ขนมพื้นบ้าน “ชัยนาท” ของดีที่ยังมีอยู่

Food Story อาหาร

ใครก็ตามที่เดินทางไปจังหวัดชัยนาทในฐานะนักท่องเที่ยว นอกจากปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ทั้งป่าเขาลำเนาไพร ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งชุมชนโบราณแล้ว หมุดหมายอีกอันที่พลาดไม่ได้คือเรื่องของอาหารการกิน เพราะ “ชัยนาท” ได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคกลาง เช่นเดียวกับสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยา

พื้นที่มากกว่าครึ่งของจังหวัดเป็นพื้นที่ปลูกข้าว แค่กำลังการผลิตของโรงสีในจังหวัดชัยนาทก็สามารถสีข้าวได้ปีละ 3.5 ล้านตันข้าวเปลือกเข้าไปแล้ว ชาวบ้านและชุมชนของชัยนาทจึงอยู่กินกันอย่างอุดมสมบูรณ์ บวกกับความเป็นชุมชนมาตั้งแต่โบราณ ชัยนาทจึงเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในการทำอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะ “การทำขนม”

ขึ้นชื่อว่าขนมไทย ไม่ว่าเป็นของจังหวัดไหน มักมีรูปแบบและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เจือปนอยู่ด้วยเสมอ เช่น การนำวัสดุธรรมชาติหรือวัตถุดิบตามธรรมชาติมาใช้ในการทำหรือปรุง หรือการตกแต่ง ซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับขนมไทยเมื่อเปรียบเทียบกับขนมหวานชาติอื่น องค์ประกอบหลักที่เป็นความแตกต่างของขนมไทย คือการใช้วัตถุดิบในธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม เช่น มะพร้าวและกะทิ ข้าวและแป้ง ถั่วและงา กลิ่นหอมจากเทียนอบและดอกไม้ตามธรรมชาติ ตลอดจนการใช้สีสันในการทำขนมก็เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น สีเขียวจากใบเตย สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน สีเหลืองจากขมิ้นหรือหญ้าฝรั่น สีแดงจากครั่ง สีดําจากกาบมะพร้าวเผาไฟ เป็นต้น ข้อสำคัญของที่กล่าวมานี้ล้วนแต่มีอยู่แล้วภายในท้องถิ่น

ในจังหวัดชัยนาทแทบจะทุกอำเภอจะมีการทำขนมพื้นถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเริ่มจาก “กระยาสารท” ของชุมชน อ.มโนรมย์ ต.วัดโคก สืบทอดมาจากขนมกระยาสารทตั้งแต่สมัยสุโขทัย รากศัพท์ของคําว่า “สารท” จริงๆ แล้วเป็นคำในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า “ฤดูใบไม้ร่วง” หรือช่วงระยะปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันว่าควรจะนําผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะ และขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดี ซึ่งประเพณีแบบนี้ก็มีในแถบประเทศจีนและยุโรปตอนเหนือด้วย

ชาวบ้านร่วมกันกวนกระยาสารท

สำหรับประเทศไทยแล้ว ประเพณีนี้มาแพร่หลายในช่วงสมัยสุโขทัย มาพร้อมกับพราหมณ์ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทย แต่ช่วงเวลาตามประเพณีของอินเดียเป็นช่วงที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวงของไทย ชาวบ้านจึงเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่ เอามาคั่ว แล้วตำให้เมล็ดข้าวแบน เรียกว่า “ข้าวเม่า”

ความเชื่อของ “ขนมกระยาสารท” มีอยู่ 2 ตำราด้วยกัน ตําราหนึ่งกล่าวว่ามีพี่น้องอยู่ 2 คนชื่อ “มหากาล” เป็นผู้พี่ ส่วน “จุลกาล” เป็นผู้น้อง ทั้งสองทํานาปลูกข้าวสาลีร่วมกันบนที่นาผืนเดียวกัน จุลกาลนั้นเห็นว่าข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นมีรสหวานอร่อย จึงอยากนำข้าวนั้นไปถวายแด่พระสงฆ์ ไปปรึกษากับมหากาลพี่ชาย แต่มหากาลไม่เห็นด้วย ในที่สุดจึงต้องแบ่งที่ดินออกเป็นสองส่วน ของใครของมัน เพื่อให้ต่างคนต่างนำข้าวไปใช้กิจอันใดก็ได้

