เส้นทางถนนสายปราจีนบุรี-อรัญประเทศ ฝั่งขากลับเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างเส้นทางที่ทอดยาวผ่านจังหวัดสระแก้วก่อนจะเข้าปราจีนบุรี หากสังเกตข้างทางริมถนนจะมีแผงหรือเพิงขายสินค้าเกษตรของชาวบ้านให้เห็นเป็นระยะๆ ครั้งนี้เพิงข้างทางต่างขึ้นป้ายขาย “ข้าวโพดกินดิบได้” พร้อมบอกสรรพคุณหวาน กรอบ อร่อย ตามด้วยรูปฝักข้าวโพดสีแดงคล้ำราวกับเม็ดทับทิม เรียกสายตาคนสัญจรไป-มาและคนใช้รถใช้ถนน
รถขับเคลื่อนสี่ล้อที่มีผู้โดยสาร 5 คน ตะบึงด้วยความเร็วเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อมองสองข้างทาง หนแรกไม่มีใครสนใจว่าข้าวโพดกินดิบนี้มีความแปลกพิเศษตรงไหน ก็เป็นเพียงข้าวโพดที่มีสีเหมือนข้าวกล้อง หรือ ข้าวกล่ำ นั่นเอง ส่วนการจะนำมากินดิบหรือไม่ดิบอยู่ที่ความนิยมของคนรับประทาน แต่ไม่น่ามีใครเสี่ยงกินดิบเพราะอาจปวดท้องหรือท้องอืดได้
ดังนั้น ทุกคนในรถจึงสงวนทีท่านั่งมองสองข้างทางไปเรื่อยๆ รถยังคงวิ่งตะลุยไปข้างหน้า ผ่านเพิงขายข้าวโพดแผงแล้วแผงเล่า กระทั่งเหลือแผงสุดท้ายเสียงร้องบอก “หยุดดด..ดดด” ดังขึ้นลั่นรถ คนขับหักพวงมาลัยเข้าข้างทางหน้าแผงขายข้าวโพดแผงสุดท้ายพอดี
แม่ค้าตาไม่หวานแล้ว เพราะเป็นคุณป้าวัยหกสิบกว่า เชิญชวนและชี้ชวนให้ซื้อข้าวโพดที่มีเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ฝักในกล่องโฟม ขณะที่บนเตาใกล้ๆ ยังมีข้าวโพดกินดิบนี้ย่างไฟอ่อนๆ อยู่ เสียงสอบถามว่า “อ้าวไหนบอกว่ากินดิบ นี่ยังต้องย่างไฟอยู่เลย” คุณป้าตาไม่หวาน ยิ้มก่อนบอกว่า “กินได้ทั้งแบบดิบและแบบย่างจ้า” คุณป้าหันไปหยิบข้าวโพดย่างไฟสุกแล้วมาให้ชิมหนึ่งฝัก พร้อมกับหันไปหักฝักข้าวโพดดิบมาให้ชิมอีกครึ่งฝัก เพื่อให้คนกินเปรียบเทียบกัน เมื่อฝักข้าวโพดทั้งสองชนิดเข้าไปอยู่ในปาก เสียงสรรเสริญชมเชยว่าอร่อยก็ดังโขมง ทั้งแบบดิบและแบบย่างสุก
คุณป้าแม่ค้ายิ้มหน้าบาน บอกว่าข้าวโพดพันธุ์นี้เรียกว่า “ทับทิมสยาม” ไม่ได้ปลูกแถวนี้ แต่มีนายทุนนำมาส่งให้ขาย โดยตั้งราคาขาย 3 ฝัก 100 บาท ในจำนวนนี้คุณป้าจะได้ส่วนแบ่ง 20 บาท ถ้าขายได้ 200 บาท ก็จะได้เงิน 40 บาท เป็นต้น
ส่วนเพิงขายที่เห็นเรียงรายเป็นแถวๆ ตามแนวถนนนั้น สรุปว่าเป็นของนายทุนที่นำมาจ้างชาวบ้านแถวนี้ให้ขายทั้งนั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของไร่ข้าวโพดโดยตรง
“ปกติแล้วข้าวโพดพันธุ์นี้ ไม่ใช่พืชพื้นถิ่นย่านนี้ แต่นายทุนนำมาจากจังหวัดอ่างทอง เพื่อกระจายให้ชาวบ้านขาย เป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านมาขายดิบขายดี หมดทุกวัน มีเท่าไหร่ก็หมด ส่วนเขาจะปลูกยังไง ไม่รู้เลย” คุณป้าแม่ค้าบอก
จากการสืบค้นเรื่องราวของข้าวโพดกินดิบ ที่สุดก็พบว่าผู้ที่พัฒนาข้าวโพดพันธุ์นี้ คือ “ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ” อดีตอาจารย์ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 5 ของนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดระดับโลก ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท สวีทซีดส์ จำกัด
อาจารย์ทวีศักดิ์ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษสีแดงนี้ขึ้น ให้ชื่อว่า “ราชินีทับทิมสยาม” (Siam Ruby Queen) ถือเป็นข้าวโพดหวานสีแดงพันธุ์แรกของโลก ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์โดยฝีมือคนไทย มีความโดดเด่นในเรื่องของสีสันสวยสด และรสชาติที่แปลกใหม่ สามารถรับประทานสดหรือแบบดิบๆ ได้เลย ซึ่งจะทำให้ได้รสชาติที่หวานและมีความกรอบในตัวมากขึ้นด้วย
การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดชนิดนี้ ผู้พัฒนาสายพันธุ์เล่าว่า ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพหรือการตัดต่อยีนแต่อย่างใด ทุกขั้นตอนเป็นการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบดั้งเดิมทั้งสิ้น และถือเป็นเจ้าแรกที่ทำข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง ที่ผ่านมามีแต่ข้าวโพดหวานธรรมดาสีแดง ซึ่งข้าวโพดหวานพิเศษสีแดงสามารถรับประทานสดได้เลย เหมือนผลไม้ทั่วไป
สำหรับประโยชน์ของข้าวโพดราชินีทับทิมสยาม ข้อมูลทางวิชาการระบุ ว่ามีปริมาณสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) สูง ซึ่งสารตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่มีในดอกอัญชันที่นิยมนำมาต้มดื่มเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ เป็นสารรงควัตถุสีม่วง-แดง ที่มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีจำนวนมากทั้งในเมล็ด ซัง และไหมข้าวโพด ซึ่งนำเมล็ดมารับประทานตามปกติก็ได้ หรือจะนำไหมกับซังมาต้มเพื่อสกัดสารตัวนี้ก็ได้ ถ้ารับประทานเมล็ดข้าวโพดตัวนี้ จะมีกลิ่นหอมคล้ายๆ ผลไม้บางชนิด และมีรสชาติหวานกรอบเป็นเอกลักษณ์
ส่วนการปลูก เหมือนกับปลูกข้าวโพดหวานปกติทั่วไป แต่ข้าวโพดหวานสีแดงนี้จะไม่ชอบหน้าฝนที่มีช่วงฝนตกหนักตลอด เพราะอ่อนแอต่อความชื้นสูงๆ มากกว่าพันธุ์อื่น แต่ก็มีเกษตรกรบางคนนำไปปลูกช่วงหน้าฝนและได้ผลผลิตดีด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูก
ในช่วงอายุ 45-50 วัน ต้องหมั่นตรวจดูการระบาดของแมลง โดยเฉพาะหนอนเจาะลำต้น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หากพบการระบาดให้กำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร คำแนะนำอีกอย่างคือ ไม่ควรปลูกให้ออกดอกพร้อมกับข้าวโพดพันธุ์อื่น แม้จะเป็นข้าวโพดหวานเหมือนกันก็ตาม เพราะข้าวโพดหวานสีแดงนี้อายุเบากว่าข้าวโพดหวานชนิดอื่นๆ คือจะออกดอกภายใน 45 วัน หลังปลูก จะเก็บเกี่ยวได้ที่ 65 วัน หลังปลูก
เวลานี้เกษตรกรในบ้านเรายังปลูกข้าวโพดพันธุ์นี้ไม่มากเท่าไร เพราะเมล็ดพันธุ์เพิ่งมีออกจำหน่ายได้ไม่นาน เกษตรกรยังไม่ค่อยรู้จักกันมาก แต่อีกไม่นานคาดว่าจะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเพราะสามารถขายได้ราคาดีกว่าข้าวโพดหวานทั่วไป และส่วนหนึ่งเพราะคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งสารแอนโทไซยานินที่อยู่ในข้าวโพดพันธุ์นี้เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะการต่อต้านอนุมูลอิสระ