“เฉาก๊วย” ดับร้อนผ่อนกระหาย ไม่ได้เกิดในไทยแต่มาจากจีน

Food Story อาหาร

ากอยากจะกินเฉาก๊วยสักถ้วย ต้องคิดแล้วสิว่าเฉาก๊วยที่ดีและมีคุณค่านั้น มันต้องหน้าตาอย่างไร แบบไหน ต้องมี อย. หรือไม่ หรือต้องมีสัญลักษณ์คำแนะนำชวนชิม แล้วจะกินเฉาก๊วยแบบไหนดี เพราะเฉาก๊วยมีความแตกต่างกัน บางเจ้าเนื้อนิ่ม บางเจ้าเนื้อแข็ง บางเจ้าทำเป็นเส้นเล็กๆ บางเจ้าทำเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า แล้วต้องกินยังไงถึงจะอร่อย กินกับน้ำเชื่อม ใส่นม ใส่น้ำแดง ใส่กะทิ หรือต้องมีส่วนประกอบอื่น เช่น ข้าวโพด ลูกชิด ฯลฯ โอ…สารพัดความคิด

แล้วหากจะทำเฉาก๊วยขาย จะให้ความสำคัญกับอะไร?

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น มาดูกันก่อนว่า “เฉาก๊วย” คืออะไร? มาจากไหน? ที่แน่ๆ เกือบทุกคนรู้ว่า “เฉาก๊วย” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า “ขนมหญ้า” ฝรั่งเรียก “Grass Jelly” ส่วนหญ้าที่นำมาทำเฉาก๊วยคือ “หญ้าเฉาก๊วย” หรือ Mesona Chinensis เป็นพืชในตระกูลโหระพา เฉาก๊วยนอกจากรสชาติดีแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยามากมาย ช่วยขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และแก้อาการปวดท้อง เป็นไข้หวัด ลดความดันโลหิตสูง บรรเทาอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ ตับอักเสบและเบาหวาน ตามตำราจีนนั้นสามารถช่วยลดอาการร้อนในกระหายน้ำได้ดีทีเดียว

ต้นเฉาก๊วย

แรกเริ่มนั้นเฉาก๊วยในประเทศไทยที่เรากินกันทุกวันนี้ อพยพมาพร้อมกับคนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้นำเอาเฉาก๊วยเข้ามาขายด้วย โดยแรกๆ ขายเป็นเฉาก๊วยนิ่มแบบดั้งเดิมจากประเทศจีน แต่เป็นเพราะเมืองไทยอากาศร้อน เพียงแค่ไม่นานเฉาก๊วยก็กลายเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักของคนไทย ต่อมาจึงขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

สำหรับต้นเฉาก๊วยที่นำมาทำเฉาก๊วยให้เรากินนั้น เป็นต้นเฉาก๊วยตากแห้ง สมัยก่อนต้องสั่งนำเข้าจากประเทศจีน แต่ทุกวันนี้มีการนำพันธุ์เฉาก๊วยมาปลูกในเมืองไทยแล้ว ถึงอย่างนั้น บางโรงงานก็ยังรับต้นเฉาก๊วยตากแห้งมาจากประเทศจีน เวียดนาม และอินโดนีเซียเพื่อมาขายอีกที

ว่ากันว่าต้นเฉาก๊วยที่คุณภาพดีที่สุดอยู่ที่เมืองทัตเค ในแคว้นหลั่งเซินของเวียดนามตอนเหนือ ห่างจากกรุงฮานอยราว 150 กม. เมืองทัตเคได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งเฉาก๊วย เพราะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี และมีดินปนทราย จึงทำให้สามารถปลูกต้นเฉาก๊วยได้ปีละ 2-3 ครั้ง พื้นที่กว่า 80% ของเมืองนี้จึงเต็มไปด้วยไร่เฉาก๊วย และพืชสมุนไพรอื่นๆ เมื่อเก็บเกี่ยวต้นเฉาก๊วยแล้วจะนำมาตากจนแห้ง จากนั้นนำส่งโรงงานเพื่อเข้าเครื่องอัดบล๊อค อัดออกมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ให้ง่ายต่อการขนส่ง ปีหนึ่งๆ เมืองทัตเค ประเทศเวียดนาม มีการส่งออกต้นเฉาก๊วยถึง 10,000 ตัน

การทำเฉาก๊วย ก็คือการนำต้นเฉาก๊วยแห้งมาต้ม จะได้น้ำเป็นเมือกสีดำ ต้องกรองแล้วเอามาผสมแป้งตั้งทิ้งไว้จนเย็น จะมีลักษณะคล้ายวุ้นสีดำ มีกลิ่นหอม ส่วนความเหนียวหนึบของเฉาก๊วยนั้นเกิดจากการต้มต้นเฉาก๊วยแห้งกับน้ำ จนยางไม้และแพคตินละลายออกมาได้น้ำสีน้ำตาลดำ ก่อนจะกรองเอาแต่น้ำนำไปผสมกับแป้ง ซึ่งตามตำรับโบราณนิยมใช้แป้งท้าวยายม่อม และแป้งมันสำปะหลัง ตามสัดส่วนหรือสูตรของแต่ละคน เวลาจะกินก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนว่าจะกินอย่างไร ส่วนใหญ่จะใส่น้ำเชื่อมและน้ำแข็งให้ชื่นใจคลายร้อน

รู้ความเป็นมาของเฉาก๊วยแล้ว ลองมาทำเฉาก๊วยกินกันสักถ้วยดีไหม!! หรือใครสนใจอยากเรียนการทำเฉาก๊วย 2 สูตร ทั้งสูตรอ่อนนุ่มและสูตรหนึบเด้ง “มติชน อคาเดมี” เปิดคอร์สสอน ราคา 2,140 บาท (อ่านรายละเอียอดคอร์สเพิ่มเติมได้ที่ https://www.matichonacademy.com/demo-class/article_6319) ติดต่อเข้ามาได้ที่ Inbox : Facebook Matichon Academy
Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
หรือติดต่อ line : @matichonacademy