หากพูดถึงขนมปังหอมๆ เปิดซองมาแล้วเหมือนหอมกรุ่นจากเตาร้อนๆ เนื้อขนมปังนุ่มเนียนเหมือนกินซาลาเปา และอยู่คู่กับคนไทยมานาน เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง “ฟาร์มฮ้าส์” แน่นอน ด้วยเป็นแบรนด์ที่ทำให้คนไทยรู้จักการกินขนมปังมากขึ้น หาซื้อง่าย รสชาติถูกปาก และราคาเอื้อมถึง
หากย้อนกลับไปเมื่อ 36 ปีก่อน หรือในปี 2525 ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์เกิดขึ้นโดยเครือสหพัฒน์ ที่หลังจากประสบความสำเร็จได้สัก 10 ปีในแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง “มาม่า” ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งสาลี ในเครือก็คิดว่าจะต้องแตกไลน์สินค้าออกมาทำขนมปัง เพราะดูแล้วมีแนวโน้มที่ดี จึงเกิด “บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)” ขึ้น กับโปรดักต์ตัวแรกที่ยังใช้เครื่องจักรมือสอง คือ ขนมปังแถว ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “ฟาร์มเฮ้าส์”
ที่มาที่ไปของชื่อฟาร์มเฮ้าส์นั้นมาจากในช่วงก่อตั้ง ผู้บริในเครือมีการคุยกันว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ถกกันไปมา จนสุดท้ายมาได้ชื่อฟาร์มเฮ้าส์ ที่แปลว่า “บ้านไร่” เป็นที่ที่ผลิตขนมปังได้ มีโรงสี และมีความเกี่ยวข้องกับขนมปังอยู่ในตัวเอง นอกจากนี้ยังอยากให้มีความรู้สึกว่าเป็นบ้าน จึงเป็นที่มาของโลโก้หลังคาสีแดง มีปล่องไฟเล็กๆ นั่นเอง
หลังจากเปิดตัวได้ 2 ปี เครือก็มอบหมายให้ “อภิชาติ ธรรมมโนมัย” กรรมการผู้อำนวยการคนปัจจุบัน เข้ามาดูฟาร์มเฮ้าส์ ซึ่ง “อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย” กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) และเป็นลูกชายของอภิชาติ เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกของฟาร์มเฮ้าส์เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะคนไทยคิดว่าขนมปังเป็นของกินเล่น เนื่องจากขึ้นต้นด้วยคำว่า “ขนม” จึงไม่คิดว่าขนมปังจะเป็นมื้ออาหาร ทำให้ช่วงแรกขนมปังมักไปอยู่ตามร้านอาหารและคาเฟ่
วิธีการของฟาร์มเฮ้าส์ที่ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักการกินขนมปังคือการทุ่มเม็ดเงินไปที่การโฆษณา จนเรียกได้ว่าเป็นแบรนด์เบอเกอรี่ที่ลงทุนโฆษณาสูงสุดในตลาด รวมไปถึงยังทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดทำแซนด์วิช หรือการพยายามนำเสนอว่าขนมปังนั้นกินแทนข้าวได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นฟาร์มเฮ้าส์ยังจัดเป็นแบรนด์อันดับรองๆ เพราะจะมีแบรนด์อื่นอยู่ก่อนแล้ว คือ ขนมปังรัศมี ซึ่งถ้าใครเกิดทันก็อาจจะรู้จัก แต่ปัจจุบันขนมปังรัศมีได้ปิดตัวลงไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีแบรนด์การ์ดิเนียร์ที่เป็นแบรนด์ที่มาทีหลัง ซึ่งถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของฟาร์มเฮ้าส์ แต่สุดท้ายการ์ดิเนียร์ก็ปิดกิจการในไทยไปเนื่องจากขาดทุน
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่เป็นแบรนด์รองนั้น ฟาร์มเฮ้าส์ก็อาศัยการดัมพ์ราคาลงมาเพื่อให้ขายได้ แต่มีวันหนึ่งที่ “อภิชาติ” ไปเดินห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง แล้วพบว่าผู้บริโภคที่มาถึงซุ้มลดราคาต่างก็พยายามคุ้ยสินค้าเพื่อหาชิ้นที่ดีที่สุด เลยเกิดไอเดียว่าจะติดวันหมดอายุไว้ ในขณะที่ในยุคนั้นยังไม่มีการบอกวันหมดอายุ ทำให้ฟาร์มเฮ้าส์กลายเป็นแบรนด์แรกที่มีการบอกวันหมดอายุ
