่วนหนึ่ง ที่สนใจอยู่ อาจจะทำเป็นกิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรกก็ได้”พลอย – พิชญา เผย