อีกไม่กี่วันก็ถึงเทศกาลฉลองคริสต์มาส วันที่ 25 ธันวาคม กันแล้ว แม้จะเป็นเทศกาลของฝรั่งต่างชาติ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสากลนิยมไปทั้งโลก ไม่ว่าประเทศไหนก็ขอฉลองวันคริสต์มาสกันทั้งนั้น รวมถึงประเทศไทยด้วย หลายต่อหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือและอีสานซึ่งมีเขยฝรั่งเต็มบ้านเต็มเมือง ถือโอกาสฉลองคริสต์มาสจนกลายเป็นประเพณีหนึ่งของคนไทยที่มีครอบครัวเป็นฝรั่งไปโดยปริยาย
ทำไมจึงฉลองคริสต์มาสวันที่ 25 ธันวาคม? คำตอบแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย มีว่านักประวัติศาสตร์ให้เหตุผลว่าวันที่พระเยซูประสูติจริงๆ นั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่ชาวคริสต์ทั้งหลายเลือกเอาวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองคริสต์มาส ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมานั้น เนื่องจากในปี ค.ศ. 274 จักรพรรดิ์เอาเรเลียน ได้กำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพผู้ทรงพลัง ชาวโรมันจึงเฉลิมฉลองวันนี้กันอย่างสง่า และถือว่าเป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิ์ไปด้วย เพราะจักรพรรดิ์เอาเรเลียนก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์
ขณะที่คริสตชนที่อยู่ในจักรวรรดิโรมันรู้สึกอึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพตามประเพณีของชาวโรมัน จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทน จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 330 จึงเริ่มมีการฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการ และอย่างเปิดเผย เนื่องจากก่อนนั้นมีการห้ามงานฉลองอย่างเด็ดขาด (ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 64-313) ทำให้คริสตชนไม่มีโอกาสฉลองอะไรอย่างเปิดเผย
ประเพณีการเฉลิมฉลองนี้กลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศ และต่างมีประเพณีและตำนานเป็นของตนเอง ในระยะหลังมีการผสมผสานแนวคิดประเพณีสมัยใหม่ มีการให้ของขวัญ เพลงคริสต์มาสและเพลงเทศกาล การแลกเปลี่ยนการ์ดคริสต์มาส การตกแต่งโบสถ์ การจัดอาหารมื้อพิเศษ และการจัดแสดงการประดับตกแต่งบ้านเรือน รวมทั้งต้นคริสต์มาส แสงไฟ ฉากการประสูติของพระเยซู มาลัย พวงหรีด มิสเซิลโทและฮอลลี
การเฉลิมฉลองจะเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 24 ธันวาคม ทุกคนจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน มีงานแครอลลิ่ง (Caroling) คือเด็กๆ จะไปรวมตัวกันออกไปร้องเพลงคริสต์มาส หรือ Christmas Carol ตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนมและของขวัญเล็กๆ น้อย และเมื่อมาถึงวันที่ 25 ธันวาคม ทุกบ้านต่างจัดตกแต่งบ้านด้วยต้นคริสต์มาสในแบบที่ตัวเองชอบ เป็นการเฉลิมฉลองคริสต์มาสกันเองภายในครอบครัว มีการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ร่วมกัน เรียกว่า Christmas Dinner
อาหารมื้อใหญ่ฉลองร่วมกันนี้ขาดไม่ได้เลย คือ “ไก่งวงอบ” ถือเป็นพระเอกบนโต๊ะอาหารค่ำวันคริสต์มาสเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอังกฤษจะขาดไม่ได้ ส่วนชาติอื่นๆ หากไม่ใช่เมนูไก่งวงก็จะเป็น “เมนูปลา” โดยใช้ “ปลาไน” เป็นที่นิยมในแถบยุโรปตะวันออก “ปลาไน” เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์เลี้ยงเป็นชนิดแรกของโลกเพื่อเป็นอาหาร โดยเลี้ยงในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว
ชาวโปแลนด์ในอังกฤษบอกว่าสาเหตุที่ชาวยุโรปตะวันออกนิยมรับประทานปลาไนเป็นมื้อค่ำในวันคริสต์มาสอีฟ (24 ธันวาคม) เพราะเป็นธรรมเนียมของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในภูมิภาค ซึ่งถือว่าอาหารค่ำวันคริสต์มาสอีฟเป็นอาหารมือใหญ่มื้อสุดท้ายก่อนถึงวันคริสต์มาส หรือช่วงถือศีลอด ซึ่งห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่
“ปลาไน” เป็นปลาที่หาง่าย และมีรสชาติเหมือนปลาค็อด โดยวิธีการปรุงหลายอย่าง อาทิ นำไปทำปลาเผา ปรุงรสกับหัวหอม ชุบเกล็ดขนมปังทอด หรือเอาไปทำเยลลีปลาไน นอกจากนี้ เมนูวันคริสต์มาสที่ทำจากปลายังได้รับความนิยมในอิตาลี และโปรตุเกสด้วย โดยบนโต๊ะอาหารวันคริสต์มาสอีฟในอิตาลี มักเสิร์ฟอาหารจากปลาชนิดต่างๆ มากถึง 7 เมนู ส่วนชาวโปรตุเกสนิยมทานเมนูจากปลาค็อดเค็มตากแห้ง ที่จะต้องนำไปแช่น้ำล่วงหน้า 2-3 วัน จึงจะสามารถนำไปทำอาหารได้
ส่วนในญี่ปุ่นมักพาครอบครัวไปฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่ร้านไก่ทอดเคเอฟซี ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เกิดขึ้น หลังจากร้านเคเอฟซีแนะนำให้ญี่ปุ่นได้รู้จักกับเทศกาลคริสต์มาส ในปี พ.ศ.2517 โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ไก่ทอดเคเอฟซีเป็นอาหารสำหรับวันคริสต์มาส ส่วนอาหารอื่นๆ ก็มีข้าวต้มราดนมใส่ผงอบเชยและน้ำตาล หรือซุปพลัมร้อนๆ ขาหมูอบแกล้มมันฝรั่งอบหรือแครอทอบ หรือจะใช้ทั้งสองอย่างก็ได้
นอกจากอาหารมื้อหลักแล้ว เครื่องดื่มบนโต๊ะอาหารค่ำก็สำคัญไม่น้อย ซึ่งตามประเพณีแล้ว ผู้คนจะนิยมดื่ม “ไวน์ร้อน” กัน เครื่องดื่มนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อาทิ ประเทศอังกฤษเรียก Mulled Wine ในเยอรมัน เรียก Glühwein ส่วนในประเทศสวีเดนและไอซ์แลนด์ เรียก Glögg และ Gløgg เป็นชื่อเรียกในประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์ก ไวน์ร้อนในประเทศกลุ่มนี้ มีทั้งแบบที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ประเทศเยอรมนีช่วงเทศกาลคริสต์มาส ไวน์ร้อนเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายและดื่มได้ในที่สาธารณะ จึงเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในช่วงคริสต์มาส
สำหรับ “ไวน์ร้อน” แบบดั้งเดิม จะมีส่วนผสมคือไวน์องุ่น น้ำตาลหรือน้ำแอปเปิ้ล เครื่องเทศ ได้แก่ อบเชย วานิลา กระวาน กานพลู น้ำส้มบิทเทอร์หรือขิง แล้วแต่ความชอบ นอกจากการปรุงรสด้วยน้ำตาลแล้ว บางครั้งยังนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น อาทิ เหล้ารัม มาผสมด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ ความเข้มข้น และสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ไวน์ร้อนที่ผสมรัม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Feuerzangen Bowle ซึ่งมีความหมายว่า การถูกตีตราด้วยเหล็กร้อน ๆ เนื่องจากเมื่อดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้เข้าไปแล้วจะรู้สึกร้อนขึ้นทันที
ทั้งอาหารและเครื่องดื่มก็ว่ากันไปแล้ว ยังเหลือเมนูของหวาน ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบของใคร แต่หากจะพูดถึงความนิยมแล้ว ในครอบครัวชาวอังกฤษและอเมริกันที่มาเป็นอันดับแรก คือ “คริสต์มาสพุดดิ้ง” ที่มีเนื้อเค้กชุ่มฉ่ำประดับด้วยผลไม้แห้ง เช่น อัลมอนด์ ลูกเกด อินทผาลัม แอพริค็อต ผิวส้ม หมักกับเหล้ารัมหรือบรั่นดี แล้วนำไปนึ่งให้สุก ซึ่งต้องใช้เวลานาน 6-8 ชั่วโมง
ตามด้วย “คริสต์มาสฟรุตเค้ก” เมนูนี้เห็นกันจนชินตา เป็นฟรุตเค้กผลไม้เชื่อมแห้งนานาชนิด มีตั้งแต่ลูกเกดดำและขาว เชอรี่เชื่อม แอพริค็อต ถั่วต่างๆ ฯลฯ หมักเหล้ารัมหรือบรั่นดีให้ฉ่ำๆ เสริมด้วยเครื่องเทศอบเชย ลูกจันทร์ป่น ฟรุตเค้กชนิดนี้สามารถเก็บได้เป็นเดือน ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเหล้ารัมหรือบรั่นดีนั่นเอง
ที่นิยมกันมากอีกอย่าง คือ “ขนมปัง” ทั้งที่เป็น “ขนมปังผลไม้” ผสมด้วยผลไม้ฉ่ำและเหล้าหอม ที่เยอรมันเรียกว่า “คริสต์มาส ชโตลเลน” และยังมี “บ้านขนมปังขิง” หรือ Gingerbread House ที่สามารถรับประทานได้ตั้งแต่ฝาบ้านไปจนถึงหลังคา สำหรับ “คริสต์มาส ชโตลเลน” มาจากเยอรมนี เป็นเค้กผลไม้ที่นิยมกินกันช่วงคริสต์มาส ปกติไม่มีใครทำขาย มีหลายสูตรด้วยกัน แต่ที่นิยมคือใส่เนย Marzipan ลูกเกด ผิวมะนาว ผิวส้ม ปั้นเป็นก้อนยาว ๆ อบแล้วพอเย็นโรยน้ำตาลไอซิ่ง เก็บไว้นานเป็นสัปดาห์จะอร่อยมากขึ้น
นอกจากเค้กและขนมปังแล้ว จะเป็นลูกกวาดต่างๆ ทางฝั่งอเมริกาจะเป็นพวกพายต่างๆ หรือ “เค้กขอนไม้” (Bûch de Noël) นั่นเอง หมดจากนี้ก็เป็นช่วงของการดื่มกาแฟ พักผ่อน ร้องเพลงเล่นดนตรี บางทีก็นำอัลบั้มภาพเก่าๆ มานั่งชมนั่งเล่า และแลกของขวัญซึ่งกันและกัน พร้อมกับคำอวยพรปีใหม่
อาหารฉลองคริสต์มาสเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เพิ่มเติมสีสันให้กับเทศกาลฉลองคริสต์มาส ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่แค่การมาเฉลิมฉลอง สร้างความสนุกสนานและการกินดื่มเท่านั้น แต่เป็นการที่คนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยน สอบถามถึงสารทุกข์สุกดิบ เป็นความรักความผูกพัน ความเอื้ออาทร ซึ่งเวลาปกติแล้วหาได้ยากนักในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว