บรรดาผักผลไม้หลายชนิด บางอย่างกินแบบดิบๆ ได้ประโยชน์ บางอย่างกินสุกได้ประโยชน์มากกว่า เช่นเดียวกับมะเขือเทศที่หลายคนชอบกินแบบดิบมากกว่า ไม่ว่าจะไปใส่ในสลัดผัก ส้มตำ หรือหั่นสวยๆ เคียงกับข้าวผัด
แต่รู้หรือไม่ว่า มะเขือเทศจะได้ประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อเรารับประทานแบบปรุงสุกแล้วเท่านั้น เช่น มะเขือเทศที่ใส่อยู่ในซุปต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ได้สาร “ไลโคปีน” อย่างครบถ้วน
“ไลโคปีน” คืออะไร?
ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารสีแดงที่อยู่ในมะเขือเทศ จัดเป็นสารประกอบกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ชนิดหนึ่งใน 600 ชนิด ซึ่งมะเขือเทศสด 100 กรัม จะพบไลโคปีนในปริมาณตั้งแต่ 0.9 –9.30 กรัม
ไลโคปีนได้ชื่อว่าเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการบำรุงผิวพรรณ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูง และลดระดับไขมันในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด รวมถึงมีรายงานด้วยว่า ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ได้
ทำไมต้องกินมะเขือเทศที่ปรุงจนสุก?
เหตุผลที่ควรนำมะเขือเทศมาผ่านความร้อนจนสุกเสียก่อนนั้น เป็นเพราะมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะทำให้การยึดจับของไลโคปีนกับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศอ่อนตัวลง ทำให้ไลโคปีนถูกร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่า
นอกจากนี้ ความร้อนและกระบวนการต่างๆ ในการผลิตผลิตภัณฑ์มะเขือเทศยังทำให้ไลโคปีนเปลี่ยนรูปแบบจากไลโคปีนชนิด “ออลทรานส์” (all-trans-isomers) เป็นชนิด “ซิส”(cis -isomers) ซึ่งเป็นชนิดที่ละลายได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ปกติปริมาณของไลโคปีนของมะเขือเทศสด และผลไม้อื่นนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อนำมะเขือเทศสดไปผ่านกระบวนการผลิตให้อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์มะเขือเทศชนิดต่าง ๆ พบว่าปริมาณไลโคปีนสูงขึ้นมาก เนื่องจากมีการผ่านกระบวนการทำให้เข้มข้นขึ้น
ด้วยเหตุนี้ อาหารอิตาเลียนทั้งหลาย อาทิ พิซซ่า สปาเก็ตตี้ ที่มีการแต่งรสด้วยซอส หรือผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น (Tomato paste) ที่ผลิตจากมะเขือเทศ จึงเป็นแหล่งให้ไลโคปีนที่ดีเช่นกัน
ประโยชน์ของไลโคปีน
ช่วยปกป้องผิว จากการศึกษาสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระประเภทแคโรทีนอยด์ที่รวมถึงไลโคปีนด้วย พบว่าแคโรทีนอยด์อาจช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดผื่นแดง แสบ และผิวอักเสบได้
ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทั้งสองโรคต่างเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด โรคมะเร็งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ปัจจัยรวมกัน รวมถึงการที่เซลล์เสื่อมได้รับความเสียหายหรืออ่อนแอลง โดยในระยะยาวเซลล์เหล่านี้อาจถูกปัจจัยบางอย่างกระตุ้นและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งสารอาหารประเภทแคโรทีนอยด์ที่มีไลโคปีนรวมอยู่ด้วยช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้ อาทิ มะเร็งตับอ่อน ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก คอหอย ช่องปาก และเต้านม
ที่มา : Sanook