ผลไม้ประจำชาติของอินเดีย คือ “มะม่วง” จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย มะม่วงได้ถูกแพร่ให้ปลูกกระจายไปทั่วภูมิภาคเขตร้อน รวมถึงประเทศไทยที่ถือว่ามีการปลูกมะม่วงส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก สำหรับมะม่วงมีหลากหลายสายพันธุ์ สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและสุก พันธุ์ที่นิยมรับประทานผลดิบก็มีทั้งมะม่วงมัน อย่างเช่น พันธุ์เขียวเสวยหรือฟ้าลั่น และมะม่วงเปรี้ยวที่มักรับประทานคู่กับน้ำปลาหวานหรือจิ้มพริกเกลือ เช่น พันธุ์แรดหรือแก้ว ส่วนพันธุ์ที่นิยมรับประทานผลสุก ก็เช่นพันธุ์น้ำดอกไม้หรืออกร่อง
การรับประทานมะม่วงก็ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีวิตามิน C สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี มะม่วงมีวิตามิน A วิตามิน C ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส ช่วยทำให้ผ่อนคลาย และหลับสบายยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติปรับสมดุลภายใน ถ้ารับประทานผลดิบจะให้ฤทธิ์เย็น ในขณะที่ผลสุกนั้นให้ฤทธิ์ร้อน
มะม่วงก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับผลไม้ที่มีวิตามิน E ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับการติดเชื้อ ส่วนคาร์โบไฮเดรตในมะม่วงดิบจะอยู่ในรูปของแป้ง เมื่อมะม่วงเริ่มสุกแป้งเหล้านี้จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างกลูโคส ฟรักโทส และซูโครส ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้เร็ว มีผลให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จึงควรระวังเรื่องปริมาณในการบริโภคมะม่วงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ส่วนโพลีฟีนอลในมะม่วงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดอาการอักเสบและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งและโรคหัวใจ จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารแมนจิเฟอริน (Mangiferin) ที่สกัดได้จากใบและเปลือกต้นของมะม่วงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อไวรัส ซึ่งตรงกับสรรพคุณของยาไทยที่ใช้กันมาแต่โบราณ ที่นำใบสดมาต้มน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดแน่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือใบสดตำละเอียดพอกแผลให้สมานเร็วขึ้น ส่วนเปลือกต้นนำมาต้มน้ำดื่มแก้ไข้ตัวร้อน หรือฝนน้ำปูนใสทารักษาแผลมีหนอง แต่บางคนเมื่อสัมผัสยางในใบหรือเปลือกมะม่วงที่มีสารนี้อยู่ ผิวหนังอาจระคายเคืองหรือบวมได้
ที่มา : แม่บ้าน