“ชา-กาแฟ” พระเอกและผู้ร้าย

Food Story อาหาร

เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมและมักมาพร้อมกับเบเกอรี่คือ กาแฟและชา มีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับคุณประโยชน์และโทษของเครื่องดื่ม 2 ชนิดนี้ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าสิ่งใดมีประโยชน์มากกว่ากัน เพราะมีงานวิจัยที่ออกมาพูดในแง่มุมตรงกันข้ามนี้อย่างมากมาย และขณะเดียวกันการดื่มเครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้ก็มีรายละเอียดอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการที่จะทําให้ชาและกาแฟ เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย

ก่อนที่จะแยกชา-กาแฟออกจากกันเพื่อวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะพบในแต่ละอย่าง ขอพูดถึงภาพรวมของชา-กาแฟที่มีลักษณะร่วมกันเสียก่อน นั่นคือการมีกาเฟอีนผสมอยู่ในตัวมันเอง

“กาเฟอีน (Caffeine)” เป็นยากระตุ้นประสาทชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งมีผลทําให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น ทําให้กระเพาะอาหารผลิตกรดออกมามากกว่าปกติ และทําลายโครโมโซมในหนูที่ใช้ทดลอง ทําให้ลูกหนูที่คลอดออกมาพิการไม่สมประกอบ โดยในปี ค.ศ.1980 สํานักงานอาหารและยา (F.D.A.) ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเตือนให้สตรีที่ตั้งครรภ์ลดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้

แต่ในขณะเดียวกันแพทย์ได้ใช้กาเฟอีนกับเด็กทารกที่คลอดก่อนกําหนดและหยุดหายใจแล้วกว่า 20 วินาที เพื่อช่วยกระตุ้นให้ฟื้น แต่ได้ผลไม่แน่นอน และมีการใช้ในห้องทดลองเกี่ยวกับการกระตุ้นระบบประสาท รวมถึงใช้ผสมกับยาเออร์กอท (Ergot) ในการรักษาไมเกรนด้วย

สถาบันวิจัยหลายแห่งพบว่าประโยชน์ของชาและกาแฟมีเท่าๆ กัน โดยกาแฟช่วยปรับให้ระดับอินซูลินคงที่ และลดอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคพาร์กินสัน และมะเร็งที่ลำไส้ได้

กาเฟอีนมีประสิทธิภาพทําให้เส้นเลือดที่ขยายออกหดตัวกลับสู่ภาวะปกติ บรรดายาแก้ปวดทั้งหลายจึงมีส่วนผสมของกาเฟอีนเพื่อช่วยลดอาการปวดไมเกรนหรือปวดศีรษะทั่วไป ขณะเดียวกันก็ทําให้เสพติด แม้จะไม่หนักหนาเหมือนยาเสพติดชนิดอื่นๆ แต่เมื่อไรที่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือปวดหัว คนจะหันไปพึ่งกาเฟอีนเสมอ และมักจะพึ่งพาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผลข้างเคียงที่ตามมาคือ ใจสั่น สมาธิสั้น คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อตึงและปวด และอาจทําให้ปวดไมเกรนได้

ดังนั้น ยังคงต้องสรุปเหมือนเดิมว่ากาเฟอีนนั้นเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย ขึ้นอยู่กับว่ามีปริมาณแค่ไหน และร่างกายของผู้ได้รับกาเฟอีนนั้นมีการตอบสนองต่อกาเฟอีนอย่างไร

กาแฟ พระเอกหรือผู้ร้าย

มีคนจํานวนมากรักเครื่องดื่มชนิดนี้ และมีความสุขมากเพียงได้กลิ่นหอมของมัน มีผลการศึกษาเกี่ยวกับกาแฟมากมาย เช่น นักวิจัยจากโรงพยาบาลเฮนรี่ ดูแนนท์ ในเอเธนส์ ประเทศกรีซ เชื่อว่าการดื่มกาแฟเพียงวันละ 1 แก้ว สามารถทําให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจะทําให้ระดับกาเฟอีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นและความดันโลหิตสูง

ทว่าสําหรับแพทย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ กลับระบุว่ากาแฟทําให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเฉพาะผู้ที่นานๆ ดื่มครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่พวกคอกาแฟที่ซดกันวันละ 2-3 แก้ว ปลอดภัยหายห่วงจากเรื่องนี้

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทําการวิจัยในปี 2008 ได้สรุปว่า ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างการบริโภคกาแฟและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุการตายจากโรคมะเร็ง หรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้กระทั่งคนที่ดื่มถึง 6 ถ้วยกาแฟต่อวัน ก็ไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยได้ทําการศึกษาในอาสาสมัคร 130,000 คน

นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟไม่ได้มีผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรงอันตราย ถือเป็นอีกข่าวดีล่าสุดจากประโยชน์ของการดื่มกาแฟ (แต่ต้องเป็นกาแฟที่ไม่ได้สกัดกาเฟอีนออกเท่านั้น) ทั้งนี้ ยังพบว่าผู้ดื่มกาแฟเป็นประจํา ทําให้ความเสี่ยงจากการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (ร่างกายต่อต้านอินซูลิน) ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม โดยยิ่งดื่มมากความเสี่ยงยิ่งต่ำมากเท่านั้น

นอกจากนี้ แม้กาแฟจะได้รับการกล่าวขานว่าเป็นอันตรายต่อหัวใจ แต่การศึกษาล่าสุดนี้ไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ กลับพบว่าบุคคลที่มีสุขภาพดีวัย 65 ปีขึ้นไป ซึ่งดื่มกาแฟ (ชนิดมีกาเฟอีน) วันละ 4 แก้ว หรือมากกว่านั้นทุกวัน มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจต่ำกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 53%

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทําไมกาแฟจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคดังกล่าว แต่ผู้วิจัยเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะในกาแฟมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยพบว่ากาแฟมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับที่องุ่นมี และยังมีมากกว่าบลูเบอร์รี่เสียอีก

อีกทั้งเชื่อว่าแมกนีเซียมในกาแฟช่วยให้เซลล์ในร่างกายอ่อนไหวต่ออินซูลิน (จึงช่วยป้องกันเบาหวาน) นอกจากนี้ กาแฟยังเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคพาร์กินสัน, นิ่ว, น้ำดี และมะเร็งตับอีกด้วย

 

ผู้วิจัยบอกว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้วไม่เป็นอันตราย แต่กลับเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยไม่แนะนําให้ดื่มกาแฟเพื่อป้องกันโรค และหากดื่มมากเกินไปจะก่อภาวะไม่สบายได้ เช่น อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิมก็ไม่ควรดื่ม รวมถึงคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรก็ควรงดเว้นการดื่ม เพราะกาเฟอีนจะไปผสมอยู่ในน้ำนมของมารดา

นอกจากนี้ กาเฟอีนยังมีผลต่อฮอร์โมนอะดรีนาลินในผู้ที่เล่นกีฬา ขณะเดียวกันก็ทําให้ร่างกายตื่นตัวและมีพลัง ดังนั้น จึงแนะนําให้ดื่มกาแฟหนึ่งแก้วใหญ่ (กาเฟอีน 100 มิลลิกรัม) ก่อนออกกําลังประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อช่วยทําให้กระชุ่มกระชวยและไม่ทําให้ใจสั่น

ความเสี่ยงจากกาแฟ

ปัญหาจากการดื่มกาแฟคือการได้รับกาเฟอีนเกินกว่าที่ร่างกายควรได้รับ และการปรุงกาแฟด้วยส่วนผสมที่มีไขมันสูง

การดื่มกาแฟชนิดอินสแตนต์ (สําเร็จรูป) ไม่เกิน 3 ถ้วย/วัน คือปริมาณที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากกาเฟอีน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อกาเฟอีนในร่างกายของแต่ละคนด้วย ใครบางคนอาจใจสั่นได้แม้ดื่มเพียงแก้วเดียว ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ดื่มต้องรู้จักประมาณตนเองด้วย

การดื่มกาแฟขณะที่ท้องว่าง อาจทําให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อกาเฟอีนรุนแรงขึ้น และในขณะเดียวกันอันตรายจากการระคายเคืองในกระเพาะอาหารก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่า หากไม่ต้องการเสี่ยงต่อโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือใจสั่นก็ไม่ควรดื่ม

นอกจากนี้ การดื่มกาแฟโดยหวังให้รู้สึกสดชื่น หรือนอนไม่หลับในขณะเหนื่อยล้า เพื่อที่จะทํางานใช้แรงงานหรือสมองต่อนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง เพราะนั่นเป็นการทําให้ร่างกายต้องดึงพลังงานสะสมหรือพลังงานสํารองมาใช้ และจะทําให้ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย ซึ่งส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงได้

เพราะความจริงแล้วกาเฟอีนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความรู้สึกเหนื่อยและเพลียของร่างกายเลย แต่เป็นตัวกระตุ้นสมองให้เราตื่น ความอ่อนเพลียจึงยังคงอยู่ การลุกขึ้นมาทํางานจึงเหมือนการพยายามดันทุรังอยู่นั่นเอง

ความแตกต่างของกาแฟในแต่ละแบบ

ความแตกต่างที่จะพูดถึงนี้ จะเน้นไปที่เรื่องพลังงานและไขมันของกาแฟแต่ละชนิด เพื่อให้เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นที่จะทําให้เกิดโรคอ้วน เพราะหากดูเฉพาะกาแฟเท่านั้น จะเห็นว่ากาแฟดําไม่ใส่น้ำตาลมีพลังงานเพียง 2-3 แคลอรี่ จึงไม่มีความเสี่ยงที่ต้องพูดถึง

สมมุติว่าใครคนหนึ่งชงกาแฟ โดยใส่น้ำตาล 2 ช้อนชา และครีมเทียมผง 1 ช้อนโต๊ะ กาแฟถ้วยนั้นก็จะให้พลังงานเท่ากับ 30+30 = 60 กิโลแคลอรี่ ซึ่งนับว่าไม่มากมายอะไร แต่ถ้าเขาเปลี่ยนมากินกาแฟเย็น ที่ต้องใช้น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ (6 ช้อนชา) ใส่ครีม 2 ช้อนโต๊ะ เท่ากับว่าเขาได้รับพลังงาน 90+100 = 190 กิโลแคลอรี่ ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ปัญหาอยู่ที่ กาแฟเย็นที่เราดื่มกันทั่วไปตามปกติแล้วใส่น้ำตาลและครีมมากกว่าตัวอย่างที่ยกมานี้เสียอีก และบางชนิดยังมีการเพิ่มวิปปิ้งครีมที่ด้านบนอีกด้วย ทีนี้มาดูกันว่าพลังงานในกาแฟแต่ละชนิดที่ขายกันทั่วไปนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง

– กาแฟเฟรปปูชิโน แก้วขนาด 12 ออนซ์ ให้พลังงาน 181 กิโลแคลอรี่

– เฟรปปูชิโนขนาด 20 ออนซ์ ให้พลังงาน 346 กิโลแคลอรี่

– ลาเต้ 16 ออนซ์ ให้พลังงาน 274 กิโลแคลอรี่

– ลาเต้ 20 ออนซ์ ให้พลังงาน 348 กิโลแคลอรี่

– มอคค่า 16 ออนซ์ ไม่ใส่วิปปิ้งครีม ให้พลังงาน 239 กิโลแคลอรี่

– มอคค่า 20 ออนซ์ ใส่วิปปิ้งครีม ให้พลังงาน 508 กิโลแคลอรี่ โดยในกาแฟชนิดนี้มีไขมันประมาณ 27 กรัม

นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ทําให้เห็นว่า พลังงานที่สูงเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทําให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ไม่ยากเลย

ชา

ในกระแสรักสุขภาพ มักมีคําแนะนําให้ดื่มชาแทนการดื่มกาแฟ นัยว่าชาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าและมีปริมาณกาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ ซึ่งนอกจากกาเฟอีนแล้ว ในชายังมีสารที่สําคัญอื่นๆ อีก เช่น แทนนิน คาเทชิน เป็นต้น

มีการศึกษาพบว่า “แทนนิน (Tannin)” เป็นสารที่มีรสฝาด พบในใบชาแห้งประมาณร้อยละ 20-30 โดยน้ำหนัก ใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้ ดังนั้น หากต้องการดื่มชาให้ได้รสชาติที่ดีนั้น ไม่ควรทิ้งใบชาค้างไว้ในกานานเกินไป เพราะสารแทนนินจะออกมามาก ทําให้น้ำชามีรสขม แต่ถ้าหากต้องการบรรเทาอาการท้องเสียก็ควรต้มใบชานานๆ เพื่อให้มีปริมาณสารแทนนินออกมามาก นอกจากนั้น สารแทนนินยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวใจและขยายผนังหลอดเลือด ทำให้ชาเขียวเหมาะสําหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย แต่ขณะเดียวกันสารแทนนินในชาจะลดการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งหากดื่มชาหลังอาหารเสมออาจทําให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

ขณะที่สาร “คาเทชิน (Catechin)” ในชานั้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด การใช้สารสกัดจากชาเขียวในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงและเคมีบําบัดจะทําให้เซลล์ปกติถูกทําลายน้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับ LDL คอเลสเตอรอล และยับยั้งการก่อตัวแบบผิดปกติของก้อนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวายและลมชัก

มีรายงานจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยโรคมะเร็งในบริติชโคลัมเบียว่าชาสามารถยับยั้งการสร้าง “ไนโตรซามีน (Nitrosamines)” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งรุนแรงได้ ซึ่งสารไนโตรซามีนนั้นเป็นสารที่เกิดจากสารพวกดินประสิวในอาหารทําปฏิกิริยากับสารจําพวกโปรตีนที่มีในเนื้อสัตว์และอาหารทะเลกลายเป็นไนโตรซามีน ซึ่งก่อมะเร็งได้หลายชนิด

ดังนั้น ถ้านิยมบริโภคอาหารจําพวกไขมัน แอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีกากสูงก็ควรดื่มน้ำชาไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะจะช่วยลดไขมันหรือสารพิษที่อาจปะปน ในอาหารได้ ทว่าการดื่มชาร้อนที่มีอุณหภูมิเกินกว่า 70 องศาเซลเซียสเป็นประจํา ก็ทําให้เกิดโรคมะเร็งในลําคอ (throat cancer) ได้เช่นเดียวกัน

ศาสตราจารย์ Reza Malekzadeh แห่งมหาวิทยาลัย Tehran University of Medical Sciences และผู้ร่วมทีม ได้ทําการศึกษาอุปนิสัยการดื่มชาของคน 300 คนที่เป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร ผู้หญิงและผู้ชายอีก 571 คนที่แข็งแรง จากในละแวกเดียวกันในจังหวัด Golestan ทางตอนเหนือของประเทศอิหร่าน ซึ่งในภูมิภาคนั้นเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอัตราการเป็นมะเร็งในลําคอสูงที่สุดในโลก อัตราการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ และเกือบทั้งหมดของอาสาสมัครดื่มชาดำเป็นประจำ ทั้งนี้ ดื่มโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ลิตร/วัน

นักวิจัยกล่าวว่า คนที่ดื่มชาหลังจากเทเป็นเวลาต่ำกว่า 2 นาทีเป็นประจํามีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งสูงกว่าคนที่รอประมาณ 4 นาทีหรือมากกว่านั้นถึง 5 เท่า ดังนั้น ให้ดีที่สุดควรรอให้ชาลดความร้อนลงบ้างจะเกิดความเสี่ยงน้อยกว่า

การวิจัยจากประเทศอังกฤษได้รายงานว่าคนทั่วไปจะชอบให้ชามีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 56 ถึง 60 องศา โดยนักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าชาร้อนอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้อย่างไร แต่ความคิดเห็นหนึ่งก็คือ ความร้อนทําให้ผนังที่บุด้านในของลําคอบาดเจ็บและเป็นผลให้เกิดมะเร็งได้

มะเร็งที่หลอดอาหารได้คร่าชีวิตคนมากกว่า 500,000 คนทั่วโลกต่อปี โดยส่วนใหญ่พบมากในคนแถบเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นเนื้องอกที่อันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากมีอัตราการอยู่รอดใน 5 ปี เพียง 12 ถึง 31%

กาเฟอีนในชาไม่อาจมองข้าม

“ใบชา” เป็นแหล่งของกาเฟอีนที่สําคัญอีกแหล่งหนึ่ง พบว่าในชาจะมีกาเฟอีนอยู่ครึ่งหนึ่งของกาแฟในปริมาณเดียวกัน โดยชนิดของใบชาและกระบวนวิธีการเตรียมเป็นปัจจัยสําคัญในการกําหนดปริมาณกาเฟอีนในน้ำชา เช่น ในชาดําและชาอูหลงจะมีปริมาณกาเฟอีนมากกว่าในชาชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สีของน้ำชาไม่ได้เป็นลักษณะบ่งชี้ถึงปริมาณกาเฟอีนในน้ำชา เช่น ในชาเขียวญี่ปุ่นซึ่งจะมีปริมาณกาเฟอีนสูงกว่าชาดําบางชนิด

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคของไทย ได้แถลงว่า ชาเขียวพร้อมดื่มที่มีจําหน่ายอยู่ทั่วไปในประเทศเราที่มีปริมาตรประมาณ 500-600 มิลลิลิตร จะพบสารกาเฟอีนเกินกว่ามาตรฐานกําหนดที่ 50 มิลลิกรัมทั้งสิ้น บางตราสินค้ามีสูงถึง 103 มิลลิกรัม/ขวด ในขณะที่ร่างกายเราสามารถรับสารกาเฟอีนได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วันเท่านั้น นอกจากนี้ ยังแถมพ่วงด้วยปริมาณน้ำตาลสูงถึง 15.6 ช้อนชา/500 มิลลิลิตร ซึ่งถือเป็นการบริโภคน้ำตาลเกินข้อกําหนดขององค์การอนามัยโลก ที่กําหนดให้คนเราควรบริโภคเพียง 10 ช้อนชา/วัน และถ้าเทียบกับโครงการรณรงค์ของไทย “เด็กไทยไม่กินหวาน” ซึ่งกําหนดเพียง 6 ช้อนชาต่อวัน ก็จะเห็นได้ว่าเราบริโภคน้ำตาลเกินมาตรฐานไปมากมายเพียงใด

ในการชงชานั้น พบว่าใน 3 นาทีแรกจะได้กาเฟอีนออกมาในปริมาณสูง โดยทั่วไปในชา 1 ถ้วย จะมีกาเฟอีนอยู่ประมาณ 10-50 มิลลิกรัม และในน้ำชายังมีสารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับกาเฟอีนชนิดอื่นๆ ที่ช่วยในการขับปัสสาวะ โดยไปกระตุ้นให้ไตขับน้ำปัสสาวะมากขึ้น และยังช่วยขยายหลอดลมอีกด้วย แต่มีงานศึกษาวิจัยบางชิ้นพบว่า น้ำชาที่ได้จากชาเขียวหรือชาดําที่สกัดเอาสารกาเฟอีนออกไป กลับไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันการก่อมะเร็งหรือเนื้องอก ข้อมูลดังกล่าวทําให้เกิดความสนใจขึ้นว่า บางทีกาเฟอีนในใบชาอาจจะเป็นสารออกฤทธิ์ตัวหนึ่งที่มีผลทางการแพทย์ก็เป็นได้

ดื่มอย่างไรไม่ให้อันตราย

ความพอดียังคงเป็นสูตรสําเร็จในการลดความเสี่ยงและสร้างคุณค่าที่เหมาะสมกับอาหารทุกชนิด ซึ่งอาจจะยากที่จะหาความพอดีได้ เพราะร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน ทั้งทางกายภาพและพฤติกรรม

แต่หากจะพูดโดยอ้างอิงกับคนส่วนใหญ่โดยอาศัยข้อมูลมาประกอบก็ต้องสรุปว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว โดยไม่ใส่น้ำตาลและครีมมากเกินไปไม่ทําให้เกิดความเสี่ยงทั้งจากกาเฟอีน และจากพลังงานและไขมันที่จะได้รับ

ขณะที่การดื่มชานั้นมีเงื่อนไขไม่แตกต่างกัน นั่นหมายถึงควรเลือกดื่มชาธรรมชาติ ไม่เติมน้ำตาลมาก และไม่ดื่มมากเกินไปหรือที่เรียกว่าดื่มตลอดเวลา ซึ่งหากทําได้เช่นนี้ก็นับว่าชาและกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ไม่สร้างความเสี่ยงต่อร่างกายแล้ว

กาแฟนมสด

ส่วนผสม

กาแฟ / นมสดพร่องมันเนย หรือนมแพะ 1 ถ้วยตวง

วิธีทำ

  1. ชงกาแฟโดยใส่น้ำร้อนให้น้อยกว่าเดิมประมาณครึ่งหนึ่ง
  2. อุ่นนมสดให้ร้อนแล้วผสมลงในกาแฟ ใส่น้ำตาลเพียงเล็กน้อย หรือไม่ต้องใส่ก็ได้ เพราะนมสดก็มีรสหวานตามธรรมชาติอยู่แล้ว

แทนการเติมน้ำตาลและครีมลงไปในกาแฟ ลองเปลี่ยนมาเติมนมสดชนิดพร่องมันเนยลงไป จะทําให้ได้รับสารอาหารจากนมสดเพิ่มขึ้น แม้ว่าการดูดซึมแคลเซียมจะไม่ได้มากเท่ากับการกินนมเปล่าๆ แต่ในนมมีสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ ฯลฯ

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน