หอยนางรมมีชื่อเรียกสามัญคือ Oyster ในบ้านเรามีเลี้ยงกันมากในแถบภาคตะวันออกและภาคใต้ อย่างเช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ตราด ซึ่งขนาดและรสชาติก็จะต่างกันออกไปเนื่องจากความแตกต่างของระดับความเค็มของน้ำทะเล อุณหภูมิน้ำทะเล และคุณภาพของน้ำ
เมนูอาหารจากหอยนางรมเป็นที่นิยมกันทั่วโลก จัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หอยนางรมที่ขึ้นชื่อที่สุดในโลกคือ Tasmanian Native Flat Oyster ของเกาะทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร อีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือ New Zealand Pacific Oyster ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่เลี้ยงในเขตทะเลและสิ่งแวดล้อมที่มีความสะอาดเป็นธรรมชาติ ทำให้หอยนางรมมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื้อหอยมีความอวบอูม มีรสเค็มอ่อนๆ แต่พอดี นอกจากนั้นยังมี อีเกิล ร็อค (Eagle Rock) เป็นหอยนางรมที่เลี้ยงทางฝั่งวอชิงตันตอนใต้ โดยเขาจะเลี้ยงจากถุงตาข่าย จากนั้น 8 เดือนก็จะถูกนำมาปล่อยไว้ตามชายหาดเพื่อให้เจริญเติบโตเต็มที่ ทำให้รสอร่อย ขนาดใหญ่อวบอิ่ม
จากการวิจัยของสถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติของแคนาดา ระบุว่า หอยนางรมอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร คือเป็นแหล่งของวิตามิน A B1 (ไทอามิน) B2 (ไรโบฟลาวิน) B3 (ไนอาซิน) C (กรมแอสคอร์บิค) และ D (แคลซิฟีรอล) การบริโภคหอยนางรมตัวที่มีขนาดกลาง 4-5 ตัว (ต่อวัน) ช่วยให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุประเภท แร่เหล็ก ทองแดง ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี แมงกานีส และฟอสฟอรัส แต่ควรรับประทานแบบสุกเพื่อป้องกันแบคทีเรียจากอาหารดิบ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ สำหรับผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทานหอยนางรม คือ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต มะเร็ง เบาหวาน โรคเอดส์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และก่อนที่จะนำหอยนางรมมาปรุงเป็นอาหารควรล้างทำความสะอาดอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อล้างสิ่งสกปรกและเกลือที่ติดอยู่ออก และควรรับประทานให้หมดในครั้งเดียว เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในตู้เย็นให้สม่ำเสมอได้ หรือถ้าไม่หมดจริงๆ ควรเก็บไว้ในช่องเย็นด้านบน (ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง) เพื่อให้หอยนางรมเย็นจัดอยู่เสมอ
ที่มา : แม่บ้าน