จุลกาลนั้นได้นำเมล็ดข้าวที่กำลังตั้งท้องมาผ่าแล้วต้มกับน้ำนมสด ใส่เนย ใส่น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายกรวด เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อถวายภัตตาหารแล้ว จุลกาลได้ทูลความปรารถนาของตนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้บรรลุธรรมวิเศษก่อนใคร หลังจากนั้นเมื่อกลับไปถึงบ้าน ก็พบว่านาข้าวสาลีของตนนั้นออกรวงอุดมสมบูรณ์ สวยงาม จนเก็บเกี่ยวไป 9 ครั้ง ก็ยังอุดมสมบูรณ์อยู่อย่างนั้นตลอด

อีกตํานานหนึ่ง เล่าว่าสมัยหนึ่งสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีเปรตตนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระสงฆ์ ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู เปรตตนนั้นได้เผยความจริงว่าตนเคยเป็นพระสงฆ์ แต่มีความโลภ จึงต้องชดใช้กรรมเป็นเปรต แล้วเปรตก็ขอพระราชทาน “กระยาสารท” จากพระเจ้าอชาติศัตรู ซึ่งปรุงแต่งด้วยของ 7 อย่าง ได้แก่ น้ำตาล น้ำผึ้ง ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำนมวัว เพื่อประทังความหิวโหย

ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทําขนมกระยาสารทแล้วกรวดน้ำอุทิศให้แก่เปรตตามที่ขอไว้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน ชาวบ้านจะกวนกระยาสารททําบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ จนกลายเป็นประเพณีสารทไทย หรือเทศกาลกวนขนมกระยาสารทจนถึงทุกวันนี้

กระยาสารทหรือข้าวกระยาสารท ตามประเพณีดั้งเดิมของไทย จะกวนกันในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ที่เรียกว่า “กระยาสารท” นั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกเทศกาลนี้ว่า “สารทลาว” ภาคกลางหรือทั่ว ๆ ไป เรียก “สารทไทย” จะนิยมทําขนมขึ้นมาชนิดหนึ่ง เรียกว่า “กระยาสารท” มีลักษณะคล้ายๆ กัน ประกอบด้วยข้าวตอก ถั่วลิสง งา ข้าวเม่า น้ำตาล กะทิ แบะแซ เป็นต้น

กระยาสารทที่กวนเสร็จแล้ว

“กระยาสารท” มีส่วนผสมหลายอย่าง ล้วนแต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงทั้งสิ้น ได้แก่ ถั่วลิสง มีโปรตีนสูง, ข้าวเม่า ข้าวตอก มะพร้าว มีคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนน้ำตาลและแบะแซ มีกลูโคส-คาร์โบไฮเดรตมาก และ งา มีวิตามินบี 1 เนื่องจาก “กระยาสารท” มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ การรับประทานมากๆ จะมีผลต่อสุขภาพ

สำหรับสูตรการทำกระยาสารทของชุมชน อ.มโนรมย์ ต.วัดโคก (หนึ่งกระทะใบบัว) มีดังนี้ เครื่องปรุงและส่วนผสม ข้าวตอก 1 กก. ถั่วลิสง 6 กก. งาขาวคั่ว 5 กก. ข้าวเม่า 12 กก. แบะแซ 8 กก. น้ำตาลปี๊บ 15 กก. และกะทิ 12 กก.

วิธีทํา-นําถั่วลิสง งา ข้าวเม่ามาคั่วให้สุกพอประมาณแล้วพักไว้ นำกะทิมาเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บจนน้ำตาลละลาย ใส่แบะแซลงไปผสม เคี่ยวให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันจนเหนียวเป็นยางมะตูม จากนั้นนำถั่วลิสง ข้าวตอก ข้าวเม่าที่คั่วเตรียมไว้ใส่ลงไปคนให้เข้ากันดี เคี่ยวไปเรื่อยๆ โดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 30 นาที แล้วตักใส่ถาดสี่เหลี่ยมพักไว้ พออุ่นตัดเป็นสี่เหลี่ยม พักไว้ให้เย็นพร้อมรับประทาน

สมัยโบราณคนไทยจะทําขนมก็เฉพาะในวาระสําคัญเท่านั้น เป็นต้นว่างานทําบุญ เทศกาลสําคัญ หรือตอบรับแขกสําคัญ เพราะขนมบางชนิดจําเป็นต้องใช้กำลังคน อาศัยเวลาในการทําพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นขนมประเพณี ขนมเนื่องในงานแต่งงาน