เรื่องของวันหมดอายุยังมีอีกหลายอย่าง หากใครยังจำได้คงจะรู้ดีว่าในช่วงแรกฟาร์มเฮ้าส์ใช้ลวดในการปิดถุงขนมปัง จนมาระยะหนึ่งที่ใช้เครื่องตรวจโลหะ ก็คิดว่าถุงขนมปังคงจะไม่สามารถเข้าเครื่องตรวจโลหะได้ เลยเปลี่ยนมาใช้คลิปพลาสติกอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ แต่ที่แตกต่างคือในยุคแรกของการใช้คลิป จะมีการตีวันหมดอายุไว้ที่คลิป จนมาถึงยุคหนึ่งที่เกิดไอเดียว่าอยากใช้คลิปให้เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และสะดวกต่อฟาร์มเฮ้าส์เองด้วย จึงเกิดเป็นคลิป 7 สี 7 วัน ตามวันที่วางขาย เพื่อให้หยิบสินค้าที่หมดอายุออกได้
แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง เมื่อลูกค้ามักบ่นว่าคลิปหาย เพราะหลายคนเป็นคือพอเปิดถุงขึ้นมาเสร็จแล้วก็จะใช้วิธีการม้วนแทนใช้คลิปหนีบ เมื่อคลิปหายทำให้ไม่รู้ว่าขนมปังหมดอายุวันไหน ฟาร์มเฮ้าส์จึงแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนจากตีวันหมดอายุไว้ที่คลิป มาเป็นตีไว้ที่หน้าซองแทน ซึ่งพอฟาร์มเฮ้าส์ทำ แบรนด์อื่นๆ ก็เริ่มทำตาม
การเป็นเจ้าแรกของฟาร์มเฮ้าส์ไม่ได้มีแค่เรื่องวันหมดอายุ แต่ยังมีเรื่องของถุง ที่เป็นเจ้าแรกที่ถุงของขนมปังแถวผ่านการซีลที่เรียกว่า Ultrasonic Seal ที่เป็นการซีลที่ทำให้ฉีกได้ง่าย แต่ก็มั่นใจได้ว่าจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปแน่นอน
นอกจากขนมปังแถวแดงที่เป็นซิกเนเจอร์ตลอดกาลของฟาร์มเฮ้าส์ แบรนด์นี้ก็ยังมีเบเกอรี่แปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น “โดรายากิ” ที่เราเคยเห็นในการ์ตูนเรื่องโดเรม่อน ต่อมาก็ทำโดนัทเค้ก โดนัทเนื้อเค้กสอดไส้ ที่ตอนนี้ฟาร์มเฮ้าส์ยังเป็นเจ้าเดียวที่ทำ, ขนมปังแผ่นหนานุ่ม อย่างรอยัล เบรด ที่ขายในราคาเอื้อมถึง ได้รับความนิยมจนแตกไลน์ออกมาเป็นรอยัล โฮลวีต และรอยัล 12 เกรน ที่ใช้ธัญพืชนำเข้าจากสหรัฐฯและแคนาดา รวมถึงขนมปังตัดขอบ ที่มีสาเหตุมาจากการที่คนไทยไม่ชอบกินขอบขนมปัง บางคนเขี่ยทิ้ง เวลานำไปอบ ขอบก็เป็นส่วนที่แข็งที่สุด ทำให้เกิดไอเดียว่าจะทำขนมปังตัดขอบขึ้น ซึ่งทำให้ฟาร์มเฮ้าส์ต้องเปลี่ยนพิมพ์ใหม่ เพราะขนมปังตัดขอบจะต้องใหญ่กว่าขนมปังปกติ เมื่อตัดขอบแล้วจะได้มีขนาดเท่ากับขนมปังปกตินั่นเอง
เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับฟาร์มเฮ้าส์ยังรวมไปถึงเรื่องการวางจำหน่ายของในร้านสะดวกซื้อ ที่ฟาร์มเฮ้าส์จะวางขายเพียง 2 วันเท่านั้น ยกตัวอย่างคือ หากเริ่มวางของวันจันทร์ วันพุธก็จะมาเก็บของที่ยังขายไม่หมด ขนมปังที่เหลือจะนำไปขายไปเป็นอาหารปลา
ถึงแม้จะเป็นบริษัทที่มีการเติบโตมาเรื่อยๆ แต่ก็เคยเจอวิกฤตมาบ้าง ครั้งที่หนักๆ ของฟาร์มเฮ้าส์เห็นจะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ที่ต้องแก้ไขด้วยการไปกู้ยื่มเงินจากต่างประเทศ อีกครั้งก็คือวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่ก็โชคที่น้ำมาไม่ถึงทั้งตัวสำนักงาน และโรงงานที่บางชันและลาดกระบัง นอกจากนี้ยังมีศูนย์กระจายสินค้าของตัวเอง การขนส่งก็ใช้รถคันใหญ่ ทำให้เป็นช่วงที่ยังพอขับเคลื่อนไปได้
“อภิเศรษฐ” บอกว่า ปัจจุบันฟาร์มเฮ้าส์มีสินค้าราว 100 ชนิด ผลิตรวมอยู่ที่ 2 ล้านห่อ/วัน ที่ผ่านมาได้ 30 กว่าปี ฟาร์มเฮ้าส์พยายามหาสินค้าใหม่ และพัฒนาคุณภาพสินค้าเดิมในราคาที่ผู้บริโภครับได้เสมอ อย่างขนมปังแถวไม่มีการปรับราคามาเกือบ 10 ปีแล้ว ถึงแม้ประเภทอื่นๆ จะมีการปรับขึ้นราคาบ้าง แต่ก็อยู่ในจุดที่ยังรับได้
เพื่อให้เป็นขนมปังที่คนไทยทุกคนกินได้นั่นเอง