6 “อาหาร” ลดอาการ “บวมน้ำ”

Food Story อาหาร

อาการบวมน้ำ (Edema) คือภาวะที่มีของเหลวสะสมอยู่ในเซลล์ร่างกายมากเกินไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การนั่งหรือยืนนานๆ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน การตั้งครรภ์ การมีประจำเดือน ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง (เช่น โรคปอด โรคไต)

อาการบวมน้ำนี้สังเกตได้ด้วยการใช้นิ้วกดบริเวณที่บวมค้างไว้ 10-15 วินาที หากบุ๋มเป็นรอยนิ้วแปลว่าบวมน้ำ คนที่มีภาวะบวมน้ำมักตัวบวม อึดอัด ไม่สบายตัว ทำกิจกรรมอะไรก็ไม่สะดวก แถมยังทำให้รู้สึกว่าน้ำหนักขึ้นจนเครียดได้ด้วย วันนี้เราเลยมี อาหารที่ช่วยลดอาการบวมน้ำ มาแนะนำ รับรองกินตามนี้ อาการตัวบวมน้ำของคุณจะดีขึ้นแน่นอน

อาหารที่ช่วยลดอาการบวมน้ำ

หน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่งหรือแอสพารากัส (Asparagus) คืออาหารที่ช่วยลดอาการบวมน้ำซึ่งคุณไม่ควรพลาด โดยศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland Medical Center) ประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า หน่อไม้ฝรั่งมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ กินแล้วช่วยขจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายได้ แถมหน่อไม้ฝรั่งยังมีโซเดียม (Sodium) ต่ำด้วย จึงยิ่งเหมาะกับคนที่มีปัญหาตัวบวมน้ำ เพราะโซเดียมถือเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำนี้

แดนดิไลออน

แดนดิไลออน (Dandelion) หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Taraxacum officinale เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะมาช้านาน กินแล้วจะช่วยให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น จึงทำให้มีของเหลวสะสมอยู่ในร่างกายน้อยลง

โดยผลงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่าง 17 คนกินสารสกัดจากใบแดนดิไลออนปริมาณ 3 โดส จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างสังเกตปริมาณของเหลวที่บริโภคเข้าไปและที่ปัสสาวะออกมา เป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่า ร่างกายของกลุ่มตัวอย่างผลิตปัสสาวะได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แนะนำว่าใครที่สนใจกินแดนดิไลออนหรือสารสกัดจากแดนดิไลออนเพื่อลดอาการบวมน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หรือเภสัชกรให้ดีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้

น้ำเปล่า

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ตัวบวมน้ำอยู่แล้ว หากดื่มน้ำเข้าไปอีก ก็จะยิ่งทำให้บวมน้ำเข้าไปใหญ่ แต่ความจริงแล้ว การดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือดื่มน้ำให้มากขึ้น จะช่วยขับโซเดียมออกจากร่างกาย เมื่อโซเดียมส่วนเกินลดลง อาการบวมน้ำก็จะดีขึ้น โดยปริมาณน้ำที่แนะนำต่อวันคือ ประมาณวันละ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายหรือกิจกรรมที่คุณทำด้วย หากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือออกกำลังกาย อาจต้องดื่มน้ำให้เพิ่มขึ้นอีก

คาร์โบไฮเดรตหรือแป้งไม่ขัดสี

การกินคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งขัดสี เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว น้ำตาลทรายขาว จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลิน (Insulin) พุ่งสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ร่างกายดูดซึมโซเดียมในไตซ้ำอีกรอบ จนระดับโซเดียมในร่างกายสูงผิดปกติ ผลก็คือ มีของเหลวสะสมอยู่ในร่างกายมากขึ้น

หากอยากลดและป้องกันอาการบวมน้ำ คุณจึงควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งไม่ขัดสีแทน เช่น ขนมปังโฮลวีต เส้นพาสต้าโฮลวีต ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลทรายแดง เป็นต้น

อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า วิตามินบี 6 อาจช่วยลดการสะสมของของเหลวในร่างกายได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือพีเอ็มเอส (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) โดยคุณสามารถเพิ่มวิตามินบี 6 ให้กับร่างกายเพื่อต่อสู้กับอาการบวมน้ำได้ ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินบี 6 สูง เช่น กล้วย อะโวคาโด เนื้อวัว วอลนัต ปลาแซลมอน ปลาทูน่า แครอท ผักปวยเล้ง มันฝรั่ง

อาหารโพแทสเซียมสูง

โพแทสเซียม (Potassium) ช่วยลดปริมาณโซเดียมในร่างกาย และช่วยเพิ่มการผลิตปัสสาวะ เมื่อโซเดียมลดลง ของเหลวที่คั่งอยู่ในร่างกายก็จะน้อยตามไปด้วย แถมพอเราขับถ่ายปัสสาวะได้มากขึ้น ของเหลวส่วนเกินในร่างกายก็จะน้อยลงไปอีก โดยคุณสามารถหาโพแทสเซียมได้จากอาหารโพแทสเซียมสูง เช่น มันเทศ แตงโม น้ำมะพร้าว ถั่วขาว ถั่วดำ ทับทิม

วิธีอื่นๆ ที่ช่วยลดอาการบวมน้ำ

นอกจากการกินอาหารที่ช่วยลดอาการบวมน้ำที่เราแนะนำไปข้างต้นแล้ว วิธีเหล่านี้ก็สามารถช่วยลดอาการบวมน้ำของคุณได้เช่นกัน

ขยับร่างกายให้มากขึ้น

การขยับร่างกายให้มากขึ้น หรือออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถช่วยลดการสะสมของของเหลวในร่างกายได้ ฉะนั้นแทนที่จะนั่งทำงานทั้งวัน จนของเหลวส่วนเกินคั่งในอวัยวะท่อนล่าง คุณก็ควรลุกจากที่บ่อยๆ จะเดินเล่น หรือบริหารร่างกายเบาๆ ก็ได้ นอกจากจะช่วยลดอาการบวมน้ำแล้ว ยังช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ด้วย

รักษาสภาวะสุขภาพที่ทำให้ตัวบวมน้ำ

หากอาการบวมน้ำของคุณเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคปอด ภาวะหัวใจล้มเหลว คุณก็ควรรักษาหรือควบคุมภาวะเหล่านั้นให้ได้ อย่างคนเป็นโรคปอดก็ควรงดสูบบุหรี่ หรือหากคนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวก็ควรลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควบคุมระดับความดันโลหิตให้ดี เมื่อคุณทำได้ การไหลเวียนเลือดก็จะดีขึ้น ส่งผลให้ปัญหาบวมน้ำลดลง

ที่มา : Sanook.com