ที่ อ.สรรพยา ต.ในเมือง จ.ชัยนาท มีขนมอร่อยขึ้นชื่อคือ “ขนมกง” กล่าวได้ว่าขนมกงอยู่คู่คนไทยมาช้านาน เพราะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยเป็นคนมีลักษณะนิสัยใจเย็น รักสงบ และมีฝีมือเชิงศิลปะ เพราะการทำขนมกงต้องใจเย็น เนื่องจากมีหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือต้องมีฝีมือเชิงศิลปะ เป็นเพราะขนมกงเป็นขนมหน้าตาธรรมดาๆ ทําด้วยแป้ง น้ำตาล และมะพร้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ต้องทำออกมาให้น่ารับประทานได้อย่างคาดไม่ถึง

ขนมกง ปั้นเป็นรูปทรงกลมล้อเกวียน

ที่เรียกชื่อ “ขนมกง” สันนิษฐานว่ามาจากลักษณะของขนมที่เป็นวงกลมเหมือนกงเกวียน และมีกากบาทผ่านกลางเรียกว่า “กํา” บางแห่งจึงมีความหมายว่าเป็นกงกำกงเกวียน กล่าวคือ วงกลมภายนอกหมายถึงการหมุนเวียน เปลี่ยนแปลงชีวิต ส่วนกากบาทที่เรียกว่า “กํา” นั้น เป็นการยึดมั่นความมั่นคงของชีวิต ดังนั้น ขนมกงเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้รุ่งเรือง มั่นคง และก้าวหน้าในชีวิต

ความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของขนมกงอยู่ที่รสชาติหอม หวานมัน และมีคุณค่าทางโภชนาการจากถั่วและแป้ง ซึ่งได้ทั้งโปรตีนและพลังงาน สำหรับขนมกงของ อ.สรรพยา ต.ในเมือง จ.ชัยนาท หากอยากได้กินของอร่อยก็ต้องฝีมือชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านวัดคงคาราม ต.โพนางดําตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ใครสนใจซื้อหาโทรศัพท์สอบถามกันได้ 056-430390 ,และ 089-9646032

ขนมกงที่ทอดเสร็จแล้ว

นอกจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าครึ่งแล้ว จ.ชัยนาท ยังมีทำไร่ข้าวโพดด้วย ดังนั้นขนมขึ้นชื่ออีกอย่างของชุมชนบ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง จึงเป็น “ขนมข้าวโพด” หรือจะพูดให้ถูกต้อง คือขนมข้าวโพดเป็นขนมที่ชาวชุมชนลาวครั่ง บ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ได้ทำรับประทานกันในหมู่บ้านและงานบุญประเพณีของหมู่บ้าน โดยนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัดต่างๆ ชุมชนลาวครั่งมีความเชื่อว่าข้าวโพดเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีทั้งคาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ สามารถช่วยให้คนที่รับประทานมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว หน้าตาสดใส ไม่เป็นโรคกระเพาะ

ขนมข้าวโพดจะประกอบด้วยแป้งข้าวโพด น้ำตาล นํามากวนให้เข้ากัน แล้วนำใบข้าวโพดมาห่อและนึ่งให้สุก มีรสชาติอร่อย หวาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน ซึ่งถือว่าเป็นขนมของพื้นบ้านกุดจอก สามารถหารับประทานได้ที่บ้านกุดจอกที่เดียวเท่านั้น ขนมข้าวโพดยังเป็นขนมพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบในหมู่บ้าน และทุกบ้านสามารถทำไว้รับประทานได้เองในครอบครัว ถือเป็นขนมประจำชุมชนไปแล้ว สำหรับกลุ่มที่ทำขนมกงจนของดีโอท็อปในจังหวัด คือนางสมควร จบศรี อยู่ ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท

นอกจากขนมข้าวโพดแสนอร่อยแล้ว ที่ชุมชนบ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง ยังมีการทำ “ขนมชั้นครั่ง” ฟังชื่อแล้วออกจะน่ากลัวกว่าน่ากิน แต่ที่จริงแล้วความอร่อยการันตีได้จากผู้ที่เคยลิ้มลองมาแล้ว ขนมชั้นครั่งมีเรื่องราวสืบเนื่องมาจากชุมชนบ้านกุดจอก เป็นชุมชนอพยพจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านกุดจอกประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว เมื่อมาอยู่เป็นชุมชนก็ได้นำวัฒนธรรมประเพณีนวมทั้งการทำอาหารมาประกอบอาชีพค้าขายในชุมชนด้วย หนึ่งในนั้นมี “ขนมชั้นครั่ง” รวมอยู่ด้วย ต่อมาได้แพร่หลายไปสู่ที่อื่นๆ กลายเป็นอาหารในงานมงคลต่างๆ และเป็นอาหารหวานประจำชุมชนที่ได้รับการยอมรับมาจนทุกวันนี้

สำหรับ “ครั่ง” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งอาศัยในฉำฉา ในอดีตกลุ่มผู้ทอผ้าจะใช้ครั่งในการย้อมผ้าไหม ซึ่งให้ “สีแดง” เป็นสีย้อมจากธรรมชาติ หรือมีการนำครั่งไปใช้ในการส่งพัสดุไปรษณีย์ เมื่อผูกเชือกแล้วต้องหยอดครั่ง ป้องกันไม่ให้เชือกลื่นไหล ที่นึกไม่ถึงคือยังนำไปใช้ในการแต่งสีอาหารคาว อาหารหวาน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาหลากหลายของบรรพบุรุษไทย ตัวอย่างขนมหวานที่นิยมของบ้านกุดจอก คือ “ขนมชั้นครั่ง”

ซึ่งตามเคล็ดแล้วนิยมทํา 9 ชั้น หมายถึงความก้าวหน้า เลื่อนชั้น เลื่อนเงินเดือน หรือเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ ในทางสังคมนั้นชาวชุมชนบ้านกุดจอกนําขมนชั้นครั่งมาใช้ในงานประเพณีมงคล เพราะมีสีแดง และยังหมายถึงความเจริญก้าวหน้า ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน เนื่องจากการทำขนมชั้นจะต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ ตั้งแต่การขูดมะพร้าว นวดแป้ง นึ่งขนม ต้องร่วมมือกันทำเนื่องจากเป็นขนมที่ใช้เวลาในการนึ่งแต่ละชั้นจนครบ 9 ชั้น

วิธีการทำเริ่มจากวิธีละลายสีครั่ง โดยนำส่วนผสมครั่ง 4 ขีด ใบเหมือด 10 ใบ น้ำ 10 ลิตร ก่อนอื่นนําครั่งไปผึ่งลมให้แห้ง ล้างใบเหมือดให้สะอาด จากนั้นใส่ครั่งพร้อมใบเหมือดลงในหม้อต้มเติมน้ำใช้ความร้อนปานกลาง เคี่ยวประมาณ 15 นาที หรือจนครั่งละลายดีให้เคี่ยวต่อไปอีกประมาณ 10 นาที ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง นำน้ำครั่งที่ต้มแล้วไปตากแดด 1 วัน จึงนำน้ำครั่งที่ได้ไปผสมแป้งต่อไป

การทำขนมชั้นมีส่วนผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งท้าวยายม่อม มะพร้าวขูด น้ำตาลทราย น้ำครั่ง นำมะพร้าวมาขูดคั้นเอาแต่หัวกะทิ นําแป้งทั้งสามชนิดและน้ำตาลทรายใส่ภาชนะสำหรับนวดแป้ง นวดให้เข้ากัน สลับกับการเติมหัวกะทิลงกันไปเรื่อย ๆ จนน้ำตาลทรายหมด ประมาณ 4-5 ครั้ง หมักแป้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงเทหัวกะทิที่เหลือทั้งหมดลงในแป้ง คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน กรองแป้งด้วยผ้าขาวบาง และแบ่งแป้งที่กรองแล้วใส่ภาชนะเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนำน้ำครั่งผสมลงในแป้ง จะได้สีแดง อีกส่วนหนึ่งเป็นสีขาว นําถาดสี่เหลี่ยมขนาดกลางทาน้ำมัน ใส่รังถึงนึ่งให้ถาดร้อนจัด ตักแป้งสีแดงใส่ถาด นึ่งแป้งให้สุก ประมาณ 15 นาที ตักแป้งสีขาวใส่ นึ่งแป้งให้สุกเช่นเดียวกัน ตักแป้งสีแดงและแป้งสีขาวสลับกันไปจนครบ 9 ชั้น นึ่งครั้งสุดท้ายให้นานกว่าทุกชั้น จนสุกทั่วกันดี ยกลงทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อขนมชั้นเย็นจึงตัดเป็นรูปตามที่ต้องการ

“ขนมสอดไส้ใบเตย” หารับประทานได้น้อยไม่ค่อยมีขายมากนัก แต่ที่ชุมชน อ.วัดสิงห์ ต.มะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ขึ้นชื่อเรื่องการทำขนมสอดไส้ใบเตย ขนมไทยที่สามารถนําไปใช้ในงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี “ขนมสอดไส้ใบเตย” วิธีทำไม่ยุ่งยาก รวมทั้งวัตถุดิบและส่วนผสมก็หาง่าย ส่วนประกอบอาหาร มีกะทิ น้ำตาล มะพร้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งสลิ่ม ใบเตย ใบตอง

เริ่มวิธีทําไส้ ใส่มะพร้าวทึนทึกกับน้ำตาลลงกระทะ ตั้งไฟ กวนจนเหนียว ยกลง พออุ่นปั้นเป็นก้อนกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. นําไปอบควันเทียน

ขนมสอดไส้ใบเตย

วิธีทําแป้ง นวดแป้งกับหัวกะทิและน้ำใบเตยจนแป้งเหนียวนุ่ม แบ่งแป้งปั้นเป็นก้อนกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 นิ้ว แผ่แป้งให้เป็นแผ่นกลม นำไส้ใส่ รวบแป้งหุ้มไส้ ต้มน้ำให้เดือด ใส่แป้งที่ใส่ไส้แล้วต้มให้สุก เมื่อลอยตัวตักขึ้น จึงนำไปใส่ตรงกลางหน้ากะทิที่ตักใส่ถ้วย ถ้าไม่มีเวลาว่างจะทำ สามารถติดต่อซื้อหาได้ที่ บุญนพา ศุภรัตน์ บ้านเลขที่ 110 หมู่ 1 ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

“ขนมห่อใบตาล” ของชุมชนบ้านหนองต่อ อ.หันคา ต.หันคา จ.ชัยนาท เป็นอีกแห่งที่ขึ้นชื่อว่าทำขนมตาลอร่อย ซึ่ง “ขนมตาล” ถือเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิม ทำมาจากเนื้อตาล มะพร้าว แป้ง และน้ำตาล มีคุณค่าทางอาหารและให้ประโยชน์ต่อร่างกายมาก แต่ปัจจุบันโอกาสที่จะได้รับประทานขนมตาลหรือโอกาสในการได้ทําขนมตาลนั้น มีความยากลําบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการตัดต้นตาลทิ้งและให้ความสําคัญกับต้นตาลน้อยลง ทำให้ต้นตาลบางพื้นที่หมดไป บางแห่งก็จะมีเหลือเฉพาะที่เท่านั้น

โอกาสในการทําขนมตาลหรือโอกาสที่จะได้รับประทานขนมตาลนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงที่ต้นตาลจะให้ผลผลิตลูกตาลมากน้อยขนาดไหน และไม่แน่นอนว่าต้นตาลจะให้ผลผลิตทุกครั้งเสมอไป บางฤดูกาลหาลูกตาลได้ยากมาก กระบวนการทําส่วนผสมมีความยุ่งยาก และส่วนมากกลุ่มลูกค้าโดยทั่วไปจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่นิยม เพราะไม่รู้จัก รูปลักษณ์การบรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดใจ

ดังนั้น ชุมชนบ้านหนองต่อ อ.หันคา ต.หันคา จึงหาวิธีห่อขนมตาลให้ดูแปลกตาไปจากการห่อแบบเดิมๆ หรือใช้ถุงพลาสติก ด้วยการใช้ใบตาลห่อขนมตาล จึงมีคนที่นิยมเรียกติดปากว่า “ขนมตาลหรือขนมใบตาล” หรือ “ขนมตาลโบราณ” นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์และสืบทอดการทําขนมตาลโบราณ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เรียนรู้และทำเป็น

ขนมตาลโบราณ ประกอบด้วยลูกตาลสุก แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย เกลือ มะพร้าวขูดใช้โรยหน้า กะทิสด(ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องปรุง) เริ่มทำจากตัดใบตาล (ใบยอดอ่อน)เตรียมไว้ตามจำนวนที่ต้องการ นำใบตาลที่เตรียมไว้มาพับตัดให้เข้ารูป จากนั้นนําใบตาลไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วลนด้วยไฟอ่อนๆ ขั้นต่อมานําลูกตาลสุกมาล้างน้ำให้สะอาด ปอกลูกตาลแล้วยีเอาแต่เนื้อ นำเนื้อตาลใส่ผ้าขาวบางทิ้งไว้ให้แห้ง

ขั้นต่อมาอีกนำนําเนื้อตาล น้ำตาลทราย กะทิ ผสมให้เข้ากันแล้วใส่ในเครื่องปั่น ปั่นให้เหนียมนำไปเก็บในตู้เย็นประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วนำมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า คนให้เข้ากัน ใส่เกลือและผงฟูเล็กน้อยนำไปแช่ตู้เย็นอีก 8 ชั่วโมง จากนั้นนำมาตักใส่ลงในใบตาลที่เตรียมไว้ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะต่อหนึ่งห่อ โดยด้วยมะพร้าวหูตึงขูดเส้น เสร็จแล้วนําไปนึ่งที่น้ำร้อนกำลังเดือดทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาทีจนสุดีพร้อมรับประทาน

ชัยนาทยังมี “ข้าวเกรียบอ่อน” ของชุมชนวัดสิงห์ ต.บ่อแร่ อ.วัดสิงห์ การทำเริ่มต้นขึ้นโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้านทำขนมไว้กินเอง แต่เมื่อผู้สูงอายุเหล่านั้นล้มหายตายจากไปจึงหากินไม่ได้ บรรดาลูกหลานในรุ่นหลังจึงคิดอยากลองทำขึ้นมาใหม่ ทั้งทำกินเองและแจกจ่ายญาติพี่น้องในหมู่บ้าน กระทั่งคิดลองทำขายบ้างก็ปรากฏว่าขายได้และยังขายดีด้วย จึงเกิดเป็น “ขนมข้าวเกรียบอ่อน” ทำขายประจำที่ตลาดนัดบ่อแร่ ต.บ่อแร่ อ.วัดสิงห์ ทุกวันเสาร์ รวมทั้งรับสั่งทําตามงานบุญต่างๆ

ข้าวเกรียบอ่อน

ขนมข้าวเกรียบอ่อนถ้ามองจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ว่าหน้าตา สีสัน ดูไปก็คล้ายขนมถั่วแปบ แต่ความแตกต่างของขนมทั้งสองชนิดอยู่ตรงที่แป้งที่นํามาใช้ทำขนม แป้งที่ใช้ทำขนมถั่วแปบจะใช้แป้งข้าวเหนียว ส่วนขนมข้าวเกรียบอ่อนจะใช้แป้งข้าวเจ้ากับแป้งมันผสมกัน

การทำไม่ยากเกินไปนัก โดยนำแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งมันคนให้เข้ากัน ผสมน้ำเย็นลงไป คนไปเรื่อยๆจนแป้งเหนียว แล้วผสมสีลงไปในแป้งดังกล่าวคนให้เข้ากัน ผสมงาขาวและน้ำตาล คนต่อไปให้เข้ากัน จากนั้นใส่น้ำลงในหม้อประมาณค่อนหม้อตั้งไฟให้เดือด ตักแป้งที่ผสมไว้ละเลงบนผ้าขาวบาง แผ่ให้เป็นแผ่นกลมๆ บางๆ เกลี่ยให้ทั่ว แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 2 นาที เปิดฝาเมื่อแป้งสุกแล้ว ใส่ถั่วเขียวหรือไส้ที่เตรียมไว้ลงไปกลางแป้ง ใช้พายจุ่มน้ำแซะแป้งพับเป็นรูปครึ่งวงกลม เสร็จแล้วแซะแป้งขึ้นตักออกจากหม้อ รับประทานได้

ยังมีขนมพื้นบ้านของชัยนาทอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้นำมาเสนอ แต่ละอย่างไม่เพียงแต่รสชาติอร่อย สะอาด แต่ยังเป็นขนมของกินที่หาเป็นของฝากญาติมิตรเพื่อนฝูง และยังสามารถสั่งทำหรือสั่งซื้อทำบุญในโอกาส งานประเพณีต่างๆ ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนและชาวบ้าน เป็นการช่วยเหลือสังคมและอนุรักษ์ของกินพื้นบ้านที่มีอยู่ไม่ให้สูญหาย