“ป้าเหน่ง” ชื่อจริง “ปิยะรัตน์ เทศดนตรี” เธอเป็นสาวสวยสุดยอดแอคทีฟและกระตือรือร้น ไม่ว่าจะงานยุ่งสักแค่ไหน ป้าเหน่งก็ยังยิ้มระรื่นกระโดดโลดเต้นกับสิ่งที่รัก ที่ชอบ อยู่ได้ตลอดเวลา ดูเหมือนว่าเวลาของเธอมีมากกว่าใครๆ เกิน 24 ชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ งานอดิเรกของป้าเหน่งจึงมีตั้งแต่วาดรูป เย็บกระเป๋าผ้าสุดชิค ไปจนถึงเพ้นท์เซรามิค และอีกเยอะแยะจิปาถะ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำได้ตลอดเวลา
งานถนัดของป้าเหน่งอีกอย่างก็คือ “การกินและชิมอาหาร” ไม่ว่าที่ไหนมีของอร่อยป้าเหน่งเป็นต้องไปชิมถึงที่ วันที่พบเจอป้าเหน่ง เธอมาพร้อมกับหนังสือเมนูอาหารที่ชื่อว่า “กินกับณัฐ” ซึ่งไม่ทราบว่าจะหมายถึง “มากินข้าวกับณัฐ” หรือว่า “กินกับข้าวของณัฐ” จะความหมายอย่างไรก็แล้วแต่ เธอบอกว่าเล่มนี้มีสูตรอาหารเด็ดๆ รสอร่อย หลายสูตร สามารถทำกินเองก็ได้ ทำขายก็รวย ที่สำคัญอาหารสูตรเด็ดในเล่มนี้ทำให้ป้าเหน่งได้รู้จักกับ “ลุงนัท” จนเป็นเพื่อนรักและยังเป็นเพื่อนกินอีกด้วย
“กินกับณัฐ” หนังสือสูตรอาหารเล่มพอประมาณ พิมพ์สี่สีสวยงาม ข้างในมีเมนูอาหารหลากหลายที่เป็นสูตรเฉพาะของเชฟ “ลุงนัท” หรือ “ณัฐ ปัญจางคกุล” เป็นหนังสือที่ป้าเหน่งบอกว่าไม่ใช่ทำขึ้นมาแค่สนองความต้องการของตัวเองที่อยากทำหนังสือสักเล่ม แต่ตั้งใจบันทึกสูตรอาหารที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไม่ให้ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา ส่วน ลุงนัท หรือ ณัฐ เดิมทีไม่ใช่เชฟทำอาหาร แต่เริ่มชีวิตการทำงานในแวดวงแฟชั่น งานสายโปรดักชั่น และงานศิลปะ แต่ก็มักมีโอกาสเหมาะให้จับกระทะถือตะหลิวเข้าครัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาปาร์ตี้ในหมู่เพื่อนฝูง หรือวันพิเศษของครอบครัว
ณัฐ เติบโตและถูกหล่อหลอมมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ ตอนเด็กๆ ทำหน้าที่เป็นลูกมือของ “ก๋ง” เวลาทำอาหารเลี้ยงคนทั้งบ้าน และหากซนมากๆ ก็ถูกทำโทษด้วยการกักบริเวณให้อยู่ในห้องครัว ไม่ให้ออกไปไหน
จึงกลายเป็นว่าอุปกรณ์ในครัวทุกอย่างกลายเป็นของเล่นและของที่ณัฐคุ้นเคย นอกจากก๋งแล้ว ณัฐยังใกล้ชิดและคลุกคลีกับ “คุณย่า” ซึ่งเป็นอีกคนที่มีฝีมือในการทำอาหาร โดยเฉพาะขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ จนต้องเปิดร้านขายขนมจีนที่หน้าบ้านในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เรียกได้ว่าเรื่องของอาหารและการครัวฝังอยู่ในสายเลือดของณัฐจริงๆ ความรักในการทำอาหารของณัฐ นอกจาก มาจากสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาแล้ว อีกที่มาหนึ่งคือ ณัฐมีหน้าที่คอยช่วยพ่อและแม่ไปจ่ายตลาดอยู่เสมอ ดังนั้น ณัฐจึงเป็นกูรูในเรื่องของวัตถุดิบไปโดยปริยาย จะรู้ว่าอะไรดีไม่ดี สดไม่สด ใหม่หรือไม่ รวมทั้งการเลือกวัตถุดิบตั้งแต่ต้นจนจบในการปรุงอาหารแต่ละจาน
ณัฐ เล่าให้ป้าเหน่งฟัง ว่าความเป็นพ่อครัวเอกของณัฐสืบทอดมาจาก “ก๋ง” ซึ่งหอบเสื่อผืนหมอนใบข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ พูดภาษาไทยไม่เป็น พูดได้แต่ภาษาจีนเร็วปร๋อ ใครๆ ที่เมืองไทยเรียกก๋งอย่างสนิทคุ้นเคยว่า “เจ๊กเว้ง” แรกสุดเลยนั้น ก๋งมาอาศัยอยู่กับเพื่อนแถวเสาชิงช้า ในกรุงเทพมหานคร ทำงานรับจ้างหาเลี้ยงชีพทั่วไป จนวันหนึ่งมีโอกาสไปเที่ยวบ้านเพื่อนซึ่งเป็นร้านทำทองอยู่ในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เลยทำให้ได้พบกับสาวใต้คือ “คุณย่าเอิบ” ถึงขั้นลงหลักปักฐานสร้างโรงงานทำทองครองรักกันที่ชุมพรจนมีลูกถึง 11 คน
ไปถามคนที่อำเภอสวีได้ ไม่มีใครไม่รู้จักร้านทอง “เหยี่ยวจกฮง” กับชื่อ “เจ๊กเว้ง” อันที่จริงก๋งของณัฐมีชื่อไทยกับเขาด้วยเหมือนกัน ชื่อว่า “เชวง” ความรู้สึกของณัฐที่มีต่อก๋งเชวงบอกได้เลยว่าก๋งไม่เหมือนกับคนจีนทั่วๆ ไป แต่จะรู้สึกตัวเองและบอกกับใครๆ ว่า เป็นคนไทย ดังนั้น ก๋งจึงไม่ทำอะไรเหมือนคนจีนทำกัน เช่น ที่บ้านจะไม่มีการไหว้เจ้า ไม่มีงานฉลองตรุษจีน เป็นต้น
ต้องบอกว่าก๋งของณัฐไม่ได้มีชื่อแค่เรื่องทำทอง เรื่องของอาหารการกินก็ไม่เป็นสองรองใคร คุณย่าเอิบเองฝีมือการทำขนมจีนก็อยู่ระดับแถวหน้า ณัฐยังเล่าอีกว่าที่บ้านมีคนอยู่กันจำนวนมาก นอกจากลูกๆ ของก๋งถึง 11 คนแล้ว ยังมีบรรดาหลานๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วน ครัวบ้านนี้จึงต้องมีอาหารไว้เลี้ยงคนจำนวนมากอยู่เสมอ เมนูเด็ดที่ก๋งทำอยู่บ่อยๆ เป็น “ขาหมู” โดยณัฐมีหน้าที่ติดสอยห้อยตามก๋งไปเลือกขาหมูที่ตลาด ก๋งมักกำชับตลอดว่า “ต้องเป็นขาหน้านะ เพราะมันน้อย”
วิธีการของก๋งเมื่อได้ขาหมูมาแล้ว ก็จะเอาขาหมูมาสับ และใช้ไฟแก๊สที่ใช้ในการเผาทองนั่นแหละพ่นไฟเผาขาหมูที่หน้าบ้าน จากนั้นนำมาหมักด้วยน้ำส้มสายชูให้หนังหมูตึง เป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งน้ำส้มสายชูทำให้เมื่อต้มแล้วหนังหมูจะอร่อยมากขึ้น ระหว่างนี้ไปเก็บหน่อไม้หวานจากหลังบ้านมาต้มน้ำทิ้งสามรอบ แล้วโขลกกระเทียมพริกไทยลงไปผัดกับขาหมู ใส่ซีอิ๊วหวาน หน่อไม้ เติมน้ำแล้วต้มจนขาหมูนิ่ม ปรุงรสด้วยดอกเกลือกับน้ำตาลมะพร้าว เป็นอันใช้ได้ สูตรขาหมูหน่อไม้หวานเจ๊กเว้ง จะผิดไปจากนี้ไม่ได้เด็ดขาด
เมนูขาหมูอีกสูตรหนึ่งที่ก๋งเชวงชอบทำนักหนา ทำทีไรกลิ่นหอมฟุ้งไปสามบ้านแปดบ้าน คือ “ขาหมูอบหม้อดิน” กรรมวิธีอาจจะยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร คือเริ่มต้นต้องมีหม้อดิน ต้องแช่ถั่วเหลืองค้างคืนเพื่อบีบเปลือกถั่วออก ต้องมาฉีกเปลือกกระเทียมดองเพื่อเอาไปรองที่ก้นหม้อดิน แล้วเอาเนื้อกระเทียมไปคลุกกับขาหมูที่หมักน้ำส้มสายชูทิ้งไว้ ก่อนนำมาใส่ลงไปในหม้อดิน ปรุงรสด้วยซีอิ๊วหวาน ใส่ดอกไม้จีนและถั่วเหลือง ปิดฝาหม้อดิน ยกขึ้นตั้งไฟอ่อน แล้วใช้ผ้าชุบน้ำปิดไม่ให้ไอน้ำออก สมัยนั้นเป็นเตาถ่านต้องใช้เวลาต้มราว 6 ชั่วโมง ถ้าเริ่มทำตอนสองทุ่ม กลิ่นจะหอมตลบอบอวลไปทั้งคืน กว่าจะเสร็จก็ประมาณตี 4 เป็นที่รู้กันว่าเมื่อก๋งทำเมนูนี้คราใด ใครๆ ก็ห้ามไปแตะหม้อดินของคุณเชวง จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้กินได้
ทุกวันนี้แม้ก๋งจะไม่อยู่แล้วจากไปสวรรค์ แต่เมนูขาหมูของก๋งลูกๆ หลานๆ ก็ยังทำกินกันอยู่เรื่อยๆ โดยรายละเอียดของการปรุงยังเหมือนเดิมไม่มีลดหรือข้ามในแต่ละขั้นตอน เพราะติดนิสัยก๋งและย่า คือถ้าไม่ครบสูตรและไม่เป๊ะตามต้นตำรับ…ไม่ทำเลยจะดีกว่า