แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร “อาหาร” ยังเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเลือกอาหารเฉพาะทางของศาสนาที่มีอัตราเติบโตเร็วที่สุดในโลก อย่างศาสนาอิสลาม โดย “อาหารฮาลาล” ไม่ใช่เพื่อกลุ่มประเทศมุสลิมเท่านั้น แต่สามารถเสิร์ฟได้กับทุกศาสนา ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบอาหาร ซึ่งจะช่วยยกระดับให้เป็น “ครัวของโลก” ได้
งานเสวนา “เปิดสูตรลับ SMEs ฮาลาล สู่ตลาดโลก” โดย นายสมัย เจริญช่าง กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการค้าขายและการลงทุนในตลาดอาหารฮาลาล โดยเปิดมุมมองว่า ความน่าสนใจของตลาดฮาลาลมีหลายปัจจัย อย่างแรกก็คือ อัตราการเติบโตของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามโตเร็วที่สุดในโลก ปัจจุบันจำนวนชาวมุสลิมแม้จะน้อยกว่าผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ผลการวิจัยจาก Pew Research Center ระบุว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรศาสตร์ ช่วงปี 2010-2050 ชาวมุสลิมมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 73% ขณะที่ศาสนาคริสต์จะมีประชากรเพิ่มขึ้น 35% ฮินดูเพิ่มขึ้น 34% และยิว 16%
ประการที่สองก็คือ ชาวมุสลิมเป็นศาสนาที่มีบุตรมากกว่าศาสนาอื่นทั่วโลก อีกทั้งชาวมุสลิมยังมีอายุเฉลี่ยประชากรต่ำกว่ากลุ่มศาสนาอื่นด้วย ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของชาวมุสลิมเพียง 23 ปีเท่านั้น ส่วนกลุ่มศาสนาอื่นอยู่ราว 30-36 ปี
นอกจากนี้ “อาหารฮาลาล” ยังได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมมากขึ้น โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึง 8% ต่อปี เหตุเพราะอาหารฮาลาลเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัย และมีระบบการผลิตที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม
และที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันเกือบ 90% ของผู้ประกอบการที่ส่งออกอาหารฮาลาลไม่ใช่มุสลิม และไม่ได้มาจากประเทศมุสลิม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน อินเดีย และไทย
นายสมัยกล่าวว่า “ฮาลาลไม่ได้หมายถึงอาหารเท่านั้น มีหลายธุรกิจที่เป็นฮาลาลได้ แต่ไทยมีความได้เปรียบมากที่สุด คือ ด้านวัตถุดิบอาหาร ทั้งยังมีความหลากหลาย รสชาติเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก เหมาะกับการเป็นครัวของโลกขณะที่ปัจจุบันแม้ว่ามีการรับรองตราฮาลาลแก่ร้าน อาหารมุสลิมในประเทศแล้วกว่า 3,500 ร้าน แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพของร้านอาหารไทย และจำนวนของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่เดินทางมาท่องเที่ยว และรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนของไทยในแต่ละปี ทั้งผู้ประกอบการไทยที่ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกยังให้ความสนใจกับการรับรอง ฮาลาลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”
ขณะที่การแข่งขันในตลาดฮาลาลโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง “มาเลเซีย” ที่รัฐบาลประกาศตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางฮาลาลนานาชาติ โดยชูระบบมาตรฐานฮาลาล รวมถึงเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ไม่ได้มุ่งพัฒนาเพียงแค่อาหารเท่านั้น แต่ล่าสุดมีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลที่หลากหลายขึ้น เช่น การส่งออก “คอสเมติกฮาลาล” รวมถึงแผนการจัดตั้งโรงพยาบาลฮาลาลเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่
รวมทั้ง “สิงคโปร์” ที่ได้ประกาศวิสัยทัศน์ตั้งตนเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาล ทั้งยังเน้นกิจกรรมส่งเสริมการทำตลาดอย่างจริงจังในตะวันออกกลาง ส่วน “บรูไนและออสเตรเลีย” ร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารเพื่อป้อนโลกมุสลิมมากขึ้น
ส่วน “อินเดีย” ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้เครื่องหมายฮาลาล และใบรับรองมาตรฐานเพื่อใช้ในการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะ ขณะที่ “จีน” เน้นแผนกระชับสัมพันธ์ทางการค้า เพื่อรุกตลาดสินค้าและอาหารฮาลาล ด้วยการเปิดโอกาสให้ประเทศมุสลิมสามารถเข้ามาจัดตั้งสถาบันการเงิน และภาคธุรกิจอื่นในเขตปกครองตนเองได้หลายเขต แม้แต่ “ยุโรปและอเมริกา” ก็ต่างมีการส่งเสริมการดำเนินกิจการฮาลาลอย่างจริงจัง
นายสุนทร สุขสมเนตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
(เอสเอ็มอีแบงก์) ระบุว่า อุปสรรคของผู้ประกอบการไทยตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เป็นความเข้าใจและความกล้าที่จะทำธุรกิจมากกว่า ซึ่งธนาคารพร้อมส่งเสริมอย่างเต็มที่ อย่างโครงการ “SMEs เถ้าแก่ 4.0” ที่ให้วงเงินมากถึง 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี และไม่ต้องใช้หลักประกัน
ส่วนตัวแทนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เสนอการช่วยเหลือด้าน “สินเชื่อเพื่อการออกงานแสดงสินค้า” วงเงิน 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้ออร์เดอร์มาจาก การออกบูทแสดงสินค้าอีกด้วย
“ภาคเอกชนไทยมีความเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก ส่วนองค์กรที่ออกตรารับรองฮาลาลในไทยก็มีจุดให้บริการทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นที่ยอมรับในสากลโลก การผลักดันเพื่อเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลเบอร์ต้น ๆ อาจต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมากขึ้น อย่างน้อยรัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการรับรู้ต่อตลาดโลก รวมถึงยกระดับเครื่องหมายรับรองฮาลาลของไทย” กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯระบุ
ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