อาหารที่ไม่ควรกินบ่อยๆ เพราะไม่ดีต่อสุขภาพ

Food Story อาหาร

เชื่อว่าทุกคนถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ว่าการรับประทานอาหารนั้น ควรจะต้องรับประทานให้ครบ 5 หมู่ ประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพร่างกายอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการปฏิบัติตัวเช่นนี้จะเป็นเรื่องที่ทำได้กันทุกคน เพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม ดังนั้น ผลที่ตามมาคือร่างกายที่อ่อนแอ และมีแต่โรคภัยไข้เจ็บ ไม่แข็งแรงสมบูรณ์พอที่จะต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ อีกทั้งอาหารการกินในยุคปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปในทางที่ไม่ดีนัก อาหารการกินในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆ มากขึ้นจนน่ากลัว

ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินคำว่า “อาหารขยะ” หรือ Junk food หมายถึงอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพทางโภชนาการ หรือบางครั้งให้พลังงานสูงมากเกินไปจนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน แต่ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ แม้จะไม่เข้าข่ายเป็นอาหารขยะ แต่ในเรื่องของความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจริงแท้แน่นอน อาหารที่ว่านี้เป็นอาหารที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่เราต้องรู้ว่า “ไม่ควรรับประทานบ่อยๆ เพราะไม่ดีต่อสุขภาพ” อาหารที่ว่านี้ ได้แก่

1. ปาท่องโก๋ เพราะขบวนการทำปาท่องโก๋มีการใช้ “สารส้ม” เป็นส่วนประกอบ ในสารส้มยังมีส่วนประกอบของตะกั่วอยู่ ดังนั้น ถ้ารับประทานปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้าทุกวัน จะทำให้ไตทำงานหนักเพราะต้องขับสารตะกั่วออกจากร่างกาย ซึ่งจะทำให้รู้สึกคอแห้ง เจ็บคอ ร้อนในง่าย ยิ่งเมื่อสารตะกั่วตกค้างในร่างกายมากๆ จะเป็นพิษต่อเซลล์สมองและเซลล์ประสาท ทำให้ความจำเสื่อมเร็ว นอกจากนี้ ปาท่องโก๋มักจะทอดในน้ำมันที่ใช้ซ้ำ แฝงมาด้วยภัยร้ายพวกไขมันอิ่มตัว โดยเฉพาะไขมัน “ทรานส์” ซึ่งไขมันชนิดนี้จะทำลายไขมันชนิดดี หรือ เอชดีแอล ที่มีประโยชน์ในร่างกายและยังไปเพิ่มไขมันชนิดร้ายให้มากขึ้นด้วย ไขมันชนิดร้ายที่ว่านี้ มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคระบบภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ และโรคมะเร็ง

2. ไข่เยี่ยวม้า เพราะในการทำไข่เยี่ยวม้ามีส่วนประกอบของสารตะกั่วอยู่ด้วย เนื่องจากปัจจุบันมี

ไข่เยี่ยวม้า

พ่อค้าแม่ค้าบางรายแอบใช้สารตะกั่วออกไซด์ หรือซัลไฟด์ ลงในส่วนผสมที่ใช้พอกหรือแช่ไข่เยี่ยวม้า เพื่อช่วยให้ไข่กลายเป็นไข่เยี่ยวม้าได้เร็ว และเห็นผลมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไข่เยี่ยวม้าที่ผลิตมีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ หากรับประทานไข่เยี่ยวม้าที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่บ่อยๆ อาจทำให้มีอาการท้องผูก และส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก เนื่องจากสารพิษจากตะกั่วจะดูดซึมแคลเซียมในร่างกายให้ลดน้อยลง เกิดภาวะขาดแคลเซียม ทำให้กระดูกผุได้ หรืออาจเลยไปถึงกล้ามเนื้อกระดูกข้อมือ ข้อเท้า ที่อาจเกิดอาการอัมพาต นอกจากนี้ ยังมีผลต่อระบบประสาท ไต หรือสมองบวม ชัก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. เนื้อย่าง (ไฟ) เนื้อรมควัน ไม่ว่าเนื้อจะสดใหม่แค่ไหน การกินอาหารย่างไฟจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะอาหารปิ้งย่างหรืออาหารรมควันนั้น ควันไฟ เป็นตัวการสำคัญ หากรับประทานเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ 1.สารไนโตรซามีน (nitrosamines) ที่พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรทซึ่งเป็นสารกันบูด เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้ง มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร 2.สารไพน์โรไลย์เซต (Pyrolysates) พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์สูงมาก บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอัลฟลาทอกซิน ตั้งแต่ 6-100 เท่า 3.สารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) เป็นสารเริ่มต้นของสารกลายพันธุ์ และสารเริ่มต้นของสารก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม

สารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้ จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่างหรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอช ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควัน เกาะที่บริเวณผิวของอาหาร สารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง หากรับประทานเข้าไปเป็นประจำ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ มะเร็งตับ

เนื้อย่าง
ผักดอง

4. ผักดองหรือผักหมักเกลือเป็นเวลานาน เพราะอาหารเหล่านี้ มีการทำโดยผ่านกระบวนการทำความร้อนจากผัก ไม่ว่าจะดองเค็มหรือดองหวาน กาน่าฉ่าย ส่งผลให้มีการสูญเสียของสารอาหาร จึงทำให้มีสารอาหารต่ำ เและยังเป็นตัวทำให้ร่างกายต้องสะสมเกลือโซเดียมจำนวนมาก ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนัก และเกิดแอมโมเนียในไต อาจทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งในกระเพาะอาหาร หอบหืด นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ

5. ตับหมู เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูและมีความอร่อย ไม่ว่าตับหมูทอดกระเทียม ตับหวาน หรือผัดดอกกุยช่าย ตับหมูมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 2 และ บี 3 สามารถช่วยบำรุงสุขภาพผิวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถช่วยบำรุงสายตา กระตุ้นระบบกล้ามเนื้อร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง แต่ก็ต้องพึงระวังสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการกินตับหมูเป็นประจำ เพราะอาจส่งผลเสียให้กับร่างกายได้ เนื่องจากในตับหมูมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงเป็นอย่างมาก เช่น ตับหมู 1 กิโลกรัม จะมีปริมาณคอเลสเตอรอลมากกว่า 400 มิลลิกรัม หากบริโภคเป็นระยะเวลานานและมีปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย จะทำให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว และเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ อีกทั้งการทำงานของวงจรเส้นเลือดก็จะมีปัญหา เส้นเลือดสมองมีโอกาสเกิดการตีบตัน ส่งผลให้ร่างกายเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต และหากใครที่มักเกิดอาการปวดหัวข้างเดียวอยู่เป็นประจำ หรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรที่หลีกเลี่ยงการกินทั้งตับหมูและตับไก่ให้มากเท่าที่จะทำได้ เพราะธาตุเหล็กจะเข้าไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลันได้

นอกจากนี้ ตับหมูตามท้องตลาดบางแห่งยังมีสารที่ชื่อว่า เลนดอล เจือปนอยู่ โดยสารนี้เป็นสารเคมีที่ผู้เลี้ยงหมูนิยมใช้เพื่อลดปริมาณไขมันลง และทำให้เนื้อหมูมีสีอ่อนนุ่มน่ารับประทาน แต่หากผู้บริโภครับประทานสารตัวนี้เข้าไป สารเคมีดังกล่าวจะเข้าไปขยายหลอดลมได้ และหากเกิดการตกค้างสะสมนานกว่า 6 ชั่วโมง อาจส่งผลให้ร่างกายต่อต้าน กล้ามเนื้อสั่นกระตุก หัวใจเต้นเร็ว และสามารถทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทได้

ผักโขม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

6. ผักโขมและปวยเล้ง เป็นผักที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ทำให้ร่างกายแข็งแรงก็จริง แต่ถ้ากินทุกวันก็มีอันตราย เพราะในผักโขมยมีปริมาณของสารออกซาเลท หรือ กรดออกซาลิค อาจเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ได้ เนื่องจากกรดออกซาลิคทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซับธาตุเหล็กที่มีอยู่มากในตัวมันได้ ดังนั้น ถ้าจะกินผักโขมก็ต้องรู้จักวิธีกินให้ถูกต้อง ห้ามกินผักโขมดิบๆ ผักโขมต้องทำให้สุก เพื่อฆ่าสารตัวนี้ให้บรรเทาเบาบางลงก่อน และถ้าบีบมะนาวลงบนผักโขมที่สุกสักหน่อย หรือกินร่วมกับผักที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายรับเอาธาตุเหล็กได้ดีกว่า ดังนั้น ควรกินผักโขมในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์

7. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บอกเลยว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกชนิดมีสารกันบูดและมีสารปรุงแต่งรสที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การกินบ่อยๆจะทำให้เกิดการขาดสารอาหาร และเกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย เครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอุดมไปด้วยเกลือโซเดียม และเครื่องปรุงรสอื่นๆ ที่อบแห้งมาในลักษณะผง รวมไปถึงการปรุงรสของเส้นบะหมี่ที่มีรสเค็มและมีโซเดียมอีกเช่นกัน ดังนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารต่อ 1 หน่วย แค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็มีโซเดียมราวๆ 1,600 มิลลิกรัมแล้ว ดังนั้น หากรับประทานอาหารประจำวันที่มีโซเดียมอยู่แล้ว และยังรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้าไปด้วย มีความเป็นไปได้สูงว่ากำลังบริโภคโซเดียมในวันนั้นมากเกินกว่าปกติ

8. น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน สกัดจากเมล็ดของดอกทานตะวัน เป็นน้ำมันพืชชนิดมีไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะกรดลิโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดที่จำเป็นในกลุ่มโอเมกา-6 ปริมาณสูง เป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของวิตามินอีหรือโทโคฟีรอล โดยเฉพาะแอลฟ่า-โทโคฟีรอลที่ดี น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เนยเทียม, น้ำมันสลัด เป็นต้น การบริโภคน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรเกินไม่เกินร้อยละ 25-35 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณแคลอรี่ในชีวิตประจำวัน เพราะหากกินในปริมาณมากเกิน จะทำให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายผิดปกติ ไขมันพวกนี้จะขับออกมาได้ยาก ระบบเผาผลาญในร่างกายก็จะผิดปกติตามมา ทำให้ไขมันเข้าไปสะสมในตับเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ อาหารทีมีน้ำมันดอกทานตะวันสูง อาจจะไปเพิ่มอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และเป็นโรคเบาหวาน

9. เต้าหู้หมัก เต้าหู้ยี้ เป็นเพราะทั้งเต้าหู้หมักและเต้าหู้ยี้จำนวนมากในท้องตลาดยังไม่ผ่านมาตรฐานการผลิต และทั้งเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด ปลอดภัย การเก็บสินค้าไว้เป็นเวลานานอาจมีเชื้อโรคได้ หรือมีสารย่อยโปรตีนไฮโดรเจนซัลไฟน์ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ และ บาซิลัสซีเรียส ที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ พวกนี้มีโปรตีนมากก็จริง แต่กระบวนการหมักเต้าหู้มีโอกาสจะปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย