คนไทยรู้จักและกินปลาทูมาช้านานแล้ว แต่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุเพียง 100 กว่าปีเท่านั้น คือ มาจากหนังสือชื่อ “อักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอบรัดเล” ตีพิมพ์ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2416 โดยเขียนไว้ว่า “…ปลาทูเป็นปลาที่อยู่น้ำเค็ม มีเกล็ด ตัวมันกว้างศักสองนิ้ว ยาวศักสิบนิ้ว…” และ “…ปลาลังตัวมันเหมือนปลาทูแต่เล็กกว่าปลาทูอยู่น้ำเค็มในทะเล มีเกล็ดหนืดๆ..” คนไทยกินปลาทูมานานแล้ว แต่เมื่อเครื่องมือการประมงดีขึ้น ทำให้จับปลาได้มากขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ดีมากขึ้น การคมนาคมขนส่งเจริญขึ้น ปลาทูก็ยิ่งได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ไม่เฉพาะชายฝั่งทะเลและบริเวณใกล้ๆ เท่านั้น แต่คนในพื้นที่ห่างไกลทะเลก็ได้กินปลาทูกันถ้วนหน้า
ปลาทูไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Rastrelliger brachysoma อาศัยอยู่ผิวน้ำในทะเลเป็นฝูง ลำตัวป้อม แป้น หัวโต หน้าแหลม ตาเล็กปากกว้างและเฉียงขึ้นเล็กน้อย มีเกล็ดเล็กละเอียดและหลุดง่าย ครีบหลังมีสองอัน พื้นท้องมีสีขาวเงิน ลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว มีจุดสีดำเรียงรายเป็นแถวตามสันหลัง ขนาดเมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร
อาหารของปลาทูเป็นพวกแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ เวลาปลาทูว่ายน้ำจะอ้าปากเพื่อให้น้ำทะเลไหลเข้าไปในปาก ผ่านซี่เหงือกที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งช่วยกรองแพลงตอนเหล่านี้เป็นอาหารกลืนเข้ากระเพาะไป ส่วนเส้นฝอยเหงือกสีแดงจะทำหน้าที่ดูดออกซิเยนที่ละลายใน้ำทะเลเพื่อการหายใจ จึงเห็นได้ว่าปลาทูที่จับมาล้วนอ้าปากค้างอยู่
“น้ำพริกปลาทู” เริ่มแพร่หลายตั้งแต่รัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6 ในกาพย์เห่ชมเครื่องว่างรัชกาลที่ 6 มีความตอนหนึ่ง ว่า “เมี่ยงคำน้ำลายสอ เมี่ยงสมอเมี่ยงปลาทู ข้าวคลุก คลุกไก่หมู น้ำพริกกลั้วทั่วโอชา”
สำรับการแนมปลาทูทอดกับน้ำพริกกะปิ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในวังหลวงก่อนแพร่ออกไปในหมู่สามัญชนทั่วไป เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ สำรับน้ำพริกต่างๆ ได้พัฒนาขึ้นมากในเขตพระราชวัง จากนั้นจึงแพร่ออกสู่ข้างนอก
ปลาทูเป็นอาหารโปรดของคนทั่วไป เพราะนอกจากราคาถูกแล้ว ยังอร่อยถูกปากและมีคุณค่าสารอาหาร โดยเฉพาะมีสารโอเมก้า 3 สูงมาก เดิมเชื่อกันว่าปลาทูเดินทางมาจากเกาะไหหลำ แต่กรมประมงพิสูจน์แล้วว่าปลาทูส่วนใหญ่ที่จับได้ในอ่าวไทย เป็นปลาที่วางไข่อยู่บริเวณหมู่เกาะจังหวัดสุราษฏร์ธานี แล้วว่ายน้ำขึ้นมาหาอาหารและเจริญเติบโตที่อ่าวไทย แถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เพราะมีแพลงตอนพืชและสัตว์จำนวนมาก ปากแม่น้ำแม่กลอง ก้นอ่าวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม จึงเป็นแหล่งปลาทูที่มีรสชาติอร่อยและมีชื่อเสียง แต่ปลาทูก็มีอยู่หลายน่านน้ำทะเลไทย ทั้งประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี จนถึงกันตังและปัตตานี ปลาที่จับได้มีชื่อว่า “ปลาลัง” และ “ปลาทูตัวสั้น”
“ปลาทูลัง” หรือ “ปลายาว” มีขนาดใหญ่กว่าปลาทู ลำตัวเรียวยาว หน้าแหลมและผอม เกล็ดไม่ค่อยเรียบ ผิวเนื้อมีความเย็นเพราะดองน้ำแข็งมา ผิวไม่เหลืองนวลเหมือนปลาทูแม่กลอง ส่วน “ปลาทูตัวสั้น” จะมีขนาดตัวเล็ก ผอม สั้นกว่าปลาทูลัง ปลาทูทั้งสองชนิดนี้ที่ตลาดปลา แม่ค้าจะแยกขายเป็น 4 ประเภท คือ 1.ปลาทูสดนำไปทำปลาทูนึ่ง 2.ปลาทูโรงงานหรือปลาทูกระป๋อง 3.ปลาทูเหยื่อ 4.ปลาทูสด ซึ่งการแยกประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความสดของปลา ถ้าปลาไม่สดผิวลอกง่ายก็นำไปทำปลาโรงงาน ถ้าปลาไม่สดเลยเกือบจะเน่าแล้ว คนกินไม่ได้ ก็นำไปทำปลาทูเหยื่อให้แมวหรือนำมาเลี้ยงปลา ส่วนปลาทูแม่กลองจะนำมาขายสดและทำปลาทูนึ่ง
วิธีสังเกตปลาทูแม่กลอง ถ้าเป็นปลาทูแม่กลองแท้จะต้องสั้นทั้งหมด คือหน้าสั้น ตัวสั้น หนังมีสีเหลือง ตาดำ ครีบหางเหลือง เกล็ดเรียบลื่น ไม่แข็ง เวลาจับผิวเนื้อจะนุ่ม ปลาทูแม่กลองมีเนื้อนุ่ม รสอร่อย นี่เองทำให้คนแม่กลองนำปลาทูไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะปลาทูนึ่งของแม่กลองมีลักษณะเฉพาะตัวเลียนแบบไม่ได้ พอเจอปลาทูนึ่งเข่งในตลาดจะรู้ทันทีว่าเป็นปลาทูจากแม่กลอง ซึ่งมักเรียกกันว่า “ปลาทูแม่กลอง” ต้องหักหัวให้พอดีกับเข่ง ทำให้หน้างองุ้มลง การเรียงปลาทูแม่กลองถือว่าเป็นการเรียงปลาที่สวยงามที่สุด เคล็ดลับอยู่ที่การหักหัวปลาทูนี่เอง
ปลาทูนึ่งมีกรรมวิธีการทำที่ไม่ใช่การนึ่ง แต่เป็นการต้มหรือลวก โดยบรรจุปลาในเข่งไม้ไผ่ จากนั้นนำเข่งเรียงลงในกระชุจนเต็ม (กระชุ เป็นเข่งไม้ไผ่สานตาห่างๆ ทรงสูง ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 ฟุต) แล้วนำกระชุปลาลงไปแช่ในกระทะใบบัวก้นลึก ที่มีน้ำเกลือต้มเดือดปุดๆ แช่ไว้สัก 3-5 นาที ถ้าปลาตัวเล็ก 3 นาทีก็ยกขึ้นได้ ต้องกะเวลาในการต้มให้พอดี ถ้าต้มนานไปเนื้อปลาจะแตกไม่น่ากิน ก่อนจะยกกระชุปลาขึ้นต้องตักน้ำเกลือราดบนเข่งปลาทูอีกครั้ง เพื่อให้ความชุ่มของเนื้อปลาคงอยู่ ปลาทูไม่ติดเข่ง เวลาต้มต้องใช้ไฟแรง เพื่อให้ปลาสุกข้างนอกแล้วระอุไปถึงเนื้อปลา เทคนิคการทำปลาทูนึ่งอยู่ที่ความสดของปลาทู ปลาทูแม่กลองมีความสดในตัวอยู่แล้วเมื่อนำมาทำปลาทูนึ่ง รสชาติจึงกินขาดปลาทูจากแหล่งอื่น
งานเทศกาลกินปลาทูแม่กลอง เป็นงานประเพณีประจำปีที่หอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามจัดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตเชิงวัฒนธรรมของคนสมุทรสงคราม และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งนี้ จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในรอบปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งจังหวัดสมุทรสงครามก็อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของจังหวัดก็คือการจัดงานเทศกาลกินปลาทูเพื่อสร้างความสุข และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกระดับ สำหรับปีนี้ (2562) งาน “เทศกาลกินปลาทูแม่กลอง” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 แล้ว ในชื่อ “รักใครให้กินปลาทู” โดยงานจะมีระหว่างวันที่ 13-22 ธันวาคม 2562 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
การจัดงานแบ่งเป็น 3 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 ร้านอาหารปลาทู ที่ประกอบไปด้วยเมนูชูสุขภาพที่ปรุงจากปลาทูขึ้นชื่อจากอ่าว ก.ไก่ โดยมีร้านอาหารชื่อดังของจังหวัดสมุทรสงคราม มาร่วมกันออกร้าน โซนที่ 2 เป็นการจัดนิทรรศการด้านศิลปะและสาระความรู้ โดยเครือข่ายภาคประชาชน ภาคการศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้วางรูปแบบร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมี การประกวดวาดภาพของเด็กและเยาวชน การแสดงผลงานภาพวาดจากศิลปินระดับมืออาชีพ ผลงานนิสิตนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม วิทยาลัยช่างศิลป์ ที่จะนำผลงานศิลปะทั้งภาพวาดและประติมากรรมที่ใช้ทำวิทยานิพนธ์มาจัดแสดง การนำเสนอภาพแนวกราฟิตี้
โซนที่ 3 การแสดงบนเวที เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าสมัยก่อนกับสมัยใหม่ อาทิ การแสดงโขนโรงนอก การบรรเลงดนตรีไทย การแสดงนาฏศิลป์ของเยาวชน การประกวดแตรวงพื้นบ้าน การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การประกวดดนตรีแม่กลองมิวสิคอะวอร์ด และการแสดงดนตรีจากอดีตนักดนตรีอาชีพชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ในนามกลุ่ม “แม่กลองลายคราม” และที่ขาดไม่ได้ ห้ามพลาด เป็นการประกวด “ธิดาปลาทู”
สำหรับชื่อธีมงานปีนี้ “รักใครให้กินปลาทู” เป็นสุดยอดความคิดของเด็กหญิงตัวเล็กๆ ชั้นประถมศึกษา “ด.ญ.กานต์ธิดา ผิวนวล” จากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์สมุทรสงคราม ตัดสินจากเด็กๆ ที่ส่งชื่อเข้าประกวดเกือบ 300 คน โดยเด็กหญิงกานต์ธิดา บรรยายว่า
“..ปลาทู ของขึ้นชื่อของชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะปลาทูของ แม่กลองไม่เหมือนใคร มีความอร่อย และมีประโยชน์ ให้คุณค่าทางโภชนาการมากมาย ทั้งยังนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง หลากหลาย ได้ทั้งกับข้าวที่แสนอร่อย กินได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ทุกเพศ ทุกวัย หรือจะเป็นข้าวเกรียบปลาทู ที่ใครกินแล้วแสนจะติดใจ ฉะนั้นการที่เราจะมอบของขวัญของฝากให้กับผู้ที่เรารัก เพื่อสื่อแทนในใจว่า เราอยากมอบของที่มีคุณค่า มีประโยชน์ให้กับคนที่เรารัก ก็เหมาะมากที่จะเป็นปลาทูแม่กลอง ของขึ้นชื่อของจังหวัดเรา นั่นเป็นที่มาของตอนที่ชื่อว่า “สื่อรักแทนใจ รักใครให้กินปลาทู